คำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง "บอส กระทิงแดง” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทของครอบครัวกระทิงแดง ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงชนดาบตำรวจตายคาที เมื่อปี 2555 โดยที่บอสกระทิงแดง หนีคดีไปต่างประเทศร่วม 8 ปี กลายเป็นเรื่องอัปยศอดสูของผู้คนในประเทศในกระบวนการยุติธรรม
คดีนี้กลายเป็นชนวนสำคัญไปสู่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นของพนักงานสอบสวน ทั้งตำรวจ และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นต้นธารแห่งความยุติธรรม อย่างหนักหน่วงที่สุด
เพราะถ้ากระบวนการยุติธรรม มีเจ้าหน้าที่ของรัฐตัดตอน –อำพรางคดี ตัดสาระสำคัญทั้งพยานวัตถุ พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ออกไปตามอำนาจแห่ง “เงินตรา” เมื่อไหร่ คุกจะมีไว้ขังคนจนอย่างเดียว
สังคมไม่ได้สนใจ “บอส กระทิงแดง” ว่าเป็นใคร แต่ผู้คนสนใจว่าทำไมคนรวยหนีคดีไป 8 ปี และใช้บารมีเงินตราไปทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รักษากฎหมายต้องบิดคดีจนนำไปสู่คำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี คนปกติหาเช้ากินค่ำทำได้หรือไม่
คดีนี้มีว่า........พนักงานสอบสวนคือตำรวจ เสนอสั่งฟ้อง นายวรยุทธ 3 ข้อหา 1.ขับประมาทเป็นเหตุให้คนตาย 2.ขับรถก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่หยุดช่วยเหลือ 3. ขับรถเร็วเกินอัตราที่ก.ม.กำหนด....
ส่วนข้อหาที่ 4.ตำรวจไม่สั่งฟ้องในข้อหาเมาสุราขณะขับรถ ซึ่งอัยการกรุงเทพใต้ 1 เห็นด้วยกับ พนักงานสอบสวน และอธิบดีอัยการกรุงเทพใต้ เห็นด้วยกับอัยการ และผบ.ตร.ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องในคดีเมาสุราขับ เป็นอันว่าจบ...
ระหว่างรอคำส่งฟ้อง ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดหลายครั้ง และอัยการสูงสุดก็ให้ตำรวจสอบเพิ่มเติม ระหว่างรอสอบเพิ่มเติม ข้อหาที่ 3 คดีขับรถเร็วเกินกำหนดจะขาดอายุความ จนอัยการให้ตำรวจส่งตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้อง ผู้ต้องหาไม่มา ทางอัยการเห็นว่า มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ตำรวจขอศาลออกหมายจับ แต่ตำรวจก็ไม่ได้ตัวผู้ต้องหา ผลคือ "คดีขาดอายุความ" เป็นอันว่าจบข้อหาที่ 2
เหลือข้อหาที่ 3 ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด และ กมธ.สนช. อัยการให้ตำรวจสอบเพิ่มอีกหลายครั้งจนกระทั่งวันที่ 12 มิถุนายน 2563 นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด รักษาการ อัยการสูงสุด เห็นว่า คดีนี้มีปัญหาต้องพิจารณาเรื่องเดียวว่า ผู้ต้องหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตายหรือไม่
เพราะแต่เดิมนั้น ตำรวจผู้พิจารณาความเร็วรถยนต์ขณะเกิดเหตุว่า ขับรถความเร็ว 177 กม./ชม. เป็นความเร็วที่เกินกว่าข้อกำหนด 80 กม./ชม. ถือเป็นการกระทำประมาทที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นตาย
เมื่อมีการสอบสอบใหม่..พยานผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ความเร็วรถ 76.17 กม./ชม. ตำรวจผู้พิจารณาความเร็วรถคนเดิม อ้างว่า ใช้วิธีคำนวณใหม่แล้ว ความเร็วของรถแค่ 76 กม./ชม. เพราะมีพยานบุคคลใหม่ 2 คน โผล่มาบอกว่าขับรถตามหลัง ขณะเกิดเหตุ บอกว่าผู้ต้องหาขับรถความเร็วประมาณ 50-60 เท่านั้นรอง อสส.จึงสรุปว่า ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า..... ผู้ตาย (ตำรวจ) ขับจักรยานยนต์เปลี่ยนเลนเข้าไปในเลนรถผู้ต้องหาในระยะกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที จึงเป็นเหตุสุดวิสัย......มิใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง การกระทำของผู้ต้องหา จึงไม่เป็นความผิด จึงมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“เนตร นาคสุข”หนาว กลับความเห็นคดี “บอส อยู่วิทยา”ไม่ชอบด้วยก.ม.
พลิกปูม “เนตร นาคสุข” รองอสส.คนสั่งไม่ฟ้องคดี“บอส อยู่วิทยา”
ถอดรหัสคดี "บอส อยู่วิทยา" พิลึก! รายงานความเร็ว หายจากสำนวน
“อัยการ”ขีดเส้น 7 วันหาคำตอบสั่งไม่ฟ้องคดี“บอส อยู่วิทยา”
เผย 7 รายชื่อคณะทำงานสอบคำสั่งไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา"
7อรหันต์"อัยการ" ล้างบาง-ล้างบาป ทายาทกระทิงแดงพ้นคุก!
ล่าสุดคดียุติธรรมอำพราง บอสกระทิงแดง ส่อแววพลิกเมื่อ "อรรถพล ใหญ่สว่าง" ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด เมื่อปี 2556 ยันคำสั่งเสร็จเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้อง "บอส กระทิงแดง" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประธาน ก.อ.ให้เหตุผล 6 ข้อ ในหนังสือที่ทำถึงอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563ว่า เพราะ ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด เคยสั่งยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว แต่กลับมีการรับเรื่องขอความเป็นธรรมอีก โดย ไม่ผ่าน อสส.พิจารณาแต่อย่างใด ผลที่ตามมาคือ คําสั่งตามฟ้องยังคงมีผลอยู่...
หนังสือดังกล่าว เป็นบันทึกข้อความถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เรื่อง การ แถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทํางานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา สรุปความได้ว่า
ข้าพเจ้าได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีประเด็นอันควรพิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงาน อัยการ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอํานาจหน้าที่ในการสั่งสําานวนของพนักงานอัยการ กรณีมีค่าสั่งไม่ฟ้องและผลของการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเพิ่มเติมอีก ดังนี้
1. กรณีพนักงานอัยการมีคําสั่งที่ไม่ฟ้อง และคําสั่งนั้นไม่ใช่คําสั่งของอัยการสูงสุด เมื่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติไม่แย้งคําสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หากมีการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสํานวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด เมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง จึงเป็นคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง คําสั่งในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นคําสั่งโดยถูกต้องตามอํานาจหน้าที่ของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบฯที่เกี่ยวข้องด้วยจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ในกรณีที่ เดิมพนักงานอัยการมีคําสั่งไม่ฟ้องไว้แล้ว แต่มีการกลับคำสั่งเป็นคำสั่งไม่ฟ้องตามระเบียบฯ ข้อ 6 กำหนดว่า “ในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคําสั่งเดิม ให้เสนอตามลําดับชั้นจนถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง เว้นแต่ความเห็น หรือคำสั่งเดิมนั้น เป็นของอธิบดี ให้เสนออัยการสูงสุด หรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาสั่ง”
2. กรณีคดีมีการร้องขอความเป็นธรรมระเบียบฯ ข้อ 48 (การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 กําหนดว่า “คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่จะมีคําสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหา หรือบางข้อหา ให้เสนอสํานวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดี เพื่อพิจารณาสั่ง
กรณีที่มีคำสั่งฟ้อง ให้ดําเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล และให้รีบทําบันทึกส่งคําร้องขอความเป็นธรรม สําเนาความเห็นและคำสั่ง พร้อมทั้งสําเนารายงานการสอบสวนเสนออธิบดีเพื่อทราบ
กรณีดังกล่าวในวรรคก่อน หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็น หรือกลับคําสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง ให้นำความในข้อ 6 วรรคท้าย หรือข้อ 128 มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี
3. กรณีตามคดีนี้ ได้ความว่าในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา การร้องขอความเป็นธรรมในชั้นหลังที่มีประเด็นพิจารณาถึงคําให้การ รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยอัยการสูงสุด (ร.ต.ต. พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร) ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว ดังนั้นต้องถือว่า คําสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย...
4. หลังจากนั้น หากมีกรณีร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการอีก การที่พนักงานอัยการคนใด จะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคําสั่งใด ๆ ใหม่ ต้องมีคําสั่งจากอัยการสูงสุดก่อน จึงจะดําเนินการได้ เพราะอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้วให้ยุติการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรม
หากพนักงานอัยการผู้ใด มีการหยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก และมีคําสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดก่อน ไม่น่าจะกระทําได้ และจะมีผลการดําเนินการในขั้นตอนต่อ ๆ มาทั้งหลายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบฯ ทําให้คําสั่งต่างๆ ที่มีตามมา รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อาจมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้
5. กรณีที่รองอัยการสูงสุด หยิบยกการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีกครั้ง ทั้งที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติไปแล้ว จึงมีนัยสําคัญที่ควรพิจารณาว่า เกิดผลตามที่กล่าวมาตามข้อ 4 หรือไม่ หากเป็นผล ต้องถือว่าคําสั่งไม่ฟ้องยังไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ การส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วไม่แย้งคําสั่ง ก็หาเป็นผลให้เกิดเป็นคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่
และคำสั่งฟ้องเดิมของอธิบดีอัยการ สํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ต้องถือว่า ยังมิได้ถูกกลับ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่
6. ในการพิจารณากรณีการร้องความเป็นธรรมครั้งหลังจากที่อัยการสูงสุดท่านเดิม (ร.ต.ต. พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) มีคําสั่งให้ยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านั้นไปแล้ว
ดังนั้น พนักงานอัยการผู้มีอานาจพิจารณาดําเนินการสังคดีดังกล่าวได้อีก ก็แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทน ไม่มีอํานาจสั่งคดีดังกล่าว หากอัยการสูงสุดไม่ได้มีคําสั่งใด คําสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ สํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าอัยการสูงสุดสั่งให้พิจารณาคําร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง อัยการสูงสุดก็มีอํานาจสั่งยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมหรือ สั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือกลับคําสั่งฟ้องตามความเห็นเดิม เป็นสั่งไม่ฟ้องก็ได้ ตามดุลพินิจที่เห็นว่า ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับพยานหลักฐานในสํานวน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจาณา อนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องสําคัญและมีผลต่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการ จึงใคร่ขอความเห็นของข้าพเจ้า ตามบันทึกนี้ เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย
ตะแล่มๆๆ งานนี้สำนักงานอัยการสูงสุดแตกยับ
ไม่ใครก็ใครมีคุก และอาจต้องโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 แน่ๆ
อย่าลืมว่า พี่ใหญ่-อรรถพล ใหญ่สว่าง นั้น เคยเป็นอดีตอัยการสูงสุด และเป็นประธาน ก.อ.ที่มาจากการเลือกตั้งของอัยการทั่วไปประเทศลงคะแนนเลือกเข้ามาด้วยคะแนนสูงสุด 1,810 คะแนน เป็น ประธาน ก.อ.คนแรกที่มาจากการเลือกตั้งแบบบุคคล
และหน้าที่ของกรรมการ ก.อ.รวม 13 คนนั้น มีหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอัยการ และการพิจารณาดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการอัยการที่กระทำผิดระเบียบ รวมทั้งการพิจารณาออกระเบียบบริหารงานบุคคลอัตรากำลังข้าราชการฝ่ายอัยการ
ถ้าประธาน ก.อ.มีความเห็นแบบนี้ อัยการสูงสุดจะทำประการใด....ระทึก!