new-energy

ร่างแผนพีดีพี ลุย Net Zero ดันพลังงานสะอาด 51 % กดค่าไฟลง 31 สตางค์

    สนพ.เปิดร่างรับฟังความเห็นแผนพีดีพีฉบับใหม่ ดันพลังงานสะอาด 51 % ภายในปี 2580 ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1.12 แสนเมกะวัตต์ ช่วยเคลื่อนประเทศสู่ Net Zero ลดปล่อยคาร์บอนได้กว่า 26 ล้านตัน และมีส่วนให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับตัวลดลงอยู่ที่ 3.87 บาทต่อหน่วย จากการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าลดลง

ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ซึ่งเป็นเสาหลักของการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ ภายใต้การดำเนินงานที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ จากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@ 30 และปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30% เป็นต้น

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ให้เห็นว่า PDP 2024 นี้ ได้ให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) 2.ด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) และ 3.ด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) เพื่อสนับสนุนประเทศบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

ร่างแผนพีดีพี ลุย Net Zero ดันพลังงานสะอาด 51 % กดค่าไฟลง 31 สตางค์

ทั้งนี้ ในแผนพีดีพีดังกล่าว นอกจากจะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อย CO2 แล้ว ยังมีมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด / เทคโนโลยีทางเลือก เพื่อช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ หรือ Distributed Energy Resource (DER) การตอบสนองความต้องการทางไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Peak Cut) ที่มีเป้าหมายดำเนินการราว 1,000 เมกะวัตต์ ในเวลาที่ระบบต้องการ หรือ Demand Response (DR) รวมถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าสูบกลับ และการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบบโมดูลขนาดเล็ก (SMR) เป็นต้น

สำหรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในแผน PDP 2024 นั้น เมื่อสิ้นปี 2580 จะมีอยู่ราว 56,133 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีอยู่ราว 36,000 เมกะวัตต์ โดยจะมีกำลังผลิตตามสัญญาทั้งสิ้น 112,391 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตที่เข้ามาใหม่ 77,407 เมกะวัตต์ กำลังผลิตปัจจุบัน 53,868 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าที่ปลดออกจากระบบ 18,884 เมกะวัตต์ โดยจะมีกำลังผลิตพึ่งได้ช่วงกลางวัน 81,784 เมกะวัตต์ และกาลังผลิตพึ่งได้ช่วงกลางคืนอยู่ที่ 64,094 เมกะวัตต์

ขณะที่การจัดสรรหรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแผน PDP 2024 ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนใหม่ปลายแผน ปี 2580 ไม่น้อยกว่า 50 % ตามแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (NEP)

ดังนั้น กาลังผลิตใหม่ บวกกับระบบกักเก็บพลังงาน ที่จะเข้ามาในช่วงปี 2567-2580 ซึ่งยังไม่รวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพันแล้วนั้น จะประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ อื่น ๆ (DR, V2G) 2,000 เมกะวัตต์ รวมถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง 12,957 เมกะวัตต์ ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ส่วนการจัดสรรหรือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนใหม่ กำลังผลิต34,851 เมกะวัตต์ นั้น จะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้า 2,681 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังนํ้าขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ ความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์

“เมื่อสิ้นสุดแผนสัดส่วนประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะมีสัดส่วนราว 49% เป็นก๊าซธรรมชาติ 41% ถ่านหินและลิกไนต์ 7% ขณะที่พลังงานสะอาดจะอยู่ที่ 51% อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ 16% พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ 16% พลังนํ้าจากต่างประเทศ 15% พลังนํ้าในประเทศ 2% พลังนํ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้า 1 % นิวเคลียร์ 1% และอื่น ๆ 1 % โดยยังไม่รวมการผลิตไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ V2G และพลังนํ้าแบบสูบกลับ)”

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการลดปล่อย CO2 จะมีการนำไฮโดรเจนผสมร่วมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มในท่อก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออกในสัดส่วน 5% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอีกด้วย

จากการดำเนินงานตามร่างแผนพีดีพีดังกล่าว จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคการผลิตไฟฟ้าลงมาเหลือ ประมาณ 63 ล้านตัน ในปี 2578 จากปัจจุบันปล่อยที่ราว 89 ล้านตัน หรือช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 26 ล้านตัน และปี 2593 จะลดการปล่อยลงมาเหลือราว 41.5 ล้านตัน ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าตลอดแผนเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.87 บาทต่อหน่วย หรือลดลงมาราว 0.31 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยูที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงและแนวโน้มของการลงทุนพลังงานหมุนเวียนปรับตัวลดลงตามด้วย