คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3500 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ
สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
ประวัติศาสตร์การประมูล(9)
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มซีพีแต่อย่างใด
อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไมยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้
สัญญาที่ติดขัดตรงไหน มาติดตามร่างสัญญาตอนที่ 9 ว่าด้วยเรื่อง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯตลอดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ เอกชนคู่สัญญามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวได้หรือไม่
สัญญาในข้อ 7.4 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯกำหนดว่า
ตลอดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญ ในงานโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ที่ใช้ในการดำเนินการนั้น โดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กรณีครบระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ (Build-Operate-Transfer: BOT) โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา และเอกชนคู่สัญญาจะเตรียมการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบการครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31.2
(2) กรณีสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดก่อนครบระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท.ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ (Build-Operate -Transfer : BOT) โดย รฟท. จะชำระค่าตอบแทนให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2 โดยเอกชนคู่สัญญาจะเตรียมการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบการครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31.2
7.5 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ กำหนดว่า
ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ เอกชนคู่สัญญามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมดที่ใช้ในการดำเนินการนั้นโดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สามารถรับโอนได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กรณีครบระยะเวลาของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใด ๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา และเอกชนคู่สัญญาจะเตรียมการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบการครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31.1
(2) กรณีสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลงก่อนครบระยะเวลาของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในช่วงระยะเวลาเตรียมการส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ โดย รฟท. จะชำระค่าตอบแทนให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2 โดยเอกชนคู่สัญญาจะเตรียมการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบการครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31.1
7.6 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ
กรณีงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว ให้แก่ รฟท. ภายในระยะเวลาพอสมควรตามที่ รฟท.กำหนดภายหลังจากวันที่ รฟท. ออกหนังสือรับรองการก่อสร้างงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯในแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(5) โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใด ๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา (Build-Operate-Transfer : BOT)
เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญ ให้แก่ รฟท. แล้ว รฟท. จะส่งมอบสิทธิครอบครองในงานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับสำหรับพื้นที่มักกะสันให้แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ หากเอกชนคู่สัญญาดำเนินงานการออกแบบและงานการก่อสร้าง หรือจัดหางานโยธาร่วมของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนงานทางแยกต่างระดับสำหรับพื้นที่มักกะสันมาเพิ่มเติม
เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ รฟท. ในทันทีที่มีการก่อสร้างเสร็จและทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมใช้งาน โดย รฟท. ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่เอกชนคู่สัญญา และเอกชนคู่สัญญามีสิทธิใช้ทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ
8. ผลประโยชน์ตอบแทนระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา และมาตรการสนับสนุนโครงการฯ กำหนดไว้ดังนี้
8.1 ผลประโยชน์ตอบแทนของ รฟท.
เพื่อตอบแทนการได้รับสิทธิให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯคู่สัญญาตกลงให้รฟท. มีสิทธได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากโครงการฯดังต่อไปนี้
(1) ในระหว่างระยะของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(2) และ/หรืองานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2(2) รฟท. มีสิทธิได้รับรายได้บางส่วน ( Revenue Sharing) ไม่รวมถึงค่าให้สิทธิแก่นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา (หากมี) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 2 (ผลประโยชน์ตอบแทนระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา) ภาคผนวกหมายเลข 2 (หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) โดยคู่สัญญามีหน้าที่ต้องนำส่งรายได้ที่ รฟท. มีสิทธิได้รับดังกล่าวให้แก่ รฟท.ภายในสามสิบ (30) วัน นับจากวันที่ รฟท. ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเงินค่าโดยสารที่เกิดขึ้นทั้งหมดของปีนั้นจากเอกชนคู่สัญญา
และหากเป็นกรณีที่ รฟท. เห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดของปีใดไม่ถูกต้องและ รฟท. มีสิทธิได้รับชำระผลประโยชน์ตอบแทนของปีนั้นจากเอกชนคู่สัญญาเพิ่มขึ้น ให้คู่สัญญาดำเนินการตามข้อ 8.2
นี่คือเงื่อนไขของแอร์พอร์ตเรลลิงค์ครับ อย่าเพิ่งเบื่อหรือว่าอย่าเลิกติดตามกันนะครับ เราต้องรู้ในเรื่องประโยชน์สาธารณะครับ!
ฉบับหน้ามาเกาะติดเรื่องนี้กันต่อนะครับ
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (8)