พรรคการเมืองของประชาชน
สิ่งที่ประชาชนจะได้ยินเสมอเมื่อบ้านเมืองของเรา กลับเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญคือ จะเห็นพรรคการเมืองทุกพรรค มักจะบอกว่าพรรคการเมืองของตน เป็น “พรรคตัวแทนของประชาชน” ซึ่งเมื่อฟังดูผิวเผินก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะทุกพรรคการเมืองย่อมมาจากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ แต่หากถามว่าพรรคการเมืองนั้นๆ ถือว่าเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอีกมากมายหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ที่จะมีหลักในการพิจารณาอย่างไร เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ถูกหลอกให้หลงเชื่อ และหลงฝากความหวัง จนท้ายที่สุดก็ผิดหวัง จากพรรคการเมืองที่ตนมอบความไว้วางใจให้
ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่ขยันสร้างวาทกรรม สร้างกิจกรรมว่า พวกเขาเป็นพรรคการเมืองตัวแทนของประชาชนคนรุ่นใหม่ เป็นพรรคแนวประชาธิปไตย ที่ต้องการเปลี่ยน แปลงสังคมไปสู่ความก้าวหน้าในทุกๆด้าน สิ่งที่พวกเขาพูดและป่าวโฆษณานี้ จะเชื่อถือได้หรือไม่ เราควรมีหลักพิจารณาอย่างไร ประเด็นนี้บอกตรงๆสำหรับผู้เขียน ยังไม่เชื่อครับจนกว่าจะได้พิสูจน์ โดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณาดังนี้
1. พิจารณาจากองค์ประกอบ และที่มาของมวลสมาชิกพรรค ว่าสมาชิกพรรค ประกอบด้วยคณะบุคคล ที่มีเกียรติประวัติอย่างไร เคยทำงานประสบความสำเร็จที่ดีในแต่ละด้านอย่างไรบ้าง และมีประวัติการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมในสังคมมาอย่างไร เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนมาแล้วแค่ไหนเพียงใด
2. หลักอุดมการณ์ แนวคิด และแนวทางการทำงาน กับนโยบายของพรรค สอดคล้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่ ปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และพรรคนั้นยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างแน่วแน่แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นพวกปากประชาธิปไตยแต่ใจเผด็จการ แต่แอบแฝงแนวคิดอื่นอยู่ข้างหลัง
3. การรับสมาชิกพรรค มีการพิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกอย่างไร เพื่อให้ได้คนดี มีหลักอุดมการณ์ ตามจุดยืน และแนวทาง นโยบายของพรรค มวลสมาชิกพรรคทั้งหลายเหล่านั้น ได้ผ่านการทำงานและการทดสอบในการปฏิบัติงาน จนเป็นที่ยอมรับเชื่อถือไว้วางใจ ในความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ เสียสละตนเองเพื่อประชาชน โดยแท้จริงแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
4. พรรคการเมืองนั้นๆ ได้ก่อตั้งมาเป็นเวลายาวนานเท่าใด ได้ผ่านการยืนหยัดต่อสู้ ผ่านการทดสอบพิสูจน์ตนเองเป็นเวลาพอสมควร จนเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้หรือไม่ ว่าจะยืนหยัดรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจริงหรือไม่ หรือตั้งพรรคมาแค่ชั่วข้ามเดือนปี แบบวัยรุ่นใจร้อน อยากได้อำนาจรัฐอยากเป็นใหญ่ มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในทันใด โดยมีคนชักใยอยู่ข้างหลังบ้างไม่ทราบ
5. ความมีวินัยและความเป็นเอกภาพภายในพรรค คือ “พรรคภาพ” มีหรือไม่ มีระเบียบวินัยและความเคารพนับถืออันเป็นวินัยที่ดีขององค์กรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในความเป็นเอกภาพและความสามัคคีภายในพรรคที่เข้มแข็งหรือไม่ หรือเป็นพรรคเถ้าแก่ พรรคนายทุนสั่งซ้ายหันขวาหัน คนออกเงินมากเป็นเจ้าของพรรค ทุ่มเงินลงทุนโดยหวังประโยชน์ตอบแทน เพื่อให้ได้อำนาจมารับใช้ประโยชน์ตนและพวกพ้อง
6. กระบวนการบริหารจัดการภายในพรรค การประชุมลงมติและการตัดสินใจในปัญหาสำคัญๆ ดำเนินไปบนหลักการที่ถูกต้องหรือไม่ การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคและประชาชน ในกิจกรรมของพรรค การมีประชาธิปไตยภายในพรรคและนอกพรรค เป็นอย่างไร เป็นไปตามหลักกฎหมายและพ.ร.บ.พรรคการเมืองหรือไม่ หรือเพียงแต่เขียนไว้โก้หรู ทุกอย่างนายทุนหัวหน้าพรรคกับพวกกำหนดแต่ผู้เดียว
7. สุดท้ายพรรคการเมืองนั้นๆ เคารพกฎหมาย ยึดมั่นและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายประกอบอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.พรรคการเมือง, พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ และหลักกฎหมาย กฎกติกาของบ้านเมือง เคารพต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศหรือไม่ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน หรือปลุกปั่นให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย สร้างความขัดแย้งแตกแยกแก่ผู้คนในสังคม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยปราศจากเหตุผลและความชอบธรรมหรือไม่ ทำผิดไม่ยอมรับผิด ชอบอ้างว่าถูกอำนาจทางกฎหมายหรือผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองรังแกโดยมิได้ยอมรับการกระทำผิดของตนหรือไม่
ทั้งหมด 7 ประการนี้ คือสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่า เราจะเชื่อถือพรรคการเมืองนั้นๆได้หรือไม่ จะยอมรับว่าเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้หรือไม่ เพราะการจะเป็นพรรคการเมืองที่ดี เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนทั้งชาติได้นั้น จำต้องพิจารณาทั้งคำพูดและการกระทำ ต้องพิจารณาจากสิ่งที่เป็นข้อเขียนเอกสารที่ปรากฏ กับความเป็นจริงในทางปฏิบัติของพรรค และต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพื่อตรวจสอบจุดยืน ความสมํ่าเสมอ ความคงเส้นคงวา ความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ต่อเนื่องยาวนาน เป็นเครื่องชี้วัด จึงจะบอกได้ว่า พรรคการเมืองนั้นๆ ยืนหยัดยึดมั่นต่ออุดมการณ์ และยึดมั่นต่อการรับใช้ พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ และประชาชนจริงหรือไม่
คำว่า “พรรคการเมืองของประชาชน” เป็นศัพท์ทางการเมืองที่ “พวกฝ่ายซ้าย” นิยมเรียกพรรคการเมืองของตน เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมวลชนของพรรค แต่ในโลกนี้จะมีกี่พรรคที่ทำได้จริงตามนั้น คงมีเพียงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ที่พอจะพูดได้ว่า “เป็นพรรคการเมืองตัวแทนของประชาชน” เพราะเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกกว่า 90 ล้านคน ก่อตั้งขึ้นในปี 2464 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 99 ปี เป็นพรรคการเมืองที่ผ่านการต่อสู้กู้ชาติและปฏิวัติปลดปล่อยประเทศจีน จากประเทศที่ยากจนล้าหลังที่สุดในโลก พัฒนาเป็นประเทศที่เจริญที่สุดในโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ในเวลาอีกไม่กี่ปี เป็นพรรคการเมืองที่ได้ผ่านพิสูจน์ทดสอบบนความยากลำบากนานัปการ ผ่านการต่อสู้และสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ปัจจุบันยังคงรักษาอุดมการณ์พรรคเอาไว้ได้ ผู้นำพรรคเป็นแบบอย่างที่ดีถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยของเรา คงมีพรรคการเมืองที่อยากจะเป็นพรรคของประชาชน แต่ยังไปไม่ถึงแม้จะจัดตั้งมายาวนาน ที่เหลือล้วนแต่เป็นพรรคอาศัยประชาชน อ้างประชาชน เพื่อให้ได้อำนาจ และเป็นประเภทอยากโตไวๆ ได้อำนาจเร็วๆ โดยไม่พร้อมที่จะเดินทางไกล พูดง่ายๆ ตั้งพรรควันนี้ขอเป็นรัฐบาลพรุ่งนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ แม้บางพรรคจะชูคำขวัญว่า “หัวใจคือประชาชน” ก็ล้วนมีอันเป็นไปในเวลาไม่นาน กลุ่มใดพรรคการเมืองใด ที่อ้างตนว่าเป็น “พรรคการเมืองของประชาชน” โดยเฉพาะประเภทที่เกิดเมื่อวานซืนนั้น โดยยังมิได้ผ่านบทพิสูจน์ ไม่ผ่านการทดสอบใดๆ ในการทำงานและต่อสู้เพื่อประชาชน สาธุชนจึงต้องพึงพิจารณาให้จงหนัก ก่อนจะมอบความไว้วางใจ