เศรษฐกิจไทยมีพัฒนา การอย่างต่อเนื่องจากยุคที่เน้นภาคการ เกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม เมื่อมองไปใน อนาคต การพัฒนาประเทศในบริบทของโลกยุคดิจิตอลและความคาดหวังถึงการเติบโตแบบองค์รวม (Inclusive Growth) นำมาสู่แนวทางการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า Thailand 4.0 แบบจำลองการพัฒนาดังกล่าว เน้นการสร้างเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-based Economy) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ จากแนวทางดังกล่าวนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า ภาคเศรษฐกิจใดจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
จากการศึกษาของหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่งพบว่า ภาคบริการเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศรายได้ระดับปานกลาง ภาคบริการมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของทั้งระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากบริการหลายส่วน อาทิเช่น บริการด้านโทรคมนาคม ขนส่ง พลังงาน และการเงิน เป็นปัจจัยการผลิตขั้นกลางที่จำเป็นของทุกการผลิตในระบบเศรษฐกิจ พัฒนาการของ Modern IT ทำให้สามารถส่งออกบริการได้ และภาคบริการที่สนับสนุนการทำธุรกิจ (Business Services) ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของหลายประเทศ
ในกรณีของประเทศไทย ภาคบริการมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น โดยมีมูลค่าสูงถึง 55% ของ GDP และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 นอกจากนี้ภาคบริการยังเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของไทย โดยมีงานในภาคบริการถึง 40% ของกำลังแรงงานไทย ส่วนมูลค่าการส่งออกของภาคบริการ ถึงแม้จะมีสัดส่วนเพียง 20% ของมูลค่าการส่งออกแต่มีการขยายตัวที่สูงในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาศักยภาพของภาคบริการในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในบริบทของ Thailand 4.0 แล้วพบว่า
1.ธุรกิจบริการในส่วน Modern Services (ดิจิตอล) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม New S-Curve ที่ภาครัฐเน้นให้การสนับสนุนเพื่อเป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่นั้น นอกเหนือจากเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคดิจิตอลโดยเปิดโอกาสในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่และในการสร้างนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาธุรกิจบริการที่เป็นส่วนประกอบในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย ส่วน Traditional Services (โลจิสติกส์ บริการทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว) นั้น มีส่วนช่วยการพัฒนาในวงกว้าง เนื่องจากเป็นภาคบริการที่สำคัญของไทยและเกี่ยวข้องกับแรงงานกลุ่มใหญ่ในประเทศ
2.ในการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และ SMEs นั้น ธุรกิจบริการทั้งในส่วน Infrastructure Services (โทรคมนาคม ขนส่ง พลังงาน และการเงิน) และ Business Services (กฎหมาย บัญชี ฐานข้อมูล และบริการคอมพิวเตอร์) มีส่วนสำคัญในกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นภาคบริการจึงมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาหน่วยธุรกิจรายย่อย และส่งผลให้มีโอกาสในการ
สร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจาก SMEs เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในด้านดังกล่าว
3.การค้าระหว่างประเทศในส่วนของภาคบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินได้ดีขึ้น มีการสื่อสารและบริการด้านขนส่งที่ดีขึ้น จะช่วยลด Trade Cost เพิ่มการค้าระหว่างประเทศ และมีการผลิตในรูปแบบ GVCs เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในส่วนต่อเนื่อง รวมถึงเปิดโอกาสให้ SMEs ได้มีส่วนร่วมในการผลิตใน GVCs ซึ่งเป็นการขยายตลาด เรียนรู้เทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพในการผลิตของ SMEs ต่อไป
ภาคบริการมีศักยภาพในการเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามแนวทาง Thailand 4.0 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาธุรกิจในภาคบริการต้องอาศัยการส่งเสริมจากภาครัฐในบริการสาขาที่มีความสำคัญ สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการขยายตัวของภาคบริการ และนโยบายภาครัฐที่ทำให้ผลจากการพัฒนาดังกล่าวกระจายในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การเติบโตแบบองค์รวมของเศรษฐกิจไทยต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,342 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561