net-zero

การเดินทาง Net Zero ของไทย จากความตกลงปารีส สู่ COP29

    จากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เกิดขึ้นในการประชุมการรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) เมื่อปี 2558 นานาประเทศต่างร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผ่านการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) โดยมีเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100

การดำเนินงานของประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ภายหลังที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีภายใต้ความตกลงปารีส ได้จัดทำและส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า (LT-LEDS) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มี 2 ระยะ ได้แก่

1.การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ที่ 30-40 % จากกรณีปกติ ดำเนินการใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน สาขาคมนาคมขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) สาขาของเสีย และสาขาเกษตร

2.ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า (LT-LEDS) มีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดย LT-LEDS จะเป็นกรอบในการจัดทำเป้าหมาย NDC ฉบับที่ 2 (The 3rd Generation NDC) ซึ่งจะต้องจัดส่งต่อ UNFCCC ในปี ค.ศ.2025 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี ค.ศ. 2031 - 2035

ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30 อันดับแรกของโลก

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก สูงที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหภาพยุโรป และรัสเซีย ส่วนไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก คิดเป็น 0.76% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก

โดยในปี ค.ศ. 2019 ไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 373 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) ซึ่งภาคพลังงานและขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 1 ประมาณ 260 MtCO2eq คิดเป็น 70% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รองลงมาเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) และภาคของเสีย ขณะที่ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 92 MtCO2eq

เมื่อสิ้นสุดแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) ในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 56.54 MtCO2eq คิดเป็น 15.4% ซึ่งบรรลุเป้าหมาย NAMA ที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลกที่จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7-20% จากกรณีปกติ (Business as Usual หรือ BAU)

การเดินทาง Net Zero ของไทย จากความตกลงปารีส สู่ COP29

สำหรับแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยต่อไป ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021-2030) ซึ่งได้นำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอน ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในระดับสาขา ที่จะลดการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์ที่ 222 MtCO2eq หรือ 40% จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 แบ่งเป็นการดำเนินงานภายในประเทศ 33.3% และต้องการได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ 6.7% ซึ่งแผนดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการพัฒนา 5 แนวทาง 17 แผนงาน 130 มาตรการ ซึ่งมีมาตรการหลักสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา อาทิ

สาขาพลังงาน ได้แก่ การอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาพลังงานทดแทน และการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ในโครงการนำร่องแหล่งอาทิตย์

สาขาคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเพิ่มประสิทธิภาพยานยนต์ การพัฒนาระบบขนส่งในเมืองและโลจิสติกส์ระหว่างเมือง การส่งเสริมพลังงานทางเลือกในอนาคตสำหรับภาคขนส่ง (Hydrogen, Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF ในอากาศยาน) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนด้านการคมนาคมขนส่ง สาขา IPPU ได้แก่ การทดแทนปูนเม็ด และการทดแทน/ปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น

สาขาของเสีย ได้แก่ การจัดการขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีต่างๆ และการจัดการ นํ้าเสียชุมชน การจัดการนํ้าเสียอุตสาหกรรม และสาขาเกษตร ได้แก่ การจัดการของเสียภาคปศุสัตว์ การลดการใช้ปุ๋ยเคมี และการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

นอกจากนี้ การเร่งบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... เพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียดกลไกสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ อาทิ การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon pricing) หรือกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon market) มาตรการจูงใจ เป็นต้น

อีกทั้ง การส่งเสริมการปลูกป่า ให้บรรลุเป้าหมายการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ 55% ภายในปี พ.ศ. 2580 และการพิจารณาปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการดำเนินงานให้โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้สามารถใช้กับ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) และมาตรฐานสากลอื่นได้

ขณะที่การประชุม COP 29 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน หนึ่งในประเด็นเจรจาที่สำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance หรือ NCQG) ภายหลังปี ค.ศ. 2025 ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทางการเงิน แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส ซึ่งกรมฯอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบท่าทีเจรจา ที่จะมีส่วนร่วมผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้ว ใส่เงินเข้ามาในกองทุนตามเป้าหมาย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,030 วันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2567