ผู้ประกอบการธุรกิจในยุคปัจจุบันไม่สามารถมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของผลกำไรเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป แต่ต้องให้ความใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะมาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่เข้มงวดขึ้นและมีจำนวนมากถึงราว 18,000 มาตรการ ที่กำลังสร้างแรงกดดันให้ธุรกิจอย่างหนักหน่วง อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่เกิดขึ้นก็นำมาซึ่งโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับธุรกิจที่พร้อมปรับตัวเช่นกันสำหรับธุรกิจที่พร้อมปรับตัว
เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมปรับตัวรับกระแส Go Green คว้าโอกาสท่ามกลางความท้าทาย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ในฐานะ Green Development Bank ที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Greenomics) และสังคมคาร์บอนต่ำ ได้จัดกิจกรรม “เพราะเราแคร์ จึงอยากแชร์ต่อ” เชิญผู้บริหารจากหลากหลายแบรนด์ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มาแบ่งปันประสบการณ์ดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อปรับตัวรับมือกับกระแสความยั่งยืนของโลก โดยนำเอาหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดีมาปรับใช้ในกิจการ
หนึ่งในผู้บริหารที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเดินหน้าสู่ความยั่งยืนคือ คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด มหาชน (CRG) ผู้นำด้านธุรกิจร้านอาหารเครือข่ายที่มีแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังภายใต้การดูแล อาทิ มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut), เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch)
คุณณัฐ เปิดเผยว่า ด้วยยอดขายของ CRG ที่สูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลและบริหารจัดการ Food Waste หรือ ขยะอาหารส่วนเกิน โดยร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรหลายแห่ง นำอาหารส่วนเกินไปบริจาคให้กับกลุ่มคนที่ขาดแคลน เช่น เด็กและโรงเรียน อีกทั้งยังทำการคัดแยกขยะอาหารออกจากพลาสติกก่อนส่งไปฝังกลบ ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 120 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) และคาดว่าในปีนี้จะลดได้เพิ่มขึ้นเป็น 170 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)
นอกจากนี้ CRG ยังเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานทางเลือกด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ พร้อมจัดรูปแบบร้านอาหารให้เอื้อต่อการลดการใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศเพื่อลดการใช้พลังงาน ทำให้ในปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานได้ 3% และตั้งเป้าจะลดเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปีนี้
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ธุรกิจไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจที่ผลิตเพื่อส่งออก เพราะปัจจุบันผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มมีข้อเรียกร้องให้สินค้าที่ผลิตต้องสอดคล้องกับแนวคิด ESG ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่ซื้อ” คุณณัฐ กล่าว
อีกหนึ่งผู้บริหารที่มาร่วมบอกเล่าเส้นทาง Go Green คือ คุณชุลีกร สถิตพงศ์พิพัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท ร้อยแปด ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แยมผลไม้ไม่ใส่น้ำตาลเพื่อสุขภาพ ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy)
คุณชุลีกร เล่าว่า ปัจจุบันวัตถุดิบที่บริษัทนำมาผลิตสินค้าทั้งหมดมาจากชุมชนการเกษตรที่ในอดีตต้องประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อช่วยกระจายรายได้และสร้างงานให้กับเกษตรกรรายย่อย ขณะเดียวกัน
ยังนำเอาวัตถุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ได้แทบทั้งหมด เช่น เปลือกผลไม้ที่เหลือจากการผลิตแยมจะถูกส่งไปใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เพื่อทดแทนการใช้สารฟอร์มาลดีไฮด์ ขณะที่กากของผลเบอร์รีที่นำมาใช้สกัดเป็นน้ำเบอร์รีก็สามารถนำไปผสมกับสมุนไพรไทยเพื่อผลิตเป็นชาที่มีสรรพคุณช่วยในการนอนหลับ
“ธุรกิจในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืนของโลก ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ BCG และ ESG จะได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากลูกค้า หากเขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือส่งกลับให้ชุมชนได้ ผู้บริโภคจะยอมจ่ายแพงขึ้น” คุณชุลีกร กล่าว
กล่าวได้ว่าการปรับตัวเพื่อทำธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องยาก ต้องอาศัยกระบวนการจัดการที่ดีและมีความต่อเนื่อง องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ และประการสำคัญจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนจะทำให้การปรับตัวทำได้รวดเร็วขึ้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวถึงการเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินจากมุมมองของนายธนาคารแก่ผู้ประกอบการ SMEs และบุคคลที่สนใจเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกแต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ว่าผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงแนวทางการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่เรียกว่า 5C ประกอบด้วย ตัวตนที่น่าเชื่อถือของธุรกิจ (Character) เงินทุนในการทำธุรกิจ (Capital) ความสามารถของธุรกิจ (Capacity) หลักทรัพย์หรือผู้ค้ำประกัน (Collateral) และเงื่อนไขประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ (Conditions) โดยไม่ต้องติดต่อผ่านนายหน้า (Brokers) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกหลอกหรือเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
“ผู้ประกอบการควรปรับธุรกิจให้แข่งขันได้ตามเทรนด์โลกปัจจุบัน โดยดำเนินการ 2P คือ ปรับปรุงกระบวนการผลิต (Process) และพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Products) เพื่อให้เกิด 4P ที่แข่งขันได้ ได้แก่ ราคา (Price) ตลาด (Place) กำไร (Profit) และโปรโมชัน (Promotion) ทางการเงินจากธนาคาร หลักการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก” ดร.รักษ์ กล่าว
ในฐานะ Green Development Bank ที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน EXIM BANK พร้อมที่จะเติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุน เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดโลก โดยล่าสุดธนาคารได้พัฒนา Greenovation ที่มุ่งยกระดับสินค้าส่งออกของไทยเป็นสินค้ารักษ์โลกหรือ Green Products ควบคู่กับการสร้าง Green Export Supply Chain ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยมลภาวะ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ และการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น
EXIM BANK นับเป็นธนาคารแรก ๆ (Lead Bank) ที่มี Solution ทางการเงินช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ครบทุก Scope ทั้ง 1-2-3 กล่าวคือ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียน และการช่วยให้ Suppliers ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ Green Export Supply Chain อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ Suppliers และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอด Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ได้รับ