เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ผมได้รับเชิญจากสมาคมการค้า ตลาดกลางขายส่งสินค้าเกษตรไทยให้บรรยายหัวข้อ “บทบาทตลาดกลางขายส่งสินค้าเกษตรไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน” คนฟังเป็นสมาชิกของสมาคมตลาดขายส่งสินค้าเกษตรทั่วประเทศไทย ผมเลือกบรรยายหัวข้อ 1.สถานการณ์ตลาดขายส่งในประเทศเมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม รวมไปถึงตลาดขายส่งสินค้าเกษตรอินเดีย จีน และตะวันออกกลาง ตามด้วยหัวข้อ “บทบาทของตลาดกลางขายส่งสินค้าเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอาเซียน”
ผมขอเริ่มที่ตลาดขายส่งสินค้าเกษตรในเมียนมา ปัจจุบันเมียนมามีตลาดขายส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญ 2 แห่งคือ ตลาด “ทีรี มิงกาลา (Thiri Mingalar) Thiri ความหมายคือ “สิริ” และ Mingalar ความหมายคือ “มังคระ หรือ มงคล” มีที่ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ และตลาดกลางขายส่งผักและผลไม้แห่งใหม่ที่ชื่อว่า “Danyingone” สร้างธันวาคม 2558 กำหนดเสร็จปลายปี 2562 บนเนื้อที่ 212 ไร่ ตั้งที่อำเภออินเซ (Insein District) ตอนเหนือของย่างกุ้ง สร้างโดยคณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง (Yangon City Development Committee : YCDC) กับบริษัทเกษตรเมียนม่าร์ (Myanmar Agro Exchange Public Limited : MAEX) เปิดเมื่อต้นปี 2561 เฉพาะส่วนผลไม้ ผักและดอกไม้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าจากเมียนมาเท่านั้น ตลาดนี้ต้องการมาแทนที่ตลาดเก่า ทำให้เน้น “ความสะอาดและที่จอดรถได้ 2,500 คัน”
ตลาด “Thiri Mingalar” เป็นตลาดสำคัญและใหญ่ที่สุดของเมียนมาอยู่ทางตอนเหนือของย่างกุ้งห่างจากตัวเมือง 10 กม. ขายผลไม้ทุกชนิดร้อยละ 80 เป็นผลไม้จากประเทศจีนได้แก่ แอปเปิ้ล ส้ม และสาลี่ ที่เหลือเป็นจากท้องถิ่นร้อยละ 15 ได้แก่ แตงโม สับปะรด ทุเรียน และมังคุด และเป็นผลไม้จากประเทศไทยได้แก่ เงาะ มังคุค และลำไย หลังจากนั้นก็กระจายไปสู่ตลาดต่างๆ ทั่วเมียนมา ขณะที่จีน สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นตลาดสำคัญของผลไม้เมียนมา โดยส่งออกไปจีนทางบกผ่านทางด่านชายแดนมูเซ-รุ่ยลี่ ซึ่งอยู่ในรัฐฉาน
ส่วนสปป.ลาว ตลาดขายส่งผลไม้ ตลาดบ้านนาแฮ่ เป็นตลาดขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในลาว ตั้งอยู่ ณ นครเวียงจันทน์ อยู่ใกล้กับตลาดสีไค (ตลาดสีไค เป็นตลาดขายสินค้ารวมทุกชนิด อยู่ห่างจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ ประมาณ 15 กม. ตลาดบ้านนาแฮ่ มีพื้นที่ 7 ไร่ มีผลไม้นำเข้ามาจากประเทศไทยวันละ 50 ตัน จากการนำเข้าทั้งหมด 65 ตัน หรือร้อยละ 80 นำเข้ามาจากประเทศไทย และอีกร้อยละ 10 นำเข้ามาจากเวียดนาม ที่เหลือเป็นผลไม้จีนและลาว (ผู้บริโภคลาวนิยมผลไม้จากไทยมากกว่าเวียดนาม) ผลไม้ที่นำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ แอปเปิ้ล (หมากแแอปเปิ้ล) สาลี่ (หมากสาลี) แก้วมังกร (หมากมังกร) ลิ้นจี่ (หมากลิ้นจี) ลูกพลับ (หมากพลับ) และอโวคาโด้ (หมากอโวคาโด้) และที่นำเข้าจากไทย ได้แก่ เงาะ (หมากเงาะ) องุ่น (หมากละแช้ง) มะไฟ (หมากไฟ) มะพร้าว(หมากพร้าว) ทุเรียน (หมากทั่วเลียน) ลำไย (หมากลำไย) ส้ม (หมากเกี้ยง) มะม่วง (หมากม่วง) ขนุน (หมากหมี่) ฝรั่ง (หมากสีดา) ลองกอง (หมากลองกอง) มังคุด (หมากมังคุด) สับปะรด (หมากนัด) และระกำ (หมากระกำ)
ผลไม้ที่ลาวนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่จะผ่านทางผู้ประกอบการใน จ.อุดรธานี ที่มีการค้าขายกันมานาน ไม่ต้องจ่ายเงินสดทันที แต่จะมีการเก็บเงินอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ตลาดนาแฮ่มีแม่ค้าแผงขายส่งผลไม้ประมาณ 60 ราย ค่าเช่าแผง 2,200-2,300 บาท/เดือน (รวมค่าน้ำค่าไฟ) โดยแม่ค้าเริ่มทยอยมาตลาดตั้งแต่ตี 4 ส่วนลูกค้าที่มาซื้อผลไม้เพื่อนำไปขายต่อจะเริ่มมาตั้งแต่ 6 โมงเช้า พอเริ่ม 11 โมง ตลาดจะเริ่มวาย บริเวณหลังตลาดมีบริการรถ 2 แถวไปเมืองวังเวียง (ห่างเวียงจันทน์ 160 กม.)
ปัญหาที่พบจากผลไม้ที่นำเข้าทั้งของไทยและเวียดนาม คือ สารพิษที่ตกค้าง ซึ่งสุ่มตรวจโดยกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้แห่งสปป.ลาว พบว่า มีสารพิษตกค้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลไม้ที่ตรวจเจอเยอะที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ หมากโม (แตงโม) หมากลำไย หมากแอปเปิ้ล หมากแตงแคนตาลูป และหมากอโวคาโด้ ปัจจุบันมี 2 มาตรฐานหลักที่สปป.ลาวให้การส่งเสริม นั่นคือ มาตรฐานกสิกรรมอินทรีย์ (Organic Farming) และมาตรฐานกสิกรรมที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "ลาวจีเอพี" (Lao GAP) หรือ “ใบยั่งยืน”
ด้วยเนื้อที่ของบทความที่มีอยู่อย่างจำกัด ผมขอนำเสนอข้อเสนอแนะ สำหรับบทบาทตลาดขายส่งสินค้าเกษตรไทยในมุมมองของผม ที่ไม่ใช่เป็นสถานที่พบกันของ “ผู้ซื้อผู้ขายเท่านั้น” ได้แก่ 1.สร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรของชาติกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรเพื่อช่วยระบายสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงการช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยมีการกำหนดมาตรฐาน GAP หรือ Organic รวมถึงการตรวจสอบสินค้าเกษตรย้อนกลับ ผ่านทาง Application หรือ QR Code (ต้องเป็น QR Code ที่แสดงถึงรายละเอียดของสินค้าเกษตรและแปลงเกษตร ไม่ใช่เป็น QR Code เพื่อขายของ โดยไม่มีรายละเอียดคุณภาพของสินค้า) เพื่อสร้าง “สินค้าเกษตรปลอดภัยภายใต้แบรนด์สมาคมการค้า ตลาดกลางขายส่งสินค้าเกษตรไทย” เพื่อแยกราคาสินค้าเกษตรออกเป็น 2 ราคา (ราคาปกติกับราคาสินค้าเกษตรคุณภาพ)
2.ทำข้อตกลงและความร่วมมือกับตลาดในอาเซียน อาเซียน+3 (จีน) และอาเซียน+6 (อินเดีย) และสมาคมเกษตรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งห้างสรรพสินค้า เพื่อนำสินค้าเกษตรไทยไปขาย นำสินค้าเกษตรคู่ค้ามาขายเพื่อเปิดพื้นที่ “ทางเลือกสินค้าเกษตรสำหรับผู้บริโภค” 3.ทำหน้าที่ “ล้งชาติไทย” เพื่อทำหน้าที่รวบรวมสินค้าเกษตร แล้วส่งให้ “ล้งต่างชาติ” ในประเทศปลายทาง โดยที่ล้งชาติไม่ต้องเข้ามารับซื้อสินค้าเกษตรไทย ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่ “ศูนย์กลางโลจิสติกส์สินค้าเกษตรไทยอาเซียน” 4. ขาย “เกษตร GI” ที่มีอยู่หลายจังหวัด 5. ร่วมกันพัฒนา “แพคเกจจิ้งอัจริยะ” เพื่อยืดระยะการเก็บรักษาสินค้าเกษตรของไทยให้ยาวนานขึ้น 6.ร่วมกับจังหวัดชายแดนตั้ง “ศูนย์กลางการส่งออกสินค้าเกษตร CLMVT”