ทั้งนี้ถือเป็นปัญหาที่มีมานานกว่า 50 ปี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าว มีศักยภาพสูงในการผลิตทรัพยากรปิโตรเลียม คาดการณ์ว่าก๊าซธรรมชาติมีปริมาณประมาณ 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และนํ้ามันดิบประมาณ 500 ล้านบาร์เรล การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ไทยและกัมพูชาได้พยายามเจรจาหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่ยังไม่สามารถหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ แม้ว่าจะมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องและการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ปี 2544 เพื่อกำหนดกรอบการเจรจาในอนาคตเกี่ยวกับการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน
การศึกษานี้พยายามรวบรวมข้อมูลจากทั้งด้านกฎหมายระหว่างประเทศและประสบการณ์ในอดีต เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ และเพื่อให้เห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและความเป็นไปได้ของการพัฒนาร่วม
สำหรับปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศในปี 2513-2516 โดยทั้งไทยและกัมพูชาใช้เส้นฐานและการตีความอนุสัญญาระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนกัน
ผลที่ตามมาคือการไม่สามารถกำหนดเขตแดนทางทะเลที่แน่ชัดได้ และพื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การแก้ไขข้อพิพาทนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากทรัพยากรใต้ท้องทะเลที่มีอยู่สามารถส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอย่างมาก
ความพยายามในการเจรจาเรื่องข้อพิพาททางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มตั้งแต่ปี 2513 แต่ในช่วงนั้นยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จนกระทั่งในช่วงปี 2537-2538 รัฐบาลไทยได้ริเริ่มแนวทางในการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค เพื่อศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข โดยมีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อตกลงที่แน่ชัดได้ เนื่องจากความแตกต่างในเรื่องจุดยืนทางด้านกฎหมายและการตีความเส้นแบ่งเขตทางทะเล
อย่างไรก็ตาม ในปี 2544 รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรได้ทำข้อตกลงร่วมกับกัมพูชา โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีเป้าหมายในการเร่งรัดการเจรจาเพื่อแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน แม้ว่าข้อตกลงนี้จะเป็นก้าวสำคัญ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
หนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขข้อพิพาทนี้คือปัญหาทางการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะความกดดันจากกลุ่มชาตินิยมที่คัดค้านการเจรจาแบ่งเขตแดน การเมืองภายในประเทศไทยและกัมพูชาที่มักมีความผันผวนทำให้การเจรจาต้องหยุดชะงักไปหลายครั้ง แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่ามหาศาลก็ตาม
ในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ จากการศึกษาแนวทางการใช้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี ค.ศ. 1982 และอนุสัญญาเจนีวา ปี ค.ศ. 1958 ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสำคัญในการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล ซึ่งยังมีความแตกต่างในเรื่องการตีความและการใช้กฎหมายระหว่างทั้งสองประเทศ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเข้าใจและข้อตกลงที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษาของความสำเร็จในการพัฒนาร่วมระหว่างไทยและมาเลเซียในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความร่วมมือ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแม้ว่าจะมีการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน การพัฒนาร่วมในลักษณะนี้ช่วยลดความตึงเครียดและสร้างผลประโยชน์ร่วมกันที่เท่าเทียม และเป็นแนวทางสามารถนำมาใช้ในการเจรจากับกัมพูชาได้เช่นกัน โดยการจัดตั้งองค์กรพัฒนาร่วมเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องรอให้การเจรจาแบ่งเขตแดนเสร็จสิ้นก่อน
นายสุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชานั้น มีข้อเสนอแนะว่า การดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจปี 2544 ควรมีการเจรจาต่อเนื่องเพื่อแบ่งเขตแดนทางทะเลและกำหนดข้อตกลงในการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน โดยใช้แนวทางที่เป็นกลางและไม่ยึดติดกับแนวคิดแบบชาตินิยม
การลดความตึงเครียดทางการเมือง ควรมีการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศจะได้รับจากการพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อน
อีกทั้ง ควรนำแนวทางการพัฒนาร่วมระหว่างไทยและมาเลเซียเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางทะเล การนำแนวทางนี้มาใช้กับกัมพูชาจะช่วยให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นและสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน และการปรับปรุงกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ควรมีการพิจารณาและทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิในเขตแดนทางทะเล เพื่อให้การเจรจาเป็นไปตามกฎหมายสากลและเกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
การแก้ไขปัญหานี้จะช่วยให้ไทยและกัมพูชาสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมหาศาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในระยะยาว
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง