คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3494 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-10 ส.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'
ประวัติศาสตร์การประมูล (3)
ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด
คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพี และพันธมิตร ที่ผ่านด้านเทคนิคมาแล้ว เมื่อเปิดซองด้านการเงินพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่ากลุ่มบีเอสอาร์ อยู่มาก กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล
คณะกรรมการฯ เรียกกลุ่มซีพีมาเจรจาต่อรองกันมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 และเริ่มสรุปผลการประมูลมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 7 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน
อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไม “เอกชน-รัฐ” จึงมีการยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้
สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นรายละเอียดเป็นอย่างไร ติดขัดตรงไหน มีอะไรในกอไผ่ มาติดตามกันในร่างสัญญาตอนที่ 3 กัน ณ ที่นี้ต่อครับ...
(2) สิทธิและหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญา ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว และหน้าที่ดังต่อไปนี้
(ก) มีสิทธิได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯจากรฟท.ตามรายละเอียดในข้อ 18
(ข) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงแต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 15.1
(ค) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินแอร์พอร์ต เรลลิงค์แต่เพียงผู้เดียว ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15.2 และชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8.1(3)
(ง) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายแต่เพียงผู้เดียวตามรายละเอียดในข้อ 15.1
(จ) มีสิทธิและหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯแต่เพียงผู้เดียว ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1
(ฉ) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ แต่เพียงผู้เดียว ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.2
(ช) มีสิทธิจัดเก็บและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากโครงการฯ และค่าโดยสารแต่เพียงผู้เดียวตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8.3
(ซ) มีหน้าที่นำส่งผลประโยชน์ตอบแทนของ รฟท.ให้แก่ รฟท. ตามที่่กำหนดไว้ในข้อ 8.1
(ฌ) มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ ให้แก่ รฟท. ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7
(ญ) มีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ รวมถึง งานโยธาและสิ่งอำนวยความสะดวกงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟ อุปกรณ์ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31
(ฎ) มีหน้าที่ดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาและดำรงรักษาใบอนุญาตใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนการดำเนินกิจการของเอกชนคู่สัญญา ให้มีผลใช้บังคับ และยื่นขอใบอนุญาตใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนดำเนินกิจการของเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจดทะเบียน และปฏิบัติตามกฎหมายไทยซึ่งจำเป็นต่อภาระหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุน
(ฏ) มีสิทธิอื่นๆ และปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดของเอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ รฟท.ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 22 การจัดทำประกันภัย ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 20 และการจัดหาทรัพย์สินทางปัญญา ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 21
(ฐ) เอกชนคู่สัญญาไม่มีสิทธิให้สิทธิช่วงในส่วนของการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟแก่บุคคลอื่นนอกจากนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจาก รฟท.ก่อน โดยในกรณีที่ รฟท.อนุมัติและเอกชนคู่สัญญาให้สิทธิช่วงดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา คู่สัญญาตกลงกันดังต่อไปนี้
1) รายได้ของนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาที่เกิดขึ้นจากการได้รับสิทธิช่วงในส่วนของการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟจะถือเป็นรายได้ของเอกชนคู่สัญญา ที่จะต้องมีการนำรายได้ดังกล่าวมาแบ่งให้แก่ รฟท. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 8
2) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องดำเนินการกำหนดให้นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาว่าจ้างผู้รับจ้างที่ถูกใช้ประสบ การณ์ตามที่ระบุในข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอเท่านั้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 36
3) หากผู้สนับสนุนทางการเงินของนิติบุคคลให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษากำหนด เอกชนคู่สัญญาจะเข้าทำสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงินซึ่งเป็นการเข้าทำระหว่างเอกชนคู่สัญญา นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา และผู้สนับสนุนทางการเงินของนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา โดยสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงินดังกล่าวจะต้องมีรูปแบบและเนื้อหาเป็นไปตามสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงิน
4) ในกรณีที่นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาดำเนินการที่มีลักษณะเป็นเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 27 เอกชนคู่สัญญาตกลงที่จะเข้าควบคุมการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ในส่วนที่ให้สิทธิช่วงแก่นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา และหากผู้สนับสนุนทางการเงินของนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาได้แจ้งความประสงค์ให้เอกชนคู่สัญญาทราบถึงการจะใช้สิทธิแก้ไขเยียวยาโครงการและ/หรือ ใช้สิทธิเสนอนิติบุคคลที่เข้าแทนที่เพื่อเข้ามารับโอนสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะให้ความร่วมมือแก่ผู้สนับสนุนทางการเงินของนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาในการใช้สิทธิดังกล่าว โดยนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงินมาใช้บังคับโดยอนุโลม
5) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องดำเนินการกำหนดให้สัญญาให้สิทธิช่วงแก่นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษามีข้อกำหนดเกี่ยวกับกลไกควบคุมการจัดเก็บรายได้ที่เกิดขึ้นจากการได้รับสิทธิช่วงอย่างรัดกุม เพื่อมิให้มีการรั่วไหลหรือยักย้ายถ่ายเท โดยต้องให้ รฟท. สามารถเข้าตรวจสอบได้ ตลอดจนมีข้อกำหนดที่ระบุอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย
ก) นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษามีหน้าที่ดำเนินการให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ เฉพาะในส่วนที่ได้รับสิทธิช่วง โดยจะต้องมีการระบุหน้าที่ของนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาให้เหมือนกันกับหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาที่มีการให้สิทธิช่วง ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน
ข) นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษามีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ รวมถึงข้อมูลรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการได้รับสิทธิช่วงในส่วนของการให้บริการเดินรถแบะบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และงบการเงินประจำปีของนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษาที่มีการตรวจสอบและรับรองโดยบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเสียง ให้แก่เอกชนคู่สัญญา เพื่อที่เอกชนคู่สัญญาจะได้นำส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ รฟท.
ค) นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษามีหน้าที่ต้องว่าจ้างผู้รับจ้างที่เอกชนคู่สัญญาใช้ประสบการณ์ตามที่ระบุในข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ โดยให้นำข้อ 36 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ง) นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษามีหน้าที่ต้องดำเนินการใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4.3(2)(ฐ)
อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ การเกาะติดในสัญญารัฐที่ทำไว้กับเอกชนเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาใส่ใจ ฉบับหน้ามาดูว่าเอกชนจะมีหน้าที่อะไร เราบอกไว้แล้วว่าเราจะเกาะติดประวัติศาสตร์ในสัญญารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน....อย่าลืมนะครับ!!!