ก้าวข้าม ‘สงครามเบ็ดเสร็จ’ ก่อนแผ่นดินลุกเป็นไฟ

29 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

คอลัมน์ถอดสูตรคุย  โดย  บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,605 หน้า 10 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน 2563

 

“ประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตย ที่มีรูปแบบของเรา แล้วไม่ได้ไปผิดจากที่อื่น ทำไมเราต้องทำเหมือนคนอื่นเขาหมด แล้วความเป็นไทยของเราหายไปไหน ถ้าจะเอาชนะคะคานทางการเมืองผมว่าประเทศชาติมันล่มสลาย ถ้ามันเกิดอย่างนั้นขึ้นมาจริงๆ รอดูแล้วกันแล้วทุกคนจะต้องอยู่บนแผ่นดินที่ร้อนระอุลุกเป็นไฟ”

 

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทวิเคราะห์ใน “จุลสารความมั่นคงศึกษา” ฉบับที่ 58 ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ที่วิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2552 ไว้ตอนหนึ่งอย่างน่าสนใจและเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยมีทิศทางมุ่งไปสู่ความเป็น “สงครามเบ็ดเสร็จ” (Total War) 

 

บทวิเคราะห์ฉบับนี้ได้อธิบายความหมายของ “สงครามเบ็ดเสร็จ” ว่าเป็นสงครามที่มีความรุนแรงในขอบเขตไม่จํากัด หรือเป็นปรากฏการณ์ที่นักประวัติศาสตร์การทหารกล่าวว่า สงครามเบ็ดเสร็จมีนัยหมายถึง “การปราศจากความจํากัด” (Ian Beckett, “Total War” 1986) 

 

ผลจากสภาพเช่นนี้ก็คือ คู่สงครามจะกระทําทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะเหนือข้าศึก แม้ว่าคู่กรณีจะไม่สามารถระดมทรัพยากรให้ได้ตามที่ต้องการ ในเวลาเดียวกันก็ตาม ฉะนั้นโดยลักษณะจากเงื่อนไขดังกล่าวก็คือ การที่คู่ต่อสู้จะใช้อาวุธทุกอย่างที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมในการสงคราม (ไม่ใช่ใช้อาวุธทุกอย่างที่มีในทุกกรณีเสมอไป)

 

ก้าวข้าม ‘สงครามเบ็ดเสร็จ’ ก่อนแผ่นดินลุกเป็นไฟ

 

หากอธิบายพัฒนาการของสงครามเบ็ดเสร็จอาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อคู่กรณีต่างก็ใช้การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง และใช้ในขอบเขตอย่างกว้างขวาง ด้วยการมุ่งชักจูงด้านหนึ่งให้ประชาชนสนับสนุนต่อแนวทางและการกระทําของฝ่ายตน และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องการให้เกิดทัศนะเชิงลบอย่างมากต่ออีกฝ่ายหนึ่ง 

 

 

 

 

กล่าวง่ายๆ ก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อในสงครามเบ็ดเสร็จมุ่งให้เกิดความเกลียดชังอย่างมาก ที่ไม่ใช่แต่ในระดับผู้นําของคู่กรณีเท่านั้น แต่ยังสร้างให้เกิดความเกลียดชังในระดับของประชาชนของแต่ละฝ่ายอีกด้วย หรือกล่าวอีกมุมหนึ่งของปัญหา ก็คือ กลไกของการสร้างความเกลียดชังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สําคัญที่ทําให้เกิดความเบ็ดเสร็จ และความเกลียดชังจะเกิดขึ้นได้ก็มักจะต้องอิงอยู่กับเรื่องของอุดมการณ์ 

 

ดังเช่นการสร้างชุดทางความคิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือ การต่อสู้ระหว่าง สัมพันธมิตรกับอักษะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติแล้ว ความเบ็ดเสร็จของการต่อสู้จึงอยู่ในรูปของ สงครามอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์

 

ด้วยเงื่อนไขของการสร้างอุดมการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่านโฆษณา  ชวนเชื่ออย่างรุนแรง สามารถทําให้ประชาชนของแต่ละฝ่ายรบกันได้อย่างไม่จํากัด 

 

 

 

กล่าวง่ายๆ ก็คือ จะต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ข้าศึกหรือคู่ต่อสู้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็น “ยักษ์” หรือเป็น “ปีศาจ” ที่มีความชอบธรรมสําหรับฝ่ายเราในการทําลาย หรือทําให้ข้อจํากัดทางศีลธรรมและจริยธรรมสามารถถูกมองข้ามได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเสมือน “ปีศาจร้าย” ที่จะต้องทําลายให้สิ้นไป อันทําให้การทําลายอย่างเบ็ดเสร็จ แม้จะเกิดความเสียหายอย่างมากมายเพียงใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องถือเป็น “ความผิดทางศีลธรรม” เพราะในภาพลักษณ์จากการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองได้สร้างความชอบธรรมให้แก่การทําลายอย่างไร้ขีดจํากัดอยู่แล้ว 

 

บทวิเคราะห์ฉบับนี้ยังชี้ด้วยว่า การเมืองไทยนับวันจะมีความเป็นสงครามเบ็ดเสร็จเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมมองว่าถ้าอนาคตของการเมืองไทยจะต้องจบลงในรูปแบบของ สงครามเบ็ดเสร็จแล้ว ก็คือแนวโน้มของสงครามกลางเมืองหรือความขัดแย้งขนาดใหญ่ในสังคมไทย 

 

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยุดสร้างความเกลียดชังกันในหมู่ประชาชนคนไทยด้วยกันเอง เพื่อก้าวข้ามสงครามเบ็ดเสร็จ ก่อนแผ่นดินลุกเป็นไฟ