คอลัมน์ทางออกนอกตำ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3495 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'
ประวัติศาสตร์การประมูล(4)
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด
คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร ที่ผ่านด้านเทคนิคมาแล้ว เมื่อเปิดซองด้านการเงินพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ อยู่มาก กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล
คณะกรรมการฯ เรียกกลุ่มซีพีมาเจรจาต่อรองกันมาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.61 และเริ่มสรุปผลการประมูลมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 7 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน
อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไม “เอกชน-รัฐ” จึงมีการยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้
สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นรายละเอียดเป็นอย่างไร ติดขัดตรงไหน มีอะไรในกอไผ่มาติดตามกันในร่างสัญญาตอนที่ 4 ซึ่งว่าด้วย เอกชนจะมีหน้าที่อะไร ณ ที่นี้ ....
6) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องนำส่งร่างสัญญาให้สิทธิช่วงแก่นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา ให้แก่ รฟท.อย่างน้อยเก้าสิบ (90) วัน ก่อนที่จะมีการลงนามเพื่อให้ รฟท. อนุมัติร่างสัญญาดังกล่าว และในกรณีที่ รฟท.เห็นว่ายังไม่ครบถ้วนตาม 5) หรือมีความจำเป็นเพื่อให้การดำเนินโครงการฯสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดย รฟท. ได้พิจารณาประกอบกับความสำเร็จในการจัดหาแหล่งเงินทุน
ของเอกชนคู่สัญญาแล้ว รฟท. มีสิทธิแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาแก้ไขร่างสัญญาดังกล่าวทั้งนี้ เมื่อได้ลงนามทำสัญญาแล้ว เอกชนคู่สัญญาต้องส่งสำเนาให้ รฟท.ภายในสามสิบ(30) วัน หากปรากฏว่าสัญญามีความแตกต่างจากร่างที่ รฟท.อนุมัติแล้ว ให้การอนุมัติการให้สิทธิช่วงของ รฟท.เป็นอันสิ้นผล
7) เอกชนคู่สัญญาไม่หลุดพ้นจากความรับผิดและพันธะหน้าที่ตามสัญญาร่วมลงทุนในส่วนการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟแต่อย่างใด และเอกชนคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบการกระทำของนิติบุคคลผู้ให้บริการและบำรุงรักษาเสมือนหนึ่งว่าการกระทำนั้นเป็นของเอกชนคู่สัญญา
“ในการอนุมัติให้เอกชนคู่สัญญาให้สิทธิช่วงในส่วนของการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟให้กับนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา รฟท. จะอนุมัติก็ต่อเมื่อปรากฏว่าเป็นประโยชน์ของโครงการฯ หรือเป็นประโยชน์ในการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ หรือประโยชน์ในการระดมทุนตามสัญญาจัดหาเงินสนับสนุนตลอดจนเป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงของโครงการฯ และต่อผลประโยชน์ตอบแทนที่ รฟท. พึงได้รับตามสัญญานี้รวมทั้ง รฟท.ได้อนุมัติร่างสัญญาดังกล่าวข้างต้นแล้ว”
หมวดต่อมา (3) แหล่งเงินทุนและการลงทุนของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย (ก) แหล่งเงินทุนและการลงทุนของ รฟท. รฟท. จะดำเนินการดังต่อไปนี้
1) รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ แก่เอกชนคู่สัญญาโดยมีเงื่อนไขในการชำระเงินดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในข้อ 18
2) รฟท. จะจัดหาและส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯให้เอกชนคู่สัญญาตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 24.2 และ
3) รฟท. จะใช้ความพยายามอย่างสมเหตุสมผลในการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เอกชนคู่สัญญาได้รับสิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายอื่นๆ
(ข) แหล่งเงินทุนและการลงทุนของเอกชนคู่สัญญา นอกเหนือจากเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาจะจัดหาเงินทุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนของโครงการฯเพื่อใช้ในการลงทุนและดำเนินโครงการฯ โดยตลอดระยะเวลาของโครงการฯเอกชนคู่สัญญาจะดำรงรักษาสัดส่วนอัตราหนี้สินต่อทุน ( Debt to Equity ratio: D/E ) ไม่เกิน 4 ต่อ 1
นอกจากนี้ เอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งมอบเอกสารดังต่อไปนี้เพื่อแสดงว่าเอกชนคู่สัญญามีทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละช่วงระยะเวลา ดังต่อไปนี้
1) สำเนารับรองถูกต้องของหนังสือบริคณห์สนธิของเอกชนคู่สัญญาและสำเนารับรองถูกต้องของสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของเอกชนคู่สัญญา เพื่อแสดงว่าเอกชนคู่สัญญามีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่าสี่พันล้าน (4,000,000,000) บาท โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งมอบให้ รฟท. ในวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับ และ
2) สำเนารับรองถูกต้องของหนังสือบริคณห์สนธิของเอกชนคู่สัญญาและสำเนารับรองถูกต้องของสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของเอกชนคู่สัญญา เพื่อแสดงว่าเอกชนคู่สัญญามีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่าสองหมื่นห้าพันล้าน(25,000,000,000) บาท โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งมอบให้ รฟท. ภายในวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1 (2)
คราวนี้มาดูเรื่องข้อ 5 ระยะเวลาของโครงการ
5.1 ระยะเวลาการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูง มีระยะเวลาห้าสิบ (50) ปี โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาดังกล่าวดังต่อไปนี้
(1) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเท่ากับระยะเวลาห้า (5) ปี หรือ ระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟท. ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15.1 (1) (ฉ) โดยจะนับจากวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ จนถึงวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบ และ
(2) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเท่ากับระยะเวลาสี่สิบห้า (45) ปี นับจากวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่วันที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบ
5.2 เว้นแต่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาร่วมลงทุน ระยะเวลาการดำเนินงานอื่นภายใต้โครงการฯ (นอกเหนือจากรถไฟความเร็วสูง) มีรายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาดังกล่าวดังต่อไปนี้
(1) แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ระยะเวลาการดำเนินแอร์พอร์ต เรลลิงค์ สามารถแบ่งออกได้เป็นสอง (2) ระยะดังต่อไปนี้
(ก) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เท่ากับระยะเวลาสอง (2) ปีหรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟท.ตามข้อ 15.2(1) (ข) 3) โดยจะนับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ และ
(ข) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ
(2) แอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ระยะเวลาการดำเนินแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย สามารถแบ่งออกได้เป็นสอง (2) ระยะดังต่อไปนี้
(ก) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยายเท่ากับระยะเวลาห้า (5) ปี หรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟท. ตามข้อ 15.1(1) (ฉ) โดยจะนับจากวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ จนถึงวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย และ
(ข) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายจะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายจนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ
(3) การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ
ระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เท่ากับระยะเวลาห้าสิบ(50) ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของการพัฒนาพื้นที่
กลับมาตามต่อกันนะครับ