โอกาสเหมาะที่จะรื้อระบบราชการอนาล็อก

08 เม.ย. 2563 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2563 | 09:31 น.

 

จะเรียกว่า เวิร์กแอทโฮม หรือ เวิร์กฟรอมโฮม ก็แล้วแต่ ในสถานการณ์วิกฤติไวรัสโคโรนา 2019 ที่ป่วนโลก ป่วนไทยแบบไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร เป็นบทพิสูจน์หนึ่งคำว่าปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัลทั้งระบบ ทั้งคนในองค์กร หรือบริษัท

 

ประชาชน ธุรกิจบางส่วนยังพอไปได้ กับการใช้ระบบออนไลน์ในการทำงาน จับจ่ายสินค้า และสนองความเบื่อการอยู่บ้านด้วยการคิดบริการต่างๆ ที่เพียงกดโทรศัพท์มือถือเพียงปลายนิ้ว โดยที่ไม่ต้องถ่อไปถึงร้านหรือศูนย์บริการ

 

เฉกเช่นเดียวกับมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งธนาคาร หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ  ก็ใช้ระบบออนไลน์ในการลงทะเบียน ยื่นคำร้อง แทนการไปถึงสำนักงาน หรือสาขา ทำให้ลดการเดินทางทั้งคนยื่นคำร้องและคำรับคำร้อง พัฒนาระบบจนรองรับคนที่กระหนํ่ากดพร้อมกัน หนำซํ้าการใช้ระบบแบบนี้ยังได้ประโยชน์แบบ Big Data อีกด้วย

 

แต่ทว่า นั่นเป็นแค่บางส่วนที่ทำได้ จากส่วนใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ภายใต้ระบบราชการ

 

ก่อนวันประกาศใช้พ...ฉุกเฉิน 26 มีนาคม 2 วัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการหรือ ... ได้ส่งมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤติ รองรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ในการปรับระบบราชการในสถานการณ์แบบนี้

 

อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ

 

 

อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนการให้บริการงานอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือจดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งด้านนี้เรียกว่าอาจจะเพอร์เฟกต์ที่สุดเพราะยังคงเหลือบางหน่วยงานที่ยังไม่สมบูรณ์ เหลือเพียงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันไปใช้ อี-เซอร์วิส ให้มากขึ้น

 

แต่กว่าจะไปถึง อี-เซอร์วิส อาจจะยังติดกฎหมายบางอย่างที่ต้องทบทวน เช่น กำหนดให้ต้องมีการต่อใบอนุญาตสำหรับกิจการหรือการดำเนินการที่มีลักษณะต่อเนื่อง ด้วยเปิดช่องให้ชำระค่าธรรมเนียม ต่อใบอนุญาต แทนการไปยืนรอออกันหน้าช่องการเงินของหน่วยงานเพื่อรอเอกสารใบเสร็จแบบกระดาษ ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งสิ้น

 

หนึ่งในแนวทางนี้มีการยกตัวอย่างให้เห็นการชำระเงิน ทำธุรกรรมทางการเงิน แบบ อี-เพย์เมนต์ ที่กระทรวงการคลังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในระยะหลัง ในการใช้ระบบโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงถึงประชาชนในการช่วยเหลือเยียวยา โดยที่ไม่ต้องมีใครหักหัวคิวที่โต๊ะจ่ายเงินเหมือนอดีต

 

มีอีกเรื่องคือเรื่องการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องเร่งพัฒนาให้ทะลุทะลวงกันทุกหน่วยงาน เชื่อมโยงข้อมูลกัน สามารถส่งข้อมูลถึงกันเป็นไฟล์เอกสารดิจิทัล ที่จะเปิดให้เอกชนที่เก่งด้านนี้เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย

 

และก...ยังลงดีเทลไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในหน่วยงานเพื่อบริการสะดวกขึ้น อย่างเช่น เพิ่มบริการจัดส่งยาถึงบ้านสำหรับผู้ป่วยต่อเนื่องที่ไม่จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยออกค่าใช้จ่ายค่าขนส่งแทนที่ต้องมาถึงสถานพยาบาล เสียค่ารถ เสียเวลาเดินทาง และลดความเสี่ยงการติดเชื้อเพิ่มเติม และแนะนำให้ใช้ เทคโนโลยีเอไอ มาช่วยในการคัดกรองโรค หรือ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกลผ่านเทเลเมดดิซีน

 

เรียกได้ว่า ภาวะแบบนี้เป็นวิกฤติที่คนทั้งสังคมลำบากไปด้วยกัน แต่ก็ยังเป็นโอกาสในการซ้อมใหญ่ของระบบราชการ ที่ซุ่มปรับใหญ่มาระยะหนึ่ง ว่ายังขาดตกตรงไหน เพราะหากทำตรงนี้ได้ วิกฤติแบบนี้ จะไม่ใช่การหยุดอยู่บ้านครั้งใหญ่ของราชการ แต่จะบริการประชาชนออนไลน์ มาจากบ้านของท่านก็ได้

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9-11 เมษายน 2563