ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กต้องเดินสายพบภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาหนักอกของผู้ผลิตเหล็ก นับจากที่หลายปัญหารุมเร้ามาเป็นเวลานานติดต่อหลายปี ทั้งที่ “เหล็ก” เป็นวัตถุดิบขั้นพื้นฐานที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์
ที่สำคัญที่ผ่านมาไทยถูกจัดเป็นผู้นำเข้าสุทธิรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ปี2561 ไทยมีปริมาณการบริโภคสินค้าเหล็ก 19.3 ล้านตัน แต่กลับพบว่าเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน โดยเหล็กในประเทศมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียง 38% หรือผู้ผลิตแต่ละรายมีการผลิตได้ไม่ถึง 40%ภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กกลายเป็นปัญหาวิกฤตหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องเจอกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น จนในที่สุดผู้ประกอบการรายเล็กหลายรายปิดกิจการ หลายรายแห่ลดกำลังผลิต และหลายรายลดขนาดการผลิตลงและหันไปนำเข้าแทน!
ล่าสุด 7 สมาคม ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย , สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย ,สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น , สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า , สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน , สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ,สมาคมโลหะไทย ที่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย รวมสมาชิก 472 บริษัท สรุปรวบรวมปัญหาส่งตรงถึงมือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฉายภาพให้เห็น 3 ต้นตอหลัก ที่ทำให้การแข่งขันของไทยไม่อยู่ในสถานะที่แข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
-ต้นเหตุเหล็กป่วนทั้งระบบ
3 ต้นตอแห่งปัญหาที่ว่านั้น เริ่มตั้งแต่ 1. China Subsidy (การอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม) โดยจีนดำเนินนโยบายที่ช่วยอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศจำนวนมาก โดยมีนโยบายหลักๆ เช่น การให้เงินช่วยเหลือ และเงินลงทุน , การแปลงหนี้เป็นทุน , การชดเชยค่าวัตถุดิบ ,การคืน อากรกรณีส่งออก และการอุดหนุนพลังไฟฟ้าราคาถูก จากการประเมิน รัฐบาลจีนให้การอุดหนุนเป็น มูลค่ากว่า 318 พันล้านหยวนต่อปี หรือกว่า 1.78 ล้านล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ความเป็นจริง และต่ำกว่าประเทศอื่นๆที่ไม่มีการอุดหนุน
2. US Section 232 และ Trade war วันที่ 23 มี.ค. 61 สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้ Section 232 กับทุกประเทศ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อ จัดการปัญหาเหล็กนำเข้าจากจีน ที่มีการทุ่มตลาด การอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ส่งผลให้สินค้าเหล็กล้นทะลักไปยังประเทศอื่นๆแทน และไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักเนื่องจากมี ปริมาณการบริโภคเหล็กที่สูง และมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3. EU Safeguard (สินค้าเหล็ก 28 รายการ) EU ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กอย่างรวดเร็ว โดยวันที่ 26 มี.ค. 61 เปิดไต่สวนมาตรการ SG สินค้าเหล็ก 26 รายการ (เพิ่มเติมภายหลัง 2 รายการ) เพื่อป้องกันสินค้าเหล็กที่ถูกสหรัฐฯใช้มาตรการ 232 หลั่งไหล เข้าสู่ EU โดยได้ประกาศผลชั้นที่สุดเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 62
จากปัญหาดังกล่าว สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กที่ผลิตในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างถ้วนหน้า อยู่ที่ว่าประเทศไหนจะรับแรงเสียดทานนี้ได้ ซึ่งในหลายประเทศให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก เช่น กรณีสหรัฐอเมริกากำหนด เป้าหมายการใช้อัตรา กำลังการผลิตต้องไม่ต่ำกว่า 80% ด้วยการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความ เข้มแข็งและรักษาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไว้ ดังที่ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ว่า “หากคุณไม่มีเหล็ก คุณ ไม่มีประเทศ” (If you don’t have Steel, you don’t have a Country)
ส่วนประเทศอินเดียมีการจัดตั้งกระทรวงเหล็ก (Ministry of steel) ขึ้นมาเพื่อดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ หรือกรณีประเทศเกาหลีใต้ที่มุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจริงจังในสมัยการบริหารประเทศของนาย พลปาร์คจุงฮี ได้เคยกล่าวคำขวัญว่า “เหล็กคืออำนาจแห่งชาติ” (Steel is national power) จนเติบโต และสามารถก้าวขึ้นเป็นอุตสาหกรรมเหล็กชั้นนำของโลกในปัจจุบันได้ เป็นต้น
-อัตราอากรADและSGไม่รุนแรง
ในขณะที่ไทย ปล่อยให้ปัญหาสะสมมาจนถึงวันนี้ หลายปัญหารัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ถูกมองว่าเข้ามาดูแลอุตสาหกรรมนี้ล่าช้าไป ไม่ทันเหตุการณ์ และเครื่องมือบางตัวก็ยังไม่นำออกมาใช้ เช่น มาตรการCVD(มาตรการตอบโต้การอุดหนุน) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างเหล็กก่อนเป็นลำดับต้นๆ อีกทั้งเครื่องมือที่งัดออกมาใช้ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือAD และมาตรการปกป้อง(Safeguard:SG) ยังไม่รุนแรง เพราะมีอัตราเพดานภาษีเรียกเก็บต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศอย่างแคนาดามีมาตรการเอดีสินค้าท่อเหล็กจากจีนสูงตั้งแต่อัตรา 74-351.1% ขณะที่ไทยเพดานการจัดเก็บอยู่ที่ 3.22-66.01% หรือเอดีสินค้าเหล็กลวดจากจีนสหรัฐเรียกเก็บตั้งแต่ 106.19-110.25% แต่ไทยเรียกเก็บที่ 12.26-36.79% เช่นเดียวกับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน ที่อินเดียเรียกเก็บตั้งแต่ 489-561% แต่ไทยเรียกเก็บที่อัตราภาษีเพียง30.91%
ผลกระทบจาก สินค้านำเข้าที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย จนถึงวันนี้สรุปให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า 1.สินค้าเหล็กที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 232 ถูกส่งมายังไทย ปี 2561 ปริมาณนำเข้าสุทธิเพิ่มขึ้น 8% ในขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 1%
2.อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ ในปี 2561 ลดลงเหลือเพียง 38% (-2% YoY) สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็น 78% (+4% YoY) 3. สัดส่วนการบริโภคสินค้าเหล็กในประเทศ ปี 2561 ลดลงเหลือเพียง 38% (-3% YoY) 4. ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาวะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ 5. หากไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ จะต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มเป็นกว่ามูลค่ากว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี และส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศประมาณ 73,000 ล้านบาท และ6. มีความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานทางตรง และทางอ้อมในอุตสาหกรรมเหล็กรวมประมาณ 100,000 คน
จากต้นตอของปัญหา 3 ส่วนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้สินค้าเหล็กแต่ละชนิด ถูกมารวมศูนย์อยู่ในประเทศไทย เช่น เหล็กจากจีนส่งไปอเมริกาไม่ได้ก็ส่งมาไทย ส่งมาเวียดนาม พอยุโรปเปิดเซฟการ์ดสินค้าส่งไปยุโรปไม่ได้ก็หันหัวเรือมาไทย
ดูจากรายชื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยทั้ง 7 สมาคมที่มาร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ประกอบไปด้วย นายพงศ์เทพ เทพบางจาก ตัวแทนสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ,นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ,นายเภา บุญเยี่ยม ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์ตไฟฟ้า ,นายณรงค์ฤทธิ์ โชตินุชิตตระกูล นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย, นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย, นายมนชัย เรืองศรีนุกูลกิจ นายกสมาคมโลหะไทย นายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหารสถาบันเหล็กไทย และนายวิน วิริยะประไพกิจ ประธานสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะแกนนำ 7 สมาคมเหล็ก ล้วนเป็นเซียนแห่งวงการเหล็ก!
สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล
วิน วิริยะประไพกิจ
วรพจน์ เพียรอภิธรรม
-เอกชนกอดคอถกปัญหา
วันนี้สลัดภาพคู่แข่งทางธุรกิจพากันกอดคอจัดแถวพร้อมใจสะท้อนปัญหา และขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กไทยทั้งเรื่องโอเวอร์ ซัพพลาย (Over Supply) ในเหล็กบางประเภท จนเข้าขั้นวิกฤตจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ ประเทศจีน ที่ดำเนินนโยบายช่วยอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็ก (China Subsidy) ในประเทศจำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าความเป็นจริง การเข้ามาขยายตลาดในประเทศไทยของประเทศจีนและอินเดีย รวมถึงปัจจัยทางด้านสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และมาตรการเซฟการ์ดของอียู (EU Safeguard) กับสินค้าเหล็ก 28 รายการ ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ที่กำลังการผลิตมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อนายจุรินทร์ ได้รับทราบปัญหา และรับปากพร้อมจะดำเนินการเร่งรัดโดยเฉพาะประเด็นความล่าช้าของกฏหมายอนุบัญญัติเพื่อให้พร้อมใช้ทันกับพระราชบัญญัติตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่2) พ.ศ.2562 ตามกำหนดภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ รวมถึงการปรับแก้กระบวนการไต่สวน ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องผู้ประกอบการเหล็กภายในประเทศ
นายจุรินทร์จะทำได้ตามที่รับปากหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม อุตสาหกรรมเหล็กที่วันนี้ถูกเวียดนามแซงหน้าไปแล้วเพราะมีโรงถลุงเองในประเทศ ในขณะที่ไทย หากภาครัฐยังไม่รีบแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน บทบาทของอุสาหกรรมเหล็กไทยจะกลายเป็นผู้นำเข้าแทนก็อาจเป็นได้
แต่ที่แน่ๆเหล็กสายพันธุ์จีนกำลังแพร่ระบาดในไทยทั้งในรูปการนำเข้าและกำลังจะยึดฐานผลิตไทยตั้งหน่วยผลิตถึงที่ ขายดิบขายดีทั้งรายที่เข้ามาลงทุนแล้วและกำลังจะเกิดการลงทุนใหม่ น่าจับตา!!!!
คอลัมน์ : Let Me Think
โดย : TATA007