สเปก ‘โฆษกรัฐบาล’ กับ บันไดทางการเมือง

05 ส.ค. 2563 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2563 | 10:39 น.

สเปก ‘โฆษกรัฐบาล’ กับ บันไดทางการเมือง : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,598 หน้า 10 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม 2563

เป็นที่ชัดเจนว่า “ดร.แหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัตน์” ลาออกจากโฆษกรัฐบาล หรือ ชื่อทางการคือ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเคลียร์ตัวเองและเตรียมตัวรับตำแหน่งรัฐมนตรี ในการปรับครม.ครั้งนี้

 

แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่ได้ปรากฏตัวหรือพูดคุยรํ่าลากับสื่อสายทำเนียบรัฐบาลเหมือนโฆษกรัฐบาลหลายคนก่อนหน้านี้ แต่ก็มี “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี” เป็นเอกสารรํ่าลาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ส.ค. เรื่อง ข้าราชการการเมืองลาออกจากตำแหน่ง กรณี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขอลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 

 

พลันทำให้ผมนึกย้อนเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้หลายต่อหลายคน ที่มีจุดเริ่มต้นตำแหน่งทางการเมือง หรือ ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นโฆษกรัฐบาล เหมือนกับดร.แหม่ม ก่อนที่จะเติบใหญ่ในเส้นทางการเมืองต่อไปหลังจากพ้นตึกนารีสโมสร

 

ย้อนไปไม่นาน “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ที่พ้นบ่วงของการเป็นแกนนำกปปส. รัฐบาลบิ๊กตู่ ก็เรียกใช้บริการ ให้มานั่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล ในช่วงเวลาสั้นๆ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึง 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562  จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรมว.ดิจิทัล จนถึง ณ เวลานี้ 

 

ก่อนหน้านั้นเป็น “เสธไก่อู-พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ที่นั่งคุมงานโฆษกรัฐบาลในช่วงเป็นคสช. 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ถึง 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561 และจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งยังคงอยู่ในเส้นทางของข้าราชการ แม้จะไม่ใช่เส้นทางของข้าราชการทหารเหมือนท่านอื่นๆ

 

สเปก ‘โฆษกรัฐบาล’ กับ บันไดทางการเมือง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์”ลาออกจาก "โฆษกรัฐบาล" เตรียมนั่งเก้าอี้รมต. 

ประกาศเป็นทางการ "นฤมล" ลาออก "โฆษกรัฐบาล"

ยันนายกยังไม่เคาะชื่อ"โฆษกรัฐบาล"วาระครม.วันนี้

นายกฯยังไม่ฟันธงเลือก “โฆษกรัฐบาล” ยันมีหลายชื่อ

 

สลับขั้วไปดูฟากฝั่งเพื่อไทย “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ก้าวขึ้นมาเป็นโฆษกรัฐบาล ในรัฐบาลของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เพียงช่วงสั้นๆ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 แต่ก็เข้าตานายใหญ่ จนถูกอัพเกรดให้เป็นถึง “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์”  และ “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

 

แต่โฆษกรัฐบาล ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เห็นจะเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่นั่งทำหน้าที่นี้ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ช่วง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2537 และจากนั้นเส้นทางการเมืองก็เติบโตขึ้นทั้งในพรรคประชาธิปัตย์ และก้าวถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

 

และอีกคนที่น่าสนใจและเชื่อว่าเป็นต้นแบบของนักชี้แจง “วิษณุ เครืองาม” ซึ่งเคยเป็นโฆษกรัฐบาลในรัฐบาลของ พล.อ.
สุจินดา คราประยูร ช่วงสั้นๆ 28 เมษายน พ.ศ. 2535 ถึง 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แต่ชีวิตของอาจารย์วิษณุหลังจากนั้น เติบโตแทบจะในทุกช่วงหลายรัฐบาลคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ

 

ก่อนจบต้องปิดท้ายด้วยสเปกของโฆษกรัฐบาลคนต่อไปหลังจากนี้ ซึ่งพรายกระซิบบนตึกไทยคู่ฟ้า บอกมาว่า นายกฯลุงตู่กำลังไล่ดูลิสต์รายชื่อ พร้อมกับผลงานที่บรรดาสายเชียร์ สายหนุนชงชื่อเสนอเข้ามาแทบจะรายวัน 

 

ไม่รู้ว่าสเปกของลุงตู่จะเหมือนเดิมกับเมื่อครั้งเลือกดร.แหม่ม มาเป็นโฆษกรัฐบาลหรือไม่ที่เคยบอกนักข่าวเอาไว้ว่า 

 

“ต้องเป็นคนรอบรู้ เข้าใจระบบการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลกยุคโซเชียล ยุคดิจิทัลและมีความรู้เรื่องระบบราชการด้วย”