“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” กันยาวไปอีกอย่างน้อยอีก 1 เดือน หลังจากคณะรัฐมนตรี มีมติตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เสนอให้ต่ออายุบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อคุมระบาดไวรัสร้ายป่วนโลกโควิด-19 ไปจนถึง 31 พฤษภาคม
นั่นหมายความว่า 4 มาตรการคุมเข้ม ที่อยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยังคงบังคับใช้ต่อไปด้วย
1. ควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร ควบคุมเข้าราชอาณาจักร ทางบก ทางนํ้า ทางอากาศ ขยายการห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 เพื่อลดการนำเชื้อโรคเข้าประเทศ
2. ห้ามบุคคลออกนอกเคหสภาน หรือเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น.
3. งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น
4. งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอก ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันหรือเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดชื้อโควิค-19 เป็นการชั่วคราว
แล้วก็มีเพื่อนพี่น้องที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ สอบถามผมเข้ามาว่า เอ๊ะ ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแบบนี้ แล้วข้าราชการจะต้องไปทำงานได้หรือยัง หรือยังต้อง WFH ทำงานที่บ้านต่อไปอีก
จึงไปหาคำตอบมาให้ พบว่า เมื่อ 23 เมษายน 2563 สำนักงาน ก.พ. ออกประกาศสํานักงาน ก.พ. เป็นประกาศภายใน ลงนามโดย หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล เลขาธิการ ก.พ. เรื่อง “แนวทางการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม”
ประกาศฉบับนี้ ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสํานักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 กําหนดแนวทางการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยกําหนดช่วงระยะเวลาของการกําหนดให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ทํางาน เริ่มดําเนินการตั้งแต่ วันที่ 23 มีนาคม-24 เมษายน 2563 นั้น
เพื่อให้การดําเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ การปฏิบัติงานมีความยืดหยุ่น โดยคํานึงคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานและลดอัตราเสี่ยงของข้าราชการและเจ้าหน้าที่สํานักงาน ก.พ. ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ดังนั้น จึงให้ขยายช่วงเวลาของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ทํางาน ออกไปจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่นำประกาศของสำนักงานก.พ.มา คงไม่อาจนำไปใช้ได้กับทุกหน่วยงานราชการ ที่มีลักษณะของภารกิจ ความพร้อม ความจำเป็นในการทำงานแตกต่างกันออกไป
แต่ที่แน่ๆ มีหนึ่งคน ที่ “นายกฯ ลุงตู่” อาจจะต้องหาโอกาสอนุญาตให้พักบ้างสักวัน ก็เห็นจะเป็น “หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” ที่ปฏิบัติหน้าที่โฆษกศบค.มา 1 เดือนเต็มตั้งแต่เริ่มประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อ 26 มีนาคม 2563 รายงานสถานการณ์การระบาดและมติที่ประชุมศบค.ทุกช่วงเที่ยงวัน ไม่ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์ เหมือนกับข้าราชการคนอื่นๆ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะ หมอทวีศิลป์ ยินดีทำหน้าที่แบบไม่มีข้อแม้
แต่ถ้าย้อนไปดูการแถลงของหมอทวีศิลป์เอง ครั้งหนึ่งเคยเล่าถึงการทำงานของตัวเองว่า “ผมต้องขอขอบคุณคนที่จัดชุดข้อมูลของผม มากมายครับ บางคนไม่ได้นอน ทีมที่ผมพูดบ่อยๆ คือกองระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรค Situation Awareness Team หรือ ทีม SAT ส่งข้อมูลมาให้ผมตอนตี 2 ตี 3 ผมได้ยินเสียงสะดุ้งตื่นก็ต้องมาอ่านดู เราต้องเตรียมข้อมูลกันขึ้นมาเพื่อที่จะดู แล้วต้องมีประชุมกัน 07.30 น.ทุกวัน ตอนเช้าของทางกระทรวงสาธารณสุข 08.30 น. ก็อยู่ที่ ทำเนียบรัฐบาลกัน ซึ่งจะต้องรวบรวมชุดข้อมูลมามากมาย”
ในฐานะที่ผมนั่งดูคุณหมอทุกวันจนกลายเป็นแฟนตัวยงของแฟนเพจ NBT มั่นใจได้ว่านั่นไม่ใช่การบ่น แต่กลับมองเห็นเป็นความทุ่มเท เสียสละกับงาน แต่น่าสนใจว่า ทำงานหนักแบบนี้ทุกวันไม่ดีต่อร่างกายแน่ ควรจะหาผู้ช่วยมาสลับการแถลงกับคุณหมอศิลป์บ้างก็ดีนะครับ
คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2563