sustainability

ยักษ์ค้าปลีก ปักธง “Green Store” เดินหน้าความยั่งยืน

    “ความยั่งยืน” กลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว การทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ความยั่งยืนจะแฝงอยู่ในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ และถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน Global Trend

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาชื่อของ Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน, Net Zero Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ถูกกล่าวขานอย่างต่อเนื่อง

และกลายเป็นหมุดหมายที่หลายองค์กรประกาศเข้าร่วมเพื่อเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมค้าปลีก ที่ต่างกำหนดให้การก้าวสู่ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กร

กลุ่มเซ็นทรัล ขับเคลื่อน Green & Sustainable Retail

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า เซ็นทรัล รีเทล มีความมุ่งมั่นทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน พยายามปรับปรุงองค์กร สร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่น (resilience) และทำให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน โดยเดินหน้าทั้ง

Green Operation, Green Transition และ Green Partnership จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกรีนไปด้วยกัน ด้วยเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยมุ่งสู่การเป็น“Green & Sustainable Retail” ขยาย Green Store ลดใช้พลังงานฟอสซิส สร้าง Positive Impact ขับเคลื่อนระบบนิเวศธุรกิจ ด้วยงบลงทุนรวม 2.4 หมื่นล้านบาท โดยตั้ง​เป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก​ในปี 2567 กว่า 10% เพื่อขับเคลื่อนแผนในการมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2593

เช่นเดียวกับบมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ที่กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2566-2570) ในการเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติ People และ Planet โดยนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด กล่าวว่า เป้าหมายใหญ่คือต้องการเป็น “The Ecosystem for All” หรือระบบที่แข็งแกร่งและยั่งยืนที่สร้างความเติบโตให้กับทุกฝ่าย

ยักษ์ค้าปลีก ปักธง “Green Store” เดินหน้าความยั่งยืน

สำหรับในปีนี้ บริษัทดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ในศูนย์การค้า 13 แห่งทั่วประเทศ ด้วยเงินลงทุนกว่า 352 ล้านบาท รวม 12 เมกะวัตต์ สามารถลดคาร์บอนได้ 1 หมื่นตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการรับรองคาร์บอนเครดิต จากอบก. ตลอดจนการลดการใช้นํ้า และนำนํ้ากลับมาใช้ใหม่ พร้อมติดตั้งระบบผลิตนํ้ารีไซเคิล จำนวนรวม 19 โครงการ และยังใช้งบลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาทในการเดินหน้าด้าน Sustainability สู่ Net Zero 2050 เพื่อสร้างอิมแพ็กและเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า ผู้เช่า พันธมิตร ชุมชนและสังคม

สยามพิวรรธน์ ปักหมุด Zero Waste

ขณะที่นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า สยามพิวรรธน์ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 10 ปี โดยเริ่มต้นขึ้นภายในองค์กร ก่อนขยายสู่คู่ค้า พันธมิตรและลูกค้าทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) การลดใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงการบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศาอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนสู่องค์กรขยะเป็นศูนย์หรือ Zero Waste ด้วย

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจในการเดินหน้าสู่ Net Zero คือโครงการ “ONESIAM Drinking Water นํ้าดื่มในบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมที่ดีไซน์ลวดลายบนกระป๋องแบบพิเศษ สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการรีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ ลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตวัตถุดิบอะลูมิเนียมได้ถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งการรีไซเคิลอะลูมิเนียม 1 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 9.13 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายลดปริมาณ การฝังกลบขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2573 และเดินหน้าสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2593

เครือซีพีสร้างสังคมยั่งยืน

ด้านนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กล่าวว่า ซีพี ออลล์และบริษัทในกลุ่มได้ทบทวนกลยุทธ์และเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเป็นประจำทุกปี โดยพิจารณา จากเหตุการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของโลก (Global Trend)

ผ่านแนวคิด Sustainability framework 2024-2025 “2 ลด 4 สร้าง 1 DNA” เคียงคู่ชุมชน สร้างสรรค์สังคมยั่งยืน 2 ลด 4 สร้าง 1 DNA” โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และเป้าหมายมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

ขณะที่บมจ. ซีพี แอ็กซ์ตร้า ผู้บริหาร “แม็คโคร” ก็ประกาศสานต่อเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน ปี 2567 ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเฟส 1 ในแม็คโคร 20 แห่ง รวมกำลังผลิต 13 เมกะวัตต์ รับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว 9,833 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ด้วยเงินลงทุน 393.81 ล้านบาท และเดินหน้าต่อเฟส 2 อีก 28 แห่ง รวมกำลังผลิต 14.6 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 412.0 ล้านบาท

นอกจากนี้กลุ่มค้าปลีกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นซีคอนสแควร์ ต่างเดินหน้าหนุนนโยบายการใช้พลังงานสีเขียว เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างความยั่งยืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2564 ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ในซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ก่อนที่จะขยายไปยังซีคอน บางแค พร้อมกับการเดินหน้าโปรเจ็คต์อื่นๆ ควบคู่กันไป

หรือจะเป็นเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่ประกาศยุทธศาสตร์ ร่วมเจตนารมณ์มุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Net Zero ลดและเลิกใช้พลาสติก 100% ภายในปี 2570 พร้อมจับมือพันธมิตร คิกออฟเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะ รักษาสุขอนามัย ประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) ด้วย

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,029 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2567