net-zero

จาก COP 28 สู่ COP 29 เป้าหมายทางการเงินใหม่ รับมือโลกร้อน

    การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อปลายปี ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา ถือเป็นการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกเป็นครั้งแรก

หลังจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี ค.ศ.2015 ได้สร้างกลไกให้แต่ละภาคีกำหนดทิศทางการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกว่า เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ซึ่งเปรียบเสมือนการให้คำมั่นสัญญา (Pledge) ต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) โดยมีเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100

การประชุม COP28 ได้ข้อสรุปว่า โลกจะต้องเร่งรัดการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทดแทน และเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานทดแทนเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 เรื่องของการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุนชดเชยการสูญเสียและความเสียหาย ในปี 2567 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบาง รวมถึงการวางกรอบแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในการประชุม COP 29 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้มีการขับเคลื่อนต่อจาก COP 28 ที่จะหยิบยกประเด็นเจรจาที่สำคัญ ในการกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ภายหลังปี ค.ศ. 2025 ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีสประมาณ 1.1-1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก COP 28 สู่ COP 29 เป้าหมายทางการเงินใหม่ รับมือโลกร้อน

โดยจะมีการหารือรายละเอียดการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการสูญเสียและความเสียหาย ครอบคลุมทั้ง Rapid และ Slow-onset ที่ส่งผลกระทบในทุกมิติ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบางที่ไม่สามารถรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกรวนได้ โดยในช่วง 4 ปีแรก ธนาคารโลกจะเป็นองค์กรที่บริหารจัดการกองทุนนี้ ก่อนที่กองทุนฯ จะมีสถานะเป็นกองทุนอิสระภายใต้ UNFCCC ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนจะอยู่ในรูปแบบทั้งเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Concessional loan/soft loan)

อีกทั้ง การหารือกำหนดตัวชี้วัดของเป้าหมายการปรับตัวฯ ระดับโลก และกระจายสู่ระดับภูมิภาคและระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการปรับตัวในสาขาต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรมและอาหาร สุขภาพ การตั้งถิ่นฐาน ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม จากการประชุม COP 28 ที่มีมติเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ จัดทำแผนการปรับตัวระดับชาติ (National Adaptation Plan) ภายในปี 2568 และนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนวางกลไกติดตามผลการดำเนินงาน ภายในปี 2573 และได้ระบุความสำคัญในการขยายขนาดเงินทุนเพื่อการปรับตัวเพิ่มเติมเป็น 2 เท่าของขนาดปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้ระบุข้อผูกมัดของการสมทบเงินช่วยเหลือ

ตลอดจนการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก ไปสู่การยกระดับเป้าหมาย NDC 2035 จากเดิมที่กำหนดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 43% ภายในปี 2030 และ 60% ในปี 2035 เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซฯ ในปี 2019 รวมทั้งตั้งเป้าเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 โดยแต่ละประเทศจะต้องส่งแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย NDCs ให้ UNFCCC ก่อนที่จะมีการประชุม COP 30 ในปี 2025

ดังนั้น ในการประชุม COP 29 ครั้งนี้ จึงถือว่ามีความสำคัญ หรือยกระดับในความร่วมมือของทุกประเทศในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทั้งในรูปแบบเงินช่วยเหลือ และการปรับแผน แนวทาง รวมถึงเป้าหมาย NDC ของแต่ละประเทศในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้