ความรับผิด ของนายกรัฐมนตรี ระหว่างคดีปิดเหมืองแร่ กับจำนำข้าว

03 ก.ย. 2563 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2563 | 12:14 น.

ความรับผิด ของนายกรัฐมนตรี ระหว่างคดีปิดเหมืองแร่ กับจำนำข้าว : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3606 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.2563 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

ความรับผิด
ของนายกรัฐมนตรี 
ระหว่างคดีปิดเหมืองแร่
กับจำนำข้าว

 

กรณีที่รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้ปิดเหมืองแร่ทองคำชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และคดีอยู่ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ก็มีเสียงเรียกร้องโหมกระพือจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และขบวนการต้านรัฐบาลลุงตู่ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนนับหมื่นล้านบาท ด้วยเงินส่วนตัวเสียแล้ว โดยอ้างเอากรณีคดีทุจริตจำนำข้าว ที่ศาลพิพากษาให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำคุกและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐมาเทียบเคียง 


กรณีจึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงของคดีการปิดเหมืองแร่กับคดีการทุจริตจำนำข้าว แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร และนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ต้องรับผิดแค่ไหนเพียงใด เป็นเรื่องที่ประชาชนและผู้รักความเป็นธรรม  พึงต้องใช้ดุลยพินิจพิจารณา ด้วยวิจารณญาณของวิญญูชนผู้มีสติปัญญา ในการรับฟัง เพื่อมิให้ตนตกเป็นเหยื่อ หรือเครื่องมือทางการเมืองของใคร หรือหลงเชื่อวาทกรรมการปั่นกระแสสร้างข่าวเท็จของนักการเมืองบางจำพวก เพียงหวังผลในการทำลายความนิยมของฝ่ายตรงข้าม 
 

หากพิจารณาข้อเท็จจริง กรณีการปิดเหมืองแร่ทองคำ จะเห็นว่าเป็นปัญหาจากกรณีพิพาทระหว่าง บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร กับชาวบ้าน ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้


ปี 2550-2557 มีประชาชนผู้เดือดร้อนจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ร้องเรียนต่อรัฐบาลก่อนๆ มาโดยตลอดว่า เหมืองแร่เป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นละออง, เสียงระเบิดดัง, น้ำบริโภคไม่ได้ ส่งผลต่อสุขภาพชาวบ้าน และสภาพแวดล้อมเป็นพิษอันตรายต่อประชาชน ซึ่งมีการร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด, รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ โดยอ้างอิงผลตรวจสอบของห้องปฏิบัติการว่าในน้ำมีสารปนเปื้อน และขอให้ปิดเหมืองแร่

ปี 2557-2560 ยุครัฐบาล คสช.ชาวบ้านจำนวนมากรวมตัวออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง หลังจากไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขจากรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชาวบ้านขอให้แก้ไขผลกระทบ ทีมแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำโดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ลงพื้นที่ตรวจเลือดชาวบ้านหลายร้อยคน พบโลหะหนักในเลือด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)จึงสั่งให้บริษัท อัคราฯ ตรวจรักษาชาวบ้านที่ตรวจพบสารหนูและแมงกานีสเกินเกณฑ์ และมีการสั่งปิดโรงประกอบโลหกรรม นอกจากนี้ยังพบน้ำผุดในนาข้าวใก้ลกับบ่อกักเก็บกากแร่ นายกรัฐมนตรีสั่งให้ 4 กระทรวงร่วมตรวจสอบ
 

เมื่อมีการร้องเรียนคัดค้านว่า เหมืองแร่ทองคำก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน สร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนหลายแห่ง และ 4 กระทรวงที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ได้ฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งฝ่ายค้านและสนับสนุนแล้ว รายงานให้ ครม.รับทราบข้อเท็จจริง เห็นว่าประชาชนได้รับผลกระทบเสียหายทุกข์ทรมานจริง นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น จึงได้ใช้ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญ ระงับการทำเหมืองแร่ไว้ชั่วคราว เพื่อปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำและห้ามต่ออายุประทานบัตร ตั้งแต่ 1 ม.ค.2560 จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการเหมืองแร่แห่งชาติ (คนร.) จะมีมติเป็นอย่างอื่น
 

หลังจากนั้น บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอัคราฯ จึงขอใช้สิทธิ์หารือภายใต้ข้อตกลง TAFTA รัฐบาลไทยก็ได้แต่งตั้งคณะผู้แทนเจรจา โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน แต่การเจรจาไม่ได้ข้อยุติ พฤศจิกายน 2560 บ.คิงส์เกตฯ จึงยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และต่อมา พฤษภาคม 2561 บ.คิงส์เกตฯ ยื่นคำเสนอข้อพิพาท ( Statement of Claim) ต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งฝ่ายไทยก็ต้องยื่นคำแก้ฟ้อง (Statement of Defence) ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ยังไม่มีคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุด ว่าใครจะต้องรับผิดอย่างไร 


ในทางคดีรัฐบาลไทย ยังมีข้อต่อสู้ที่ชอบธรรมและรับฟังได้ เพราะกรณีเช่นนี้เคยมีคำพิพากษาศาลปกครองวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้ว ประกอบกับไทยเป็นสมาชิกร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ จึงมีหน้าที่ดูแลและพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และข้อเท็จจริงเรื่องการได้สัมปทานเหมืองแร่มีการทุจริตติดสินบน ตามที่ ปปช.ชี้มูลอีกด้วย กรณีจึงมีข้อต่อสู้ที่รัฐบาลสามารถเอาชนะหรือเจรจายุติได้

จึงเห็นได้ว่า การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องนี้ มีเจตนาชัดแจ้งว่าเป็นการปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติ มิให้ถูกทำลายก่อความเสียหายร้ายแรงต่อไป ไม่ยอมให้ต่างชาติขุดค้นเอาทรัพยากรล้ำค่าของชาติ ไปตามอำเภอใจโดยปราศจากความรับผิดชอบ เป็นกรณีที่มิได้เพิกเฉยโดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมาย และการตัดสินใจออกคำสั่งดังกล่าว มิได้ส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่อย่างใด การแก้ปัญหานี้ของรัฐบาล จึงเป็นความกล้าหาญที่กล้าออกหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อปลดทุกข์ออกจากชีวิตประชาชน แตกต่างจากคดีจำนำข้าวที่ทำเพื่อประโยชน์พวกตน


คดีทุจริตจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้จะอ้างว่าทำตามนโยบายของรัฐบาลที่หาเสียงไว้และแถลงต่อสภา เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร แต่การปฎิบัติตามนโยบายที่มีจำเลยเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีการทุจริตในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่รับจำนำไม่จำกัดปริมาณ ใช้เงินเกินวงเงิน 500,000 ล้านบาท, การระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐก็ปลอมและโกง, ขั้นตอนการรับจำนำข้าวก็ทุจริต มีการสวมสิทธิชาวนา นำข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิจำนำ การเก็บข้าวมีสูญหาย การออกใบประทวนอันเป็นเท็จ การใช้เอกสารปลอม หน่วยงานใดๆ ของรัฐรายงานเตือนรัฐบาลก็ไม่สนใจ และมีบริษัทเอกชนพวกของตนรายเดียวได้ประโยชน์ ทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท จึงถูกตรวจสอบได้ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 


และคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ให้ลงโทษจำคุก5ปี รายละเอียดปรากฎตามคำพิพากษา
 

กรณีการปิดเหมืองแร่กับคดีทุจริตจำนำข้าว จึงแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน มิอาจเทียบเคียงกับกรณีปิดเหมืองได้เลย เรื่องนี้จึงสอนนักการเมืองบางคนให้รู้ว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมครับ ดังพุทธภาษิต “กัมมุนา วัตตติ โลโก” การจะเรียกร้องให้ใครรับผิดอย่างไร ควรพิจารณาไปตามกรรมการกระทำของบุคคลนั้นๆ เป็นสำคัญ มนุษย์อาจหนีกฎหมายได้แต่มิอาจหนีพ้นกฎแห่งกรรม ผู้ใดสุจริตก่อกรรมดี ช่วยชาติช่วยประชาชน ย่อมได้ดีแน่นอน และผู้ใดให้ทุกข์แก่ท่านระวังทุกข์นั้นจะถึงตัว รัฐบาลใดรับสินบนอาจโดนกรรมไลล่าเสียเอง