คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,516 วันที่ 24-26 ตุลาคม 2562
เพื่อร่วมแสดงความยินดีแด่ Abhijit Banerjee, Esther Duflo และ Michael Kremer นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้ วันนี้เราจะมาเล่าสู่กันฟังว่า ทำไมผลงานของทั้ง 3 ท่านที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้สรุปคุณูปการว่า “เป็นการใช้วิธีการทดลองเพื่อช่วยบรรเทาความยากจน” ถึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางวิชาการในสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (development economics) และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
หนึ่งในคำถามหลักทางเศรษฐศาสตร์ ที่ก่อให้เกิดสาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาขึ้น ก็คือ “เพราะเหตุใดบางประเทศหรือบางคนจึงรํ่ารวย หรือยากจน” คำถามนี้ไม่ได้มีความสำคัญในเชิงวิชาการในการอธิบายปรากฏ การณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนในโลกอีกด้วย ที่ผ่านมาทฤษฎีและการพิสูจน์ทฤษฎีโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ (observational data) และการประเมินผลจากนโยบายที่เกิดขึ้นแล้ว (policy evaluation) ทำให้เราเข้าใจปัจจัยและกลไกที่ช่วยบรรเทาความยากจนมากขึ้นในระดับหนึ่ง เช่น การศึกษาก่อให้เกิดทุนมนุษย์ที่เพิ่มทั้งโอกาสในการทำงานและรายได้ของบุคคล และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และนโยบายที่สร้างโรงเรียนและขยายระดับการศึกษาขั้นตํ่าก็มีส่วนช่วยในการเพิ่มทุนมนุษย์
แต่ทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ดังกล่าว ก็ไม่เพียงพอที่จะตอบคำถาม หรือให้คำแนะนำในการออกแบบนโยบายในระดับที่ละเอียดและลึกลงไป เช่น ทำไมเมื่อเด็กๆ ไปโรงเรียนแล้ว เรากลับไม่พบการเพิ่มขึ้นของการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการสะสมทุนมนุษย์ ทำไมคนถึงไม่ไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลแม้ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำไมคนถึงไม่หันมาปลูกพืชชนิดใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตดีกว่า ฯลฯ และจะทำอย่างไรเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น มองดูผิวเผิน คำถามเหล่านี้เป็นคำถามระดับนโยบายในแง่การบริหารจัดการ ไม่น่าจะเป็นที่น่าสนใจในแวดวงวิชาการ แต่ Abhijit Banerjee, Esther Duflo และ Michael Kremer เห็นว่าคำถามเล็กๆ เหล่านี้สำคัญมากในการขจัดปัญหาความยากจน และแก้ไขปัญหาไมล์สุดท้าย (the last mile problem) อีกทั้งยังมีความสำคัญในแง่วิชาการ ที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และทฤษฎีแรงจูงใจที่สำคัญมากในเศรษฐศาสตร์อีกด้วย
แล้วเราจะตอบปัญหาเหล่านี้อย่างไร? จริงๆ แล้วที่ผ่านมาผู้ปฏิบัตินโยบายผู้คลุกคลีอยู่กับปัญหาในประเทศกำลังพัฒนาก็มีการแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งหลายครั้งก็ประสบความสำเร็จ เช่น การส่งเสริมการปลูกผลไม้เศรษฐกิจแทนฝิ่นของโครงการหลวง แต่การแก้ปัญหายังขาดการออกแบบเพื่อเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเพื่อนำมาวิเคราะห์ในเชิงปริมาณเพื่อหาสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จจึงเป็นการยากที่จะนำไปใช้ต่อในบริบทอื่นๆ
เพื่อขจัดปัญหาความยากจน และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางวิชาการอย่างเป็นระบบ Abhijit Banerjee, Esther Duflo และ Michael Kremer ได้บุกเบิกการนำการทดลองแบบวิทยาศาสตร์ที่ใช้วิธีสุ่ม (randomised control trial) ในการเลือกตัวอย่างการทดลอง และการแบ่งกลุ่มออกเป็น control group (กลุ่มควบคุม) และ treatment group (กลุ่มที่ได้รับการทดลองหรือนโยบาย) มาใช้ตอบคำถามทางเศรษฐศาสตร์และนโยบาย
โดยมีการทดสอบเบื้องต้นว่าก่อนได้รับนโยบาย ทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีลักษณะพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามที่ควรจะเป็นจากการสุ่ม เพื่อที่ว่าเมื่อทำการทดลองแล้ว หากพบว่ามีผลที่ต่างกันใน 2 กลุ่ม เราจะได้สามารถบอกสาเหตุได้ว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นมาจากนโยบายที่ทดลอง ไม่ใช่จากปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ
ที่สำคัญ การทดลองนี้จะทำในสิ่งแวดล้อมจริง กับผู้คนที่นโยบายต้องการส่งผลกระทบจริง เราจึงเรียกวิธีนี้ว่า field experiment field experiment แรกนั้นบุกเบิกโดย Michael Kremer เขาต้องการทราบว่าการขาดแคลนทรัพยากรในโรงเรียน ทำให้ผลการเรียนของเด็กๆ ไม่ดีหรือไม่ จึงแบ่งโรงเรียนที่มีลักษณะคล้ายกันในเคนยาตะวันตกโดยการสุ่มออกเป็นกลุ่มที่ได้รับหนังสือเรียน ได้รับอาหารกลางวัน และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรเพิ่มเติม
เมื่อทดสอบผลการเรียนรู้ปรากฏว่าทรัพยากรที่เพิ่มเติมไม่ได้ทำให้ผลการเรียนรู้ของเด็กๆ สูงกว่ากลุ่มควบคุมแต่อย่างใด จากการทดลองซํ้าๆ ในหลายๆ ประเทศ ทำให้ปัจจุบันเราเรียนรู้ว่าทรัพยากรอาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาพื้นฐานในประเทศยากจน และจากการทดลองจาก Abhijit Banerjee และ Esther Duflo ทำให้เราเรียนรู้ว่า การขาดแรงจูงใจของครูในการสอน และการสอนที่ไม่ตรงกับระดับการเรียนรู้ของเด็ก เป็นปัญหาสำคัญ และนโยบายที่ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมาก
เช่น การใช้ครูผู้ช่วยในการช่วยสอนเด็กที่ตามการเรียนไม่ทันแทนการลดขนาดชั้นเรียน ทำให้ผลการเรียนรู้โดยเฉลี่ยของเด็กๆ ดีขึ้น ในด้านสาธารณสุข จาก field experiment พวกเขาพบว่าราคาและคุณภาพของการบริการเป็นเรื่องสำคัญในการเลือกรับบริการสำหรับคนยากจน เช่น พ่อแม่จะให้ยาถ่ายพยาธิแก่เด็กมากขึ้นถึง 57% ถ้าไม่เสียค่าใช้จ่าย คนจะเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้นถ้ามีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาในละแวกที่อาศัย และมากขึ้นอีกถ้ามีแรงจูงใจเป็นการได้รับสิ่งของที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จาก field experiment พวกเขาพบว่า microcredit ที่ให้ทุนกับคนยากจน ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มการบริโภคและคุณภาพชีวิตด้านอื่น และมีผลน้อยมากในการเพิ่มการลงทุน
ปัจจุบัน มีนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาจำนวนมากที่ใช้ field experiment ในการวิจัย และผลจากการวิจัยยังถูกนำไปใช้ในนโยบายขนาดใหญ่ บางครั้งสมมติฐานที่เรามีก็ถูกหักล้างจากการทดลอง บางครั้งเราก็พบอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิด แต่ทุกการทดลองที่ออกแบบมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ช่วยให้เราเข้าใจการตัดสินใจของเพื่อนมนุษย์ได้ดีขึ้น และช่วยในการวางรากฐานนโยบายเพื่อช่วยในการต่อสู้กับความยากจน ลักษณะงานวิจัยที่บุกเบิกโดย Abhijit Banerjee, Esther Duflo และ Michael Kremer ไม่เพียงแต่มีคุณค่าทางวิชาการ แต่ยังสำคัญต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์อื่นโดยตรงด้วย ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงพระราชดำรัส ในสมเด็จพระราชบิดาที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริง มิได้อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น หากแต่อยู่ที่การประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ”