net-zero

เตือนก่อนจะสาย “ซากแบตเตอรี่รถ EV” ในไทย จะเพิ่มเป็นขยะ 7.8 ล้านตัน ในปี 2583

    สศช. เขียนรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567 ถึงปัญหา “ซากแบตเตอรี่รถ EV จัดการอย่างไร ?” ระบุซากแบตฯลิเทียมเสื่อมสภาพในไทยจะเพิ่มเป็น 7.8 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2583 พร้อมกับยกโมเดลและชี้ช่อง 4 วิธีจัดการปัญหาในระยะยาว 

“ซากแบตเตอรี่รถ EV จัดการอย่างไร ?” เป็นหนึ่งในหัวข้อใหญ่ที่ปรากฏใน "รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567" ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงเปิดเผยรายงานเมื่อ 25 พ.ย. 67 

รายงานฉบับดังกล่าวของสภาพัฒน์ ชี้ว่า โลกเข้าสู่ยุคของยานยนต์สมัยใหม่ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยประเทศไทยอยู่ระหว่างการเร่ง ผลักดันที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและใช้งานรถ EV ของภูมิภาค 

ส่งผลให้ในระยะถัดไป ไทยจะมี “ซากแบตเตอรี่จาก รถ EV” ที่เป็นมลพิษเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งการไม่เตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมและอันตรายจากการจัดการที่ผิดวิธี

รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทย ตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยมีนโยบายทั้งด้านการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 

และการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ ไฟฟ้าแทนรถยนต์เครื่องสันดาปควบคู่ไปด้วย สะท้อนผ่านกำลังการผลิตรวมที่มากกว่า 4 แสนคันต่อปี และยอดการจดทะเบียนรถไฟฟ้าในประเทศ ในปี 2566 ที่มีจำนวน 2 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 มากถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบสมบูรณ์ มีสัดส่วนการจดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 16 เท่าตัว 

สอดคล้องกับทิศทางตลาดรถยนต์ ของโลกที่คาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์ของโลกภายในปี 2568 คือ รถยนต์ไฟฟ้า และ 3 ใน 4 ของรถยนต์ที่ขายทั่วโลกในปี 2583 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า BEV 

ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ในอีกด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาขยะอันตรายที่มาจากรถยนต์ไฟฟ้า ที่เสื่อมสภาพ โดยเฉพาะชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลิเทียมไอออน ที่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยเพียง 8 - 10 ปี อีกทั้งราคาแบตเตอรี่ดังกล่าวยังมีแนวโน้มถูกลงในอนาคต

โดยในปี 2563 มีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเสื่อมสภาพประมาณ 1.0 แสนตัน และอาจเพิ่มขึ้น เป็น 7.8 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2583 ซึ่งการจัดการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อมลพิษ ทางสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพ 

โดยงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ระบุว่า ขยะแบตเตอรี่เสื่อมสภาพที่ถูกทิ้งหรือฝังกลบจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน อาทิ มลพิษทางน้ำและดินจากสารโลหะหนัก รวมทั้งสารเคมีในแบตเตอรี่ เช่น ลิเทียมเฮกซะฟลูออโรฟอสเฟต (LiPF6) กรดไฮโดรฟลูออริก (HF) ที่เมื่อสัมผัสกับน้ำจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น 

ขณะเดียวกันการกำจัด แบตเตอรี่ EV ที่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดความร้อนและระเบิด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดการแบตเตอรี่ EV ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ หมุนเวียน (Circular Economy) 3 ด้าน ได้แก่ การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) การปรับเปลี่ยน วัตถุประสงค์การใช้งาน (Repurposed) และ การรีไซเคิล (Recycle) โดยมีการดำเนินการ ในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ 

1. การกำหนดมาตรฐานการจัดการ แบตเตอรี่ โดยประเทศที่เป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ รถ EV ส่วนใหญ่มีการออกระเบียบ/นโยบาย ในการควบคุมการจัดการแบตเตอรี่ให้ครบวงจร อาทิ 

  • สหภาพยุโรป (EU) มีการออกระเบียบว่าด้วยแบตเตอรี่ (Batteries Regulation) ที่ครอบคลุมวงจรชีวิต ของแบตเตอรี่ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การใช้ และการรีไซเคิล รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายขั้นต้ำในการรีไซเคิลแบตเตอรี่และยังมีการออกมาตรการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าแบตเตอรี่รถ EV ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการจัดการและ รีไซเคิลแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งจากผลการบังคับใช้ ทำให้ในปี 2564 การรีไซเคิลและการฟื้นฟูหรือ การกู้คืนอยู่ที่ร้อยละ 93.6 ขณะที่การนำกลับมาใช้ซ้ำอยู่ที่ร้อยละ 88.1 
  • ขณะที่ประเทศจีนมีการข้อบังคับ/กฎหมาย อาทิ การกำหนดผู้รับผิดชอบซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจน และการกำหนดมาตรฐานการใช้ซ้ำอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้จีน เป็นประเทศที่มีขนาดอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในโลก 

2. การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV ยังมีผลกำไรต่ำและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ส่งผลให้หลายประเทศ เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อหาวิธีลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการซากแบตเตอรี่ อาทิ 

  • ประเทศญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านเยน (ประมาณ 22 ล้านบาท) ในช่วงปี 2563 – 2564 เพื่อพัฒนา เทคโนโลยีรีไซเคิลที่สามารถนำส่วนประกอบและวัตถุดิบกลับมาใช้ได้ในอัตราที่สูงขึ้น 
  • ขณะที่ประเทศจีน มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ โดยในปี 2565 ได้จัดสรรงบประมาณ 4,900 ล้านยูโร (ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท) เพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนโครงการวิจัยด้านการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าในระหว่าง ปี 2564 – 2568 ด้วยงบประมาณ 659 ล้านหยวน (3.1 พันล้านบาท) 
  • ด้านสหภาพยุโรปได้สนับสนุนภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการซากแบตเตอรี่ ส่งผลให้มีความก้าวหน้าในการใช้ซาก แบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยในปี 2567 มีผู้ประกอบการเข้ามาดำเนินธุรกิจ Second-life batteries มากถึง 76 ราย

3. ระบบการติดตาม หลายประเทศได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบการติดตามรูปแบบต่าง ๆ อาทิ 

  • ประเทศจีนมีการบังคับใช้นโยบายการติดตามข้อมูลอายุการใช้งานแบตเตอรี่ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้บริษัทผู้ผลิต บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถ EV ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการรีไซเคิล โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ผู้ผลิตติดตั้งระบบ ติดตามที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตและประวัติการใช้งานของแบตเตอรี่แต่ละก้อน 
  • ขณะที่สหภาพยุโรป มีการออกกฎระเบียบ “EU Battery Recording Directive” ที่เป็นแนวทางเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลแบตเตอรี่ เพื่อให้ผู้ผลิตบันทึกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแบตเตอรี่ เช่น ชนิดของวัสดุแหล่งที่มา ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ซ้ำหรือการรีไซเคิล โดยผู้ผลิตต้องให้ข้อมูลนี้ต่อหน่วยงานภาครัฐและบริษัทรีไซเคิลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระยะถัดไปจะมี การพัฒนาระบบการติดตามและจัดการแบตเตอรี่ตลอดวงจรชีวิตที่เรียกว่า พาสปอร์ตแบตเตอรี่ (Battery passport) เพื่อช่วยในการรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน supply chain 

สำหรับประเทศไทย การกำจัดซากแบตเตอรี่ยังมีปัญหา เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายและข้อบังคับ การจัดการแบตเตอรี่จากรถ EV ที่เฉพาะเจาะจง โดยมีเพียงพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า พ.ศ. …. 55 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการจัดทำ และแม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีผลโดยอ้อม อาทิ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม 
กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุขเป็นแนวทางในการจัดการ แต่ยังไม่เพียงพอในการจัดการแบตเตอรี่อย่างครบวงจรและเป็นระบบ 

สอดคล้องกับการศึกษาของ สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Association: TESTA) ที่พบว่า ปัญหาหลักในการจัดการซากแบตเตอรี่รถ EV ของประเทศไทย คือ การขาดแนวทาง ในการจัดการซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจนส่งผลให้การจัดการซากแบตเตอรี่ยังถูกจัดการรวมในประเภทขยะอันตรายทั่วไป 
ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2566 พบว่า กว่า 1 ใน 4 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 
นอกจากนี้ หากพิจารณาตามสถานที่กำจัดขยะ ยังพบอีกว่า มากกว่าร้อยละ 90 เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย แบบไม่ถูกต้องอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ไทยมีการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการจัดการซากแบตเตอรี่ บ้างแล้ว ส่งผลให้สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานแล้วให้สามารถ นำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงาน อุตสาหกรรมได้ ซึ่งคาดว่าแบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 8 ปี หรือใกล้เคียงกับอายุการใช้ แบตเตอรี่ใหม่ในรถยนต์ไฟฟ้าเดิม 

อีกทั้ง ยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการรีไซเคิล โดยสามารถแยกสกัดลิเทียม และโคบอลต์ออกมาใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบที่ใช้ลิเทียมที่ได้จาก การรีไซเคิลแบตเตอรี่ฯ เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเท เริ่มมีการศึกษาแนวทางการรีไซเคิล ตลอดจนมีแผนการลงทุนตั้งโรงงานเพื่อรองรับการจัดการซากแบตเตอรี่ อย่างครบวงจร จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวสำคัญ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของไทยในการส่งเสริมให้มี อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ระบบหมุนเวียนที่มีความครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยลดการพึ่งพาวัตถุดิบจาก ต่างประเทศ 

ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทยต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ 

  1. การศึกษาและกำหนดมาตรฐานการจัดการซากแบตเตอรี่ที่มีความรัดกุม ปลอดภัย และ ครอบคลุมวงจรชีวิตของแบตเตอรี่ ตั้งแต่กระบวนการเก็บ การขนส่ง และวิธีการรีไซเคิล/กำจัดแบตเตอรี่ ที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ อาทิ การนำหลัก EPR มาปรับใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย การมีข้อกำหนดให้ผู้ใช้รถต้องมีส่วนในการรับผิดชอบตั้งแต่ซื้อรถจนเลิกใช้รถ ตลอดจนมีการควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของซากแบตเตอรี่ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บ จนถึงโรงงานรีไซเคิล/กำจัดแบตเตอรี่ 
  2. การสนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การจูงใจให้มีการลงทุน ตลอดจน การพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิล อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโครงการร่วมที่สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรีไซเคิล การให้สิทธิพิเศษ ทางภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ เนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการในไทยที่มีศักยภาพในการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV ยังมีไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบรรจุความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อเตรียมบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอสำหรับรองรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ในอนาคต เนื่องจากกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะการสกัดแร่หายากจากแบตเตอรี่ 
  3. การมีระบบติดตามแบตเตอรี่ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ และกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาปรับปรุง การประสานงาน การรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น

 

ที่มา : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3-2567