ในงานสัมมนา “พลังงานราคาถูก... ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดย “ฐานศรษฐกิจ” ได้รับเกียรติจาก ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่า เรื่องราคาพลังงานถือเป็น 1 ใน 3 สิ่งในการวางแผนหรือกำหนดทิศทางด้านพลังงานของประเทศ เพราะนอกจากราคาที่เป็นธรรมแล้ว พลังงานจะต้องมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ รองรับกับความต้องการใช้ได้
อีกทั้งต้องตอบโจทย์เป้าหมายระดับโลก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปัจจุบันเทรนด์ของโลกให้ความสำคัญกับประเด็นในการลดภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งประเทศไทยได้ไปให้พันธสัญญาไว้กับโลกที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ในปี 2065)
ส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดโลกร้อนได้คือ การเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งไทยต้องเร่งดำเนินการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของโลก สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างสมดุล ให้ได้ว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีพลังงานราคาถูก มีความมั่นคง และสะอาดตรงนี้คือโจทย์ของกระทรวงพลังงาน
“กระทรวงพลังงานไม่ได้มองแค่ราคาพลังงานถูก แต่ยังมองเรื่องความมั่นคง การรักษาเสถียรภาพด้านราคา ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศ ไปพร้อมกันด้วย”
ทั้งนี้ เมื่อมาพิจารณาการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากลับลดลง จากเดิมเคยผลิตก๊าซฯได้ 70-80% ปัจจุบันเหลือเพียง 56% ของความต้องการใช้ก๊าซฯ ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาทดแทนราว 33% และส่วนหนึ่งมีการนำเข้าจากเมียนมาสัดส่วน11% ซึ่งในอดีตเมื่อ 8 ปีที่แล้วไทยเคยนำเข้า LNG ประมาณ 4-5 ลำเรือ แต่ปัจจุบันต้องนำเข้าถึง 90 ลำเรือ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ก๊าซฯในอ่าวไทยกลับลดลง และแหล่งผลิตก๊าซในเมียนมา เริ่มถดถอยลงหลังจากใช้งานมานาน ส่วนปริมาณน้ำมันที่จัดหาได้และใช้ในประเทศก็เริ่มลดลงจากเดิมเคยจัดหาได้ 15% แต่ในปี 2567 เหลือเพียง 7% ของความต้องการใช้ทั้งหมด
“ในปีนี้ ถือว่ายังโชคดีที่สามารถผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ ฟื้นตัวจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้อย่างต่อเนื่อง”
ขณะที่การใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนมากขึ้น โดยในปี 2566 ยอดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 7% จากปกติจะเติบโตประมาณ 2% ทุกปี และในปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีความต้องการปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
“ปี 2566 การใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟภ. กฟน.) ทะลุ 2 แสนล้านหน่วย เป็นสถิติใหม่สูงกว่าปีก่อนเกิดโควิ ด(2562) ในปีนี้มั่นใจว่าการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าเดิมอย่างน้อย 5-6% แม้ช่วงนี้อากาศจะเย็นลง แต่การใช้ไฟฟ้าก็ยังสูงขึ้นเช่นกัน”
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญสำหรับประเทศคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งคุณภาพการให้บริการไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน โดยมีเกณฑ์ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ตลอด 1 ปีไม่เกิน 0.7 วันต่อปี
ดังนั้นไทยยังมีความมั่นคงด้านพลังงานและยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยจะเห็นได้จากการเข้ามาลงทุนของธุรกิจ Data Center จำนวนมาก ที่หนีจากเวียดนามที่มีปัญหาไฟฟ้าตกและดับบ่อย มาลงทุนไทยแทน เหตุการณ์เหล่านี้ บ่งบอกได้ว่า ความมั่นคงด้านพลังงานถือเป็นจุดที่สำคัญกว่าราคาค่าไฟฟ้า ที่จะตัดสินใจเลือกประเทศที่จะมาลงทุน
ส่วนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดทำ ได้กำหนดไว้ว่าภายในปี 2580 จะให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดกว่า 51% ขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ จะลดสัดส่วนลงเหลือ 41 % และถ่านหิน/ลิกไนต์ สัดส่วนลดลงเหลือ 7% ขณะที่ปัจจุบันการพัฒนาพลังงานสะอาด สามารถดำเนินการได้แล้วในสัดส่วน 26% ส่วนก๊าซธรรมชาติยังมีสัดส่วนการใช้ผลิตไฟฟ้าที่ราว 6 %
อย่างไรก็ตาม จากที่ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงงานจากต่างประเทศเข้ามามาก ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพราะไฟฟ้ามีความต้องการใช้เพิ่ม รวมถึงก๊าซธรรมชาติเช่นกัน แต่แหล่งผลิตภายในประเทศถดถอย ในอ่าวไทยการผลิตลดลงเรื่อย ๆ กระทรวงพลังงานพยายามหาทาง ที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าถึงมือประชาชนราคาถูกที่สุด โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในประเทศ ที่จะต้องมีการเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบก รอบ 25 และรอบที่ 26 ในทะเล
รวมถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หรือ OCA ที่เป็นความหวังในอนาคตว่า จะเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยลดการนำเข้าก๊าซ LNG ของประเทศลงได้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,043 วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567