จากความกังวลของหลายภาคส่วนต่อความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP อาทิ ข้อกังวลเรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ,ข้อกังวลเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์แก่บริษัทเอกชน,ข้อกังวลเรื่อง GMO,ข้อกังวลการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ข้อกังวลเรื่องการเข้ามาแข่งขันของประเทศสมาชิกในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ,ข้อกังวลเรื่องการเปิดให้เครื่องมือแพทย์มือสอง และสินค้าขยะเข้ามาในประเทศ และอื่น ๆ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ออกมาแก้ต่างว่าข้อกังวลเหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และมีทางออกในการเจรจา
อย่างไรก็ดีจากข้อกังวลข้างต้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการถอนวาระ(เมื่อ 27 เม.ย.63)ในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอพิจารณาอนุมัติการเจรจากับประเทศสมาชิก CPTPP
นายจุรินทร์ระบุจะไม่นำเสนอเรื่องนี้เข้าครม. ตราบใดที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมยังมีข้อขัดแย้ง ขณะที่กรมเจรจาการค้าฯ ระบุว่าเมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายอาจจะจัดหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจอีกครั้ง ขณะที่ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ไทยจะได้มากกว่าเสีย ทั้งเศรษฐกิจขยายตัว ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ เพิ่มโอกาสทางการค้าและความร่วมมือกับประเทศสมาชิกมากขึ้น
มาดูมุมมองจากนักวิชาการ รศ. ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำ คลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ในมุมมองที่เห็นต่างออกไปดังนี้
-สถานะเจรจา CPTPP ของไทย
ไทยกำลังขอเข้าร่วมในฐานะสมาชิกใหม่ของ CPTPP ดังนั้นจึงต้องขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกดั้งเดิม 11 ประเทศ ได้แก่ ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน ออสเตรเลีย เปรู มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น และนั่นเป็นที่มาเกี่ยวกับความเชื่อว่าไทยต้องเสียค่าผ่านทาง หรือข้อเรียกร้องที่ประเทศสมาชิกดั้งเดิมแต่ละประเทศ อาจจะเรียกร้องจากไทยเป็นพิเศษ (การเรียกร้องผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกจากไทยเพิ่ม เพื่อแลกกับไทยเข้าเป็นสมาชิก )
เรื่องนี้แตกต่างจากการเข้าร่วมเจรจาความตกลงการค้าเสรี(FTA) ใหม่ที่ทุกๆ ประเทศอยู่ในฐานะเท่าเทียมกันในการกำหนดกติกา ดังนั้นเราจึงอยู่ในฐานะตั้งรับ (รับข้อเรียกร้องจากประเทศสมาชิกดั้งเดิม)มากกว่าการเข้าไปร่วมออกแบบกฎกติกา เราอาจสามารถที่จะต่อรองได้ในบางเรื่องแต่เราคงคาดหวังมากไม่ได้ในสถานะเช่นนี้ที่เราจะไปต่อรองอย่างที่เคยทำมาในกับการเจรจา FTA ต่าง ๆ ในอดีต
ส่วนการเจรจาเข้าร่วม CPTPPนั้น น่าจะต้องขอฉันทามติจากประเทศสมาชิกดั้งเดิม ที่ผ่านมายังไม่เคยเปิดรับสมาชิกใหม่เลย(จะเปิดรับสมาชิกใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้) จึงยังไม่ชัดเจนว่าวิธีปฎิบัติจริง ๆ เป็นอย่างไร
-ข้อกังวลการเข้า CPTPP ของไทย
เหตุผลประการหนึ่งที่ผมกังวลกับการเข้า CPTPP ของไทย แต่ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว แต่แค่คิดว่าเรายังไม่ตกผลึกในผลประโยชน์สุทธิที่ไทยจะได้รับ ประโยชน์ที่หยิบยกขึ้นมาทั้งการค้าและการลงทุน คิดว่าผลประโยชน์สุทธิที่กล่าวอ้างคลาดเคลื่อน และสิ่งที่สื่อสารออกมามันไม่ค่อยถูกต้องและอาจทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดและเตรียมตัวไม่ทันได้
ในขณะที่ประเด็นล่อแหลมต่าง ๆ ทั้งเรื่อง พันธุ์พืช ทรัพย์สินทางปัญญา ที่ยังถกเถียงกันแบบต่างคนต่างพูดกันอยู่ หากเราติดตามกระแสต่อต้านจากคนในระดับทั้งอดีตรัฐมนตรีเท่าที่เห็น 2 ท่าน คือ คุณประภัตร ปัญญาชาติรักษ์ และท่านอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา มันเกิดคำถามที่สำคัญ คือ ที่ผ่านมาการระดมสมองและประชาพิจารณ์ที่ส่วนราชการทำมา ทำไมถึงไม่รวมคนระดับอย่างนี้เข้าไปในขบวนการก่อนที่มาถึงจุดที่เข้ามาเป็นวาระเพื่อพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเด็นที่แทบจะไม่ได้หยิบยกขึ้นมาสื่อสารอย่างชัดเจน เช่น การเปิดเสรีภาคบริการ การเปิดเสรีสินค้าที่เรียกว่า Remanufacturing และการกำหนดบทบาทของรัฐในการกำกับบริษัทดิจิทัลข้ามชาติ เรื่องพวกนี้หลาย ๆ เรื่องเรายังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนแต่อย่างใด
สิ่งที่ผมเห็นความขัดแย้งแบบนี้เกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่มีการลงนาม FTA ดังนั้นผมคิดว่าเราน่าจะหา Platform นั่งคุยกันให้ดีกว่า ไม่ใช่เร่งรีบอย่างที่เป็นอยู่
-ไม่เห็นด้วย"การเปิดตลาดใหม่"คือข้อดีเข้าร่วม CPTPP
สำหรับข้อดีของการเข้าร่วม CPTPP ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การเปิดตลาดใหม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะ CPTPP เป็น FTA ซ้อน FTA ดังนั้นการประเมินประโยชน์ทางการค้าจึงมีความสลับซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น กล่าวคือ เราคงต้องถามว่าที่ผ่านมาเขาเปิดให้เราแล้วมากน้อยเพียงใด หากพิจารณา 11 ประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP ไทยมีการลงนาม FTA ไปแล้ว 7 ประเทศ เป็น FTA มีผลบังคับใช้ไปแล้วระยะหนึ่ง และประเทศเหล่านี้ได้เปิดเสรีให้ไทยเกือบเต็มที่หมดแล้ว ในขณะที่อีก 2 ประเทศ คือ ชิลี และเปรู ไทยมี FTA ด้วยแล้ว แต่เพิ่งลงนามไม่นานและอาจจะไม่ได้เปิดเต็มรูป ในขณะที่แคนาดาและเม็กซิโกที่เป็นเพียง 2 ประเทศที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย
ดังนั้นถ้าไทยเป็นสมาชิก CPTPP ก็เท่ากับว่าเราเปิดตลาดเพิ่มอีก 4 ตลาดนี้เท่านั้น ซึ่งทั้ง 4 ตลาดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 2 ของการค้าระหว่างประเทศรวมของไทย หากเราพิจารณาลงลึกถึงโครงสร้างภาษีศุลกากรของประเทศเหล่านี้ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญกำหนดขนาดของการเปิดตลาด เราพบว่ามีเพียงเม็กซิโกที่ภาษีศุลกากรเฉลี่ยยังสูงอยู่ ดังนั้นการเปิดตลาดใหม่จึงน่าจะมีจำกัดไม่มากเหมือนที่ภาครัฐกำลังเชื่อและกล่าวอ้าง
ในทางกลับกันการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP สำหรับไทยอีกประการหนึ่ง คือ ไทยต้องเปิดเสรีให้กับประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศเช่นกัน และที่ผ่านมาไทยยังลังเลที่จะเปิดเสรีให้กับประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ ญี่ปุ่น เช่น ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียที่ลงนามตั้งแต่ปี 2548 ออสเตรเลียเปิดเสรีให้ไทย 83% ในปี 2548 และเพิ่มเป็น 96.1% ในปี 2553 และ 100% ในปี 2558 ในขณะที่ไทยเริ่มเปิดเพียงร้อยละ 49.5% ในปี 2548 และเพิ่มเป็น 93.3 % ในปี 2553 และเพิ่มเป็น 100% ในปี 2558 เท่าที่ผมเข้าใจ (อาจจะเข้าใจผิดได้) 93.3% ไทยยังไม่ได้ทำตามสัญญากับออสเตรเลีย ถ้าเป็นอย่างที่ผมคิด ออสเตรเลียคงต้องเรียกร้องให้ไทยทำตามสัญญาโดยอาจทำผ่านกรอบ CPTPP ดังนั้นการเข้า CPTPP จึงเท่ากับการเร่งรัดขบวนการเปิดเสรีที่เราลังเลที่จะเปิดให้เร็วขึ้น
“ ผมคิดว่าแม้การเปิดเสรีก็มีส่วนที่ดีและเป็นประโยชน์ในระยะยาวกับประสิทธิภาพการผลิต แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีการพูดถึง นั่นคือสิ่งที่ผมอ้างว่าเป็นความคลาดเคลื่อน ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดเกี่ยวกับ CPTPP มุ่งไปที่เปิดตลาด แต่จริง ๆ แล้วผู้ประกอบการควรเร่งตั้งรับกับการแข่งขันที่รุนแรง”
-CPTPP ไม่น่าเป็นเหตุดึงเม็ดเงินลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม
อีกประเด็น คือ CPTPP ยอมให้ผู้ผลิตใน CPTPP ใช้สินค้าระหว่างกันและนับรวมเป็นส่วนในการตัดสินว่าสินค้านั้น ๆ จะปฎิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น และทำให้ส่วนราชการเชื่อว่าการเข้า CPTPP จะทำให้เราเชื่อมเข้าไปสู่ Supply Chain ของบริษัทข้ามชาติ และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
หากเรามองย้อนผลการดำเนินงานในอดีต ข้อมูลในอดีต จะเห็นได้ว่า ไทยกับออสเตรเลียมี 2 FTA ระหว่างกัน คือ FTA ระหว่างไทยและออสเตรเลียในลักษณะทวิภาคี และ ASEAN-Australia-New Zealand FTA (AANZFTA) หากคิดตามหลักการข้างต้น AANZFTA น่าจะจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้มากกว่า เมื่อเทียบกับ FTA ระหว่างไทยและออสเตรเลีย แต่ข้อเท็จจริงตรงกันข้าม โดยร้อยละ 100 ของการใช้สิทธิ FTA ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ร้อยละ 99 ใช้ตามกรอบ FTA ระหว่างไทยและออสเตรเลีย
ดังนั้นผมจึงคิดว่า CPTPP จึงไม่น่าจะเป็นเหตุที่ทำให้ดึงเม็ดเงินลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างที่กล่าวอ้าง แม้มีบางคนอาจกล่าวอ้างว่าเวียดนามเนื้อหอมในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนามเองที่โดดเด่นอยู่แล้วไม่ใช่เป็นเพราะเวียดนามลงนาม FTA เพียงอย่างเดียว
“ผมว่าเป็นสิ่งที่เราต้องพูดคุยและหารือทางออกที่เป็นประโยชน์กับไทย อันนี้คงรวมไปถึงท่าทีการเปิดเสรีภาคบริการที่ใน CPTPP มีลักษณะ Negative Lists ที่เปิดทั้งหมดทุกสาขาก่อน ถ้ามีภาคบริการใดไม่พร้อมก็ค่อย ๆ ถอย หรือ ลบออก”
ดังนั้นเขาถึงเรียกว่า Negative Lists อันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้หารือหรือยังว่าเราพร้อมที่จะทำ ผมคิดว่าการเปิดเสรีแบบนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศโดยรวม แต่ทำไมต้องเปิดเฉพาะกับ 11 ประเทศนี้ และเราบอกผู้ประกอบการแล้วหรือยัง คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ถาม และนำไปสู่กระแสต่อต้านการเข้าสู่ CPTPP อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน