sustainability

สงครามอิหร่าน-อิสราเอล ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” ราคาน้ำมันพุ่งกว่า 100 ดอลลาร์

    สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ หากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซอาจดันราคานํ้ามันดิบตลาดโลกพุ่งกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ กระทบต่อเศรษฐกิจโลก

วันที่ 1 ตุลาคม 2567 อิหร่านได้โจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธกว่า 180 ลูก ซึ่งเป็นการโจมตีโต้ตอบที่อิสราเอลสังหารผู้นำกลุ่มฮามาสถึงกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน รวมทั้งยังไล่ลาสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่อิหร่านให้การสนับสนุนเสียชีวิตไปหลายคน โดยทางอิหร่านได้ระบุว่าขีปนาวุธที่ถูกยิงออกไป 90 % สามารถโจมตีเป้าหมายในอิสราเอลได้สำเร็จ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายเบนจามิน เนทันยาฮู ออกมาระบุว่า การโจมตีของอิหร่านด้วยขีปนาวุธประสบความล้มเหลว เพราะระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอลสามารถสกัดเอาไว้ได้ และเตือนอิหร่านว่า ทำการผิดพลาดครั้งใหญ่ และจะต้องโดนตอบโต้

ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ออกมาระบุว่าได้เจรจากับทางอิสราเอลแล้วว่าจะเอาคืนอิหร่าน โดยจะโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ไม่เห็นด้วยกับการโจมตีโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่าน อิสราเอลมีสิทธิที่จะตอบโต้อิหร่านแต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม

อิสราเอลได้มีการโจมตีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 5 - 6 ตุลาคม 2567 กองทัพอากาศอิสราเอลได้โจมตีเขตชานเมืองเบรุต เมืองหลวงของเลบานอนอย่างหนัก โดยโจมตีมุ่งเป้าหมายไปที่คลังเก็บอาวุธของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

นักวิเคราะห์มีการคาดการณ์ว่า หากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของอิหร่าน อาจส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้เพราะอิหร่านเป็นหนึ่งในผู้ผลิตนํ้ามันรายใหญ่ของโลก และเป็นผู้ควบคุมการเข้า-ออกของนํ้ามันผ่าน “ช่องแคบฮอร์มุซ” ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน เป็นจุดที่ประเทศโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขนส่งนํ้ามันดิบทางเรือจากตะวันออกกลางไปสู่โลกภายนอก คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของนํ้ามันดิบของโลก
สงครามอิหร่าน-อิสราเอล ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” ราคาน้ำมันพุ่งกว่า 100 ดอลลาร์

รวมถึงยังมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ส่งผ่านออกมาจากประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออก LNG รายใหญ่ของโลกอีกด้วย ดังนั้น หากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ จะทำให้นํ้ามันดิบ 1 ใน 5 ของโลกหายไปทันที รวมถึงกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เวลานี้ได้ควํ่าบาตรไม่ซื้อนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และหันมาพึ่งก๊าซธรรมาติจากกาตาร์จะเกิดการขาดแคลนพลังงานทันที

วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมจากกลุ่มโอเปกพลัส ได้มีมีมติ ให้คงแผนเพิ่มการการผลิตนํ้ามันดิบในเดือนธันวาคม 2567 ที่ระดับ 189,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกพลัส (+18 ประเทศ) ผลิตนํ้ามันดิบในเดือน สิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 34.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน (โดยมีโควตาการผลิตอยู่ที่ 33.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเกินกว่าโควตาอยู่ 330,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ขอความร่วมมือให้อิรักและคาซัคสถานลดกำลังผลิตที่เป็นโควต้าของทั้ง 2 ประเทศลงประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวันอีกด้วย

จากเหตุการณ์ไม่สงบจากสงครามอิหร่าน-อิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทำให้ราคานํ้ามันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นจาก 73.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 76.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 หรือเพิ่มขึ้น 3.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 4.74 % หลังจากนั้นได้ขยับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 78.92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 เพิ่มขึ้นอีก 2.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 2.93 %

หลังจากนั้นได้อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 76.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ราคานํ้ามันดิบขยับตัวสูงขึ้นมา 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงต้องลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนนํ้ามันฯ ในประเภทนํ้ามันดีเซลจาก 3.47 บาทต่อลิตร เป็น 1.66 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกนํ้ามันดีเซลที่ 33 บาทต่อลิตร

ที่ผ่านมาฐานะกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง เคยติดลบสูงสุดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 111,663 ล้านบาท หลังจากนั้นราคานํ้ามันเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้กองทุนฯ เริ่มมีเงินไหลเข้า จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2567 กองทุนนํ้ามันฯ ติดลบเหลือ 95,333 ล้านบาท แยกเป็นนํ้ามันติดลบ 47,885 ล้านบาท ก๊าซ LPG ติดลบ 47,448 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 กองทุนนํ้ามันฯ มีสภาพคล่องเป็นบวก มีเงินไหลเข้า 9,266 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นกลุ่มนํ้ามันเบนซินมีเงินไหลเข้า 4,595 ล้านบาทต่อเดือน กลุ่มดีเซลมีเงินไหลเข้า 4,487 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่ก๊าซ LPG มีเงินไหลเข้า 184 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ สาเหตุที่กองทุนนํ้ามันเริ่มมีเงินไหลเข้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นมา เนื่องจากราคานํ้ามันดิบดูไบลดลงตํ่ากว่า 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากระดับ 35 - 36 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32 - 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 สำนักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะต้องมีการชำระหนี้เงินต้นที่กู้ยืมมาจากสถาบันการเงินแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ สกนช. จะต้องบริหารสภาพคล่องทางการเงินให้ดี และเร่งสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงที่ว่างลง เพื่อมาบริหารจัดการโดยเร่งด่วน

บทความโดย :  วีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายพลังงาน