หน้าตาที่เปลี่ยนไป  ของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด-19 (จบ)

08 ส.ค. 2563 | 01:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2563 | 08:20 น.

 

 

ภาพเศรษฐกิจสิ้นปี 2020

ภาพรวมหดตัว รายใหญ่สะบักสะบอม  

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 (ยกเลิกเป้าหมายเดิม 6% ในช่วงก่อนโควิด-19 จากการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา) แต่แรงกดดัน
สำคัญที่จะมีต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังดำรงอยู่และแฝงไว้ซึ่งความสลับซับซ้อน

ในด้านหนึ่งก็มาจากแรงกดดันภายในประเทศอันได้แก่ เป้าหมายการขจัดปัญหาความยากจน ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในชนบท และการแก้ไขปัญหาการว่างงานจำนวนนับสิบล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนเมือง รวมทั้งการสร้างสมดุลกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่

ขณะที่แรงกดดันระหว่างประเทศก็ได้แก่ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่คาราคาซังอยู่ และผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ซึ่งจะทำให้จีนไม่สามารถพึ่งพา “กำลังภายนอก” เพื่อการเติบโตเศรษฐกิจได้มากเท่าที่ควร 

ขณะเดียวกัน อีกแรงกดดันหนึ่งที่กำลังมาแรงก็ได้แก่ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่แหลมคมมากขึ้น แรงกดดันดังกล่าวน่าจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย

ดังนั้น จีนจึงมีทางเลือกน้อยลงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยน่าจะเพิ่มระดับการพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน หรือภายในภูมิภาคเอเซียตะวันออก

แต่โดยที่จีนมี “หน้าตักใหญ่” และ “มีไพ่ให้เล่นหลายใบ” จึงมักได้ยินกระแสข่าวว่า รัฐบาลจีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่ออัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมหภาคในอีกหลายรูปแบบ การท่องเที่ยวจะถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ชดเชยกับความหดหู่อยู่แต่ภายในบ้านในช่วงครึ่งปีแรก 

หลายสำนักคาดการณ์ว่า ภาคการบริโภคฯ และอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 3 และ 4 แม้กระทั่ง การลงทุนของภาคเอกชนก็ยังคงโมเมนตัมที่ดี หลายแบรนด์ดังของโลกและจีนเตรียมเปิดร้านขนาดใหญ่ในหลายเมืองใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลัง 

ผมยังหวังลึกๆ ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2020 จะพลิกฟื้นเหนือความคาดหมาย และด้วยแนวโน้มของปัจจัยเชิงบวกผ่านหลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจดังกล่าว ก็คาดว่าจะเห็นเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีเติบโตในอัตรา 6-7% ซึ่งก็เท่ากับว่า เศรษฐกิจจีนรายไตรมาสจะเป็นแบบตัววีหางยาว หรือเครื่องหมายถูก และรักษาระดับการเติบโตได้กว่า 2.5% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจใหญ่อื่นจะติดลบกันถ้วนหน้า มากน้อยแตกต่างกันตามสถาน การณ์วิกฤติโควิด-19 และความสามารถในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวม ณ สิ้นปีนี้หดตัวลงในระดับ 4-5% เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ทำให้ขนาดเศรษฐกิจโลกลดจากประมาณ 88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2019 เหลือราว 85 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020

เพื่อให้เห็นภาพขนาดเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ที่ชัดเจนขึ้น หากผมลองประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก เราน่าจะเห็นโฉมหน้าของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงเป็นดังนี้ (ดูตาราง)

หน้าตาที่เปลี่ยนไป   ของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด-19 (จบ)

 

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่า ในบรรดาประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ สหรัฐฯ ยังคงครองตำแหน่งแชมป์ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลกไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยขนาดเศรษฐกิจของประเทศอันดับ 3-10 รวมกันจะเล็กกว่าของสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว 

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ไม่เพียงแต่จีนจะเป็นหนึ่งเดียวที่เศรษฐกิจยังคงจะขยายตัวได้ในปีนี้ แต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่สูงกว่าของประเทศที่มีขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกและค่าเฉลี่ยของโลกมากเป็นประวัติการณ์ 

เศรษฐกิจจีนจะขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กล่าวคือ ช่องว่างระหว่างเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะลดลงเหลือราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถก้าวขึ้นทาบชั้นสหรัฐฯ ได้ก่อนสิ้นทศวรรษนี้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าของญี่ปุ่นเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งหากเราพิจารณาว่า เศรษฐกิจจีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ เมื่อปี 2010 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้นในการเบ่งขนาดเศรษฐกิจให้ใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึงราว 3 เท่าตัว ขณะเดียวกัน หากเทียบกับเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป จีนก็จะใหญ่กว่าถึงเกือบ 4 เท่าตัว

ทั้งนี้ อินเดียอาจโดนสหราชอาณาจักรทวงคืนตำแหน่งอันดับ 5 ที่ได้มาเมื่อปีก่อน ขณะที่แคนาดาอาจขยับแซงบราซิลได้ หากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ของบราซิลถลำลึก

ด้วยเศรษฐกิจโลกโดยรวม ณ สิ้นปี 2020 ที่คาดว่าจะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี แต่ละบ้านต่างพยายามปิดประตูหน้าต่างและอุดรูรั่วของหลังคาอยู่กับตัวเอง และปล่อยให้ผู้คนร่วมชายคานอนซุกตัวพักฟื้นรอวัคซีนอย่างไร้อารมณ์และเรี่ยวแรง โฉมหน้าเศรษฐกิจโลกจึงน่าจะ “ผอมเซียว” ผิวพรรณ “แห้งซีด” มุมปาก “ตก” และฐานจมูก “บีบเล็ก” รวมทั้งตา “ตี่” มากขึ้น!

 

คอลัมน์ มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563