ผลกระทบ Brexit หลังจากวันที่ 31 มกราคม 2020

01 ก.พ. 2563 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2563 | 08:03 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,545 วันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2563

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างท่วมท้น ทำให้การแยกตัวของ UK ออกจาก EU นั้นมีความชัดเจนขึ้นมาก เพราะรัฐบาลไม่มีการขอขยายระยะเวลา Brexit ออกไปอีกแล้ว นั่นหมายความวันที่ 31 มกราคม 2020 จะเป็นวันสุดท้ายที่ UK มีสถานะความเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป และการแยกตัวจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 บทความนี้จึงมุ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว การแยกตัวที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว หากจะพิจารณาให้ดีแล้ว จะเกิดผลกระทบใดๆ ที่มีนัยสำคัญในทันทีหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆ แล้วนั้นจะเป็นช่วงเวลาใด

 

บอริส จอห์นสัน

 

 

ประเด็นแรก หากจะพิจารณาว่าผลกระทบจากการแยกตัวในวันที่ 31 มกราคมนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบมากแต่ประการใด เพราะในการแยกตัว ยังมีการให้ระยะเวลาในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) นี้อยู่จนถึงสิ้นปี 2020 นั่นหมายความตลอดระยะเวลา 11 เดือนนับแต่วันที่การแยกตัวมีผล ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2020 สิ่งที่เคยดำเนินการมาในหลายต่อหลายเรื่องก็ยังดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นคนจากประเทศใน EU เดินทางเข้า UK หรือคนจาก UK จะเดินทางเข้าไปยัง EU ในช่วงก่อนถึงสิ้นปีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องขอวีซ่าใน การเดินทางระหว่างกันแต่อย่างใด


 

 

ประเด็นเรื่องการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแบบเต็มเวลาหรือชั่วคราว หากเป็น การทำงานในระหว่างเวลาก่อนสิ้นปี 2020 ก็ยังคงทำได้ต่อไปไม่มีปัญหา แต่หากพ้นปี 2020 ไปแล้ว กลุ่มของแรงงาน EU ที่ทำงานใน UK หรือคน UK ที่เข้าไปทำงานใน EU คงมีความยากลำบากมากขึ้นในการขอทำงานแบบเต็มเวลา (full time) อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาระหว่างรัฐบาล UK กับ EU ว่าจะมีนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 ฝ่ายอาจยอมให้มีข้อตกลงในลักษณะปฏิบัติต่างตอบแทน หมายความว่าหาก UK ยอมให้คน EU ทำงานเต็มเวลาได้ EU ก็คงพิจารณาให้สิทธิในลักษณะดังกล่าวกับคนของ UK เช่นกัน

นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องการศึกษา การย้ายที่อยู่ของคนวัยเกษียณ การขอทุนวิจัย หรือแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน หมายความว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านตลอด 11 เดือนนี้ (จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2020) สิทธิต่างๆ ของประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายเคยมีอยู่อย่างไร ก็ยังคงมีอยู่อย่างนั้น แต่เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าในระหว่างช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านนี้ รัฐบาล UK กับ EU จะมีความตกลงที่จะเป็นการทุเลาความเสียหายจากการแยกตัว ได้ดีมากน้อยเพียงใด

 

 

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า แม้การแยกตัวจะมีผลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 แต่ผลกระทบที่แท้จริง จะเกิดขึ้นหลังจากสิ้นกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน แต่หากจะดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัวกัน ระหว่าง ฝ่ายนั้น ในมาตรา 132 กฎหมายยังเปิดโอกาสให้มีการขยายระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านนี้ออกไปได้อีก 1-2 ปี ซึ่งหากตี ความจากบทมาตรานี้ จะเป็นได้ว่าผล กระทบที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นจากการแยกตัวของ UK จาก EU อาจส่งผลจริงๆ หลังจาก 2 ปีนับแต่สิ้นระยะเวลาเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ นั่นหมายความว่าจะเกิดผล กระทบที่แท้จริงอย่างช้าที่สุดในวันที่ 1 มกราคม 2023

จากกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่าช่องทางที่กฎหมายเปิดไว้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่ายการที่จะเจรจากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพื่อให้ได้ข้อตกลงในประเด็นต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบอันเนื่องมาจากการแยกตัว มีผลเสียน้อยที่สุดต่อชีวิตความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจในภูมิภาค หวังว่านี่จะเป็น สัญญาณที่ดีที่การแยกตัวครั้งนี้จะไม่เป็นการสร้างสึนามิที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยเองก็ควรต้องหามาตรการมารองรับจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแยกตัวในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของไทยแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่