"ปตท." 9 เดือนกำไรพุ่ง 8 หมื่นล้าน นำรายได้ส่งรัฐกว่า 4.2 หมื่นล้าน

19 พ.ย. 2567 | 10:01 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2567 | 10:04 น.

"ปตท." 9 เดือนกำไรพุ่ง 8 หมื่นล้าน นำรายได้ส่งรัฐกว่า 4.2 หมื่นล้าน หลังผลการดำเนินงานธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขาย ลั่นพร้อมเข้าไปดำเนินการ และแข่งขันพื้นที่ OCA

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือปตท. เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนปี 2567 ว่า ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2 % เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 

ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือน มาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม 2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science 

รวมถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี 
 

อย่างไรก็ดี กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% 

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือปตท.

ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรายได้เข้ารัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล

สำหรับความคืบหน้าการ Revisit ปัจจุบันเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งธุรกิจ Hydrocarbon และธุรกิจ Non-Hydrocarbon เช่น ธุรกิจอีวี (EV) จะมุ่งลงทุนสถานีชาร์จในครอบคลุมทั่วประเทศและปรับเหลือแบรนด์เดียวโดยมีโออาร์เป็นผู้ลงทุน ส่วนธุรกิจประกอบรถอีวีจะหาพาร์ทเนอร์มานำ ตามเทรนด์ธุรกิจที่แข่งขันสูง 

ขณะที่ธุรกิจ Life Science มีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อระดมทุนและหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหาร เหล่านี้จะทำให้แผนลงทุน 5 ปีของปตท.ชัดเจน โดยกลางเดือนธันวาคมคณะกรรมการปตท. จะสรุปแผนธุรกิจและจะประกาศแผนอย่างเป็นทางการ จากปัจจุบันแผนลงทุน 5 ปี (2567-71) ของปตท.อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท และปตท.ร่วมกับบริษัทลูกประมาณ 1 ล้านล้านบาท
 

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า ปี 2568 ปตท.คาดว่าจะกลับมาเติบโตทั้งรายได้และกำไร เนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจปิโตรเคมีผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3-4% ทำให้ดีมานด์ของโลกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งธุรกิจแอลเอ็นจีคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ 

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือปตท.

อย่างไรก็ตาม ปตท.จะจับตาปัจจัยเสี่ยงทั้งราคาน้ำมัน ภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะโลกร้อน และนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับฟอสซิล ซึ่งปตท.จะคงนโยบายลดคาร์บอนตามเป้าหมายของประเทศ

ส่วนการพัฒนาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยกับกัมพูชา( Overlapping Claims Area หรือ OCA) ปตท.พร้อมเข้าไปดำเนินการ และแข่งขัน เพราะปตท.มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือปตท.สผ. ที่มีประสบการณ์ และลงทุนทั่วโลก ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถนำปิโตรเลียมมาใช้ได้ช่วง 5-6 ปีนี้ จากเดิมคาด 10 ปี โดยก๊าซธรรมชาติในแหล่งนี้จะสร้างความมั่นคงและมีราคาถูก คุ้มค่ากว่าแอลเอ็นจีแน่นอน

ดร.คงกระพัน กล่าวอีกว่า ปตท.ยังมุ่งเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุลสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก  ผ่านแนวทาง C3 ประกอบด้วย 

  • Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน 
  • Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด 
  • Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) และเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า  ซึ่งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. 

โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

อีกทั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน รวมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต 

อย่างไรก็ดี ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้ร่วมช่วยเหลือและดูแลสังคม เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบเหตุอุทกภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 25,170 ถุง น้ำดื่ม 81,740 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร รวมมูลค่ากว่า 15.73 ล้านบาท

อีกทั้งได้ส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน และน้ำมันเชื้อเพลิงในการฟื้นฟูพื้นที่และบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่อีกด้วย