อ่าวเบงกอล โอกาสการค้า-การลงทุน แห่งอนาคตของผู้ประกอบการไทย

09 ต.ค. 2562 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2562 | 11:40 น.

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10-12 ตุลาคม 2562

 

ผมและเพื่อนอาจารย์ได้รับทุนจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ให้ทำวิจัยในโครงการพัฒนานโยบายเพื่อการขยายผลการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาจากกรอบเขตการค้าเสรี BIMSTEC ของประเทศไทย

โดย BIMSTEC หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic 
Cooperation) ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฏาน ทั้ง 7 ประเทศสมาชิก สามารถสรุปและลงนามข้อตกลงการค้าสินค้าเสรีระหว่างกันไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561

อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าวคงจะยังไม่เกิดขึ้น ตราบใดก็ตามที่ประเทศสมาชิกยังไม่สามารถสรุปการเจรจาในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยโอกาสการค้าการลงทุนที่เปรียบเสมือนปากประตูสู่ ภูมิภาคเอเชียใต้ฉบับนี้ไปได้

จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล ร่วมกับการระดมสมองทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศร่วมกับนักการทูต ภาคธุรกิจ และนักวิชาการในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ทำให้พวกเราคณะผู้วิจัยสรุปร่วมกันได้ว่า อ่าวเบงกอลคือโอกาสการค้าและการลงทุนแห่งอนาคตของผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้


 

 

ภูมิภาคอ่าวเบงกอลเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP รวมกันสูงกว่า 3.620 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2018 โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่าง GDP nominal และ GDP PPP จะพบว่าประเทศสมาชิกในกลุ่ม BIMSTEC ล้วนเป็นประเทศที่มีระดับค่าครองชีพที่ตํ่า ทำให้ มูลค่าของ GDP PPP มีมูลค่าสูงกว่า GDP nominal ในทุกประเทศสมาชิก และหากพิจารณาจากค่า GDP PPP ซึ่งหมายถึงขนาดของเศรษฐกิจที่มีการปรับระดับมาตรฐานค่าครองชีพแล้ว อินเดีย จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยมูลค่า 10.498 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รองจากอันดับ 1 คือ จีน และอันดับ 2 สหรัฐอเมริกา)

 

อ่าวเบงกอล  โอกาสการค้า-การลงทุน  แห่งอนาคตของผู้ประกอบการไทย

 

ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของทุกประเทศในกลุ่ม BIMSTEC อยู่ที่ระดับสูงกว่า1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี (ยกเว้นเนปาล ที่ระดับ 918.9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี) นั้นทำให้ทุกประเทศสมาชิกในกลุ่ม BIMSTEC เป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง โดยเฉพาะไทยและศรีลังกาซึ่งอยู่ในกลุ่มบนของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง (มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี) ซึ่งธนาคารโลกเพิ่งจะเลื่อนขั้นให้ศรีลังกาขึ้นมาอยู่ในระดับ Upper-Middle Income Country ในปี 2019 นี้เอง

เมื่อพิจารณาถึงกำลังแรงงาน ทุกประเทศในภูมิภาคต่างมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labour Force Participation Rate, ร้อยละของประชากรที่มีอยู่ในกำลังแรงงาน) ในอัตราสูงเกินกว่า 50% นั่นหมายความว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรของแต่ละประเทศยังอยู่ในวัยแรงงานและพร้อมที่จะทำงาน โดยมีบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดียที่ยังมีอัตราการว่างงานในระดับสูงที่ประมาณ 4-6%

เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม BIMSTEC (ยกเว้นประเทศ ไทย) พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 55-70.8% ของมูลค่าผล ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

นั่นหมายความว่าปัจจัยภายนอกจากการค้าและการ ลงทุนระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่มากนัก เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยภายใน และยังหมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้เปิดสู่ตลาดการค้าของโลกมากนัก พิจารณาได้จากมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่สูงสุดเพียงไม่เกิน 29.9% และ 49.55% ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่า BIMSTEC คือตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อ มีอัตราการเจริญเติบโตสูง เป็นทั้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งยังมีระยะทางไม่ไกลจากประเทศไทย

 และในขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย และทุกประเทศสมาชิกต่างก็กำลังตื่นตัวในการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน หลังจากความไม่สงบเรียบร้อยในหลายประเทศสมาชิกได้คลี่คลายไปแล้ว

ในสัปดาห์ต่อๆ ไป ผมจะทยอยนำเอาผลการศึกษาจากโครงการวิจัยฉบับนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ ว่าโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีโอกาสอย่างไรในตลาดแห่งนี้

 

อ่าวเบงกอล  โอกาสการค้า-การลงทุน  แห่งอนาคตของผู้ประกอบการไทย