นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทแข็งค่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ส่วนใหญ่มีการจองล่วงหน้า แต่ก็ยังต้องจับตามองช่วง 2 เดือนหลังจากนี้ ลากยาวไปถึงปีหน้าว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีนัยะสำคัญ เราเชื่อมั่นว่าท่องเที่ยวไทยยังคงมีศักยภาพในการเติบโต และเงินบาทที่แข็งค่า เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ต้องพิจารณา
ขณะเดียวกันเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลดีต่อผู้ประกอบการบางราย เช่น ลดต้นทุนการนำเข้า แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง ระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ในขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบที่ส่งผลต่อธุรกิจการบินของไทยในวงกว้างมากนัก แต่ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสาร
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของการบินไทย ยังคงมีทิศทางบวกต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะมีปัจจัยในเรื่องของบาทแข็งค่าและสงครามระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ซึ่งการสู้รบในภูมิภาคตะวันออกกลาง การบินไทยก็ไม่มีเที่ยวบินในตะวันออกกลาง การบินไทยมีเส้นทางบินใกล้ที่สุดคือ ตรุกี และปากีสถาน เส้นทางส่วนใหญ่จะบินข้ามไปยุโรปเลย บินสูงกว่า 3 หมื่นฟุตขึ้นไป และไม่มีบินที่ใกล้อิหร่าน จึงไม่มีผลกระทบในเรื่องนี้
โดยผู้โดยสารยุโรป ยังคงเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีอัตราการบรรทุกเฉลี่ยสูงถึง 80% ในส่วนของตลาดอิสราเอล ก่อนหน้านี้ที่มีการสู้รบกับปาเลสไตล์ ที่ผ่านมามีเพียงกระทบช่วงแรก จากนั้นก็ปกติ ดังนั้นการสู้รบล่าสุดระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ก็มีผลไม่ต่างกัน สำหรับบาทแข็งค่า
แม้การบินไทยจะมีรายได้เป็นเงินสกุลเงินตราต่างประเทศ แต่ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ อาทิ ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมัน การแข็งค่าของเงินบาท โดยรวมจึงยังไม่เป็นปัญหา แต่ยอมรับว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งช่วงนั้นเงินบาทอ่อนค่า การบินไทยขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 6,000 ล้านบาท
ในอดีตถามว่ามีผลกระทบหรือไม่ ยอมรับว่ามีแต่น้อยมาก เพราะที่ผ่านมาการบินไทย ทำ FX Exchange บริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไว้ในอดีต แต่พอเข้าแผนฟื้นฟูฯเราโดนบังคับให้ปิดสัญญาเหล่านั้นออกทั้งสิ้น เนื่องจากสถานะภาพของบริษัทไม่ได้อยู่ในสถานะภาพที่คู่ค้ารับได้ โดนบังคับด้วยกฎหมาย
แต่ปัจจุบันทางผู้บริหารแผนฯได้มีนโยบายให้บริษัทเข้าไปบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้แต่เราทำไปแล้ว เพราะอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่ไม่ได้เกิดจากผลประกอบการ แต่มีผลต่อกำไรสุทธิของบริษัท
หน้า 10 ฉบับที่ 4,034 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567