new-energy

โลกเปลี่ยน “ราช กรุ๊ป” รื้อแผนลงทุน ลุย Net Zero ดันพลังงานทดแทน 40% ปี 73

    สถานการณ์โลกเปลี่ยน ราช กรุ๊ป รื้อแผนลงทุนใหม่ มุ่งปรับพอร์ตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 35-40 % ในปี 2573 พร้อมจับมือพันธมิตรศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 150 เมกะวัตต์ เดินหน้าแบตเตอรี่ และกรีนไฮโดรเจน

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ไม่เพียงกดดันให้ผู้ประกอบการเกิดการตื่นตัวหรือหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ที่จะไปลงทุนในแต่ละประเทศนั้น ๆ ด้วย

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้กลายมาเป็นปัจจัยของนักลงทุนในการเลือกประเทศที่จะเข้าไปลงทุนมากขึ้น ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสของการเติบโตหรือความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนของโลกเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ในวางกลยุทธ์สร้างการเติบโตของบริษัท ให้สอดคล้องกับบริบทด้านพลังงานโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทต้องหันมาพิจารณาหรือต้องทบทวนกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทขึ้นมาใหม่ ที่จะนำมาใช้วางแผนตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากแผนการดำเนินงานเดิม ที่มีการลงทุนอยู่ใน 7 ประเทศ (รวมถึงไทย) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2573 บริษัทจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่สัดส่วน 30% จากกำลังการผลิตทั้งหมดราว 1 หมื่นเมกะวัตต์ อาจจะต้องปรับสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% ภายในปี 2573 และปี 2578 ที่ตั้งเป้าไว้สัดส่วนที่ 40 % อาจต้องปรับเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 10,817.28 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 72.5 % และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,974.67 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 27.5% ซึ่งเป็นการพัฒนาเร็วกว่าแผนที่วางไว้มาก

โลกเปลี่ยน “ราช กรุ๊ป” รื้อแผนลงทุน ลุย Net Zero ดันพลังงานทดแทน 40% ปี 73

“ขณะนี้ได้ให้ทีมงานไปศึกษาแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของบริษัทขึ้นมาใหม่ ที่จะมุ่งการลงทุนไปในโครงการที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และใช้เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะไม่มีการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ 3 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตราว 1,629 เมกะวัตต์”

นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเน้นโครงการประเภทกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย อาทิ ไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ที่ได้กำหนดกรอบการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีไว้แล้ว โดยในส่วนของไทย จะเน้นการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โครงการการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว โครงการการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) และโครงการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR) ขนาด 120-150 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้

นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ สปป.ลาว จะเน้นการลงทุนด้านพลังงานนํ้าเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS) และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และอินโดนีเซีย เป็นการลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

“ปัจจุบันบริษัทฯ ได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคต ที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทฯ ที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม”

สำหรับงบการลงทุน จะยังจัดสรรไว้ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยงบลงทุนในช่วงครึ่งหลัง 2567 จะใช้ลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 12.48 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย กำลังผลิต12 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าซองเกียง 1 ที่เวียดนาม กำลังผลิต 5.55 เมกะวัตต์ และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ที่ออสเตรเลีย กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 40 เมกะวัตต์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 11 โครงการ รวมกำลังผลิตราว 1,733.6 เมกะวัตต์ โดยเป็นในส่วนของการพัฒนาพลังงานทดแทน 9 โครงการ กำลังผลิต 1,240.9 เมกะวัตต์ โครงการกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ 100 เมกะวัตต์ และโครงการเชื้อเพลิงหลักกำลังผลิต 392.70 เมกะวัตต์

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,022 วันที่ 29 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567