‘สนามหลวง’ ไม่เหมือนเดิม

18 ก.ย. 2563 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2563 | 08:56 น.

“กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์” หรือ ม็อบเยาวชนปลดแอก นัดชุมนุมใหญ่หวังใช้พื้นที่ “ท้องสนามหลวง” หรือ สนามหลวง เพื่อแสดงออกทางการเมืองในวันที่ 19 กันยายน 2563 นี้

หากพลิกประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่า ที่นี่ได้ต้อนรับนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยมาแล้วมากมาย จนกลายเป็นสัญลักษณ์เชิงการเมืองในปัจจุบัน ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า สถานที่แห่งนี้ กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น “โบราณสถานสำคัญของชาติ” ที่ห้ามมิให้   “ผู้ใดบุกรุก ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์  มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”  

ในอดีต “ท้องสนามหลวง” ถูกเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ กระทั่งในปี พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” 

นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ได้ใช้ “สนามหลวง” เป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้นานาประเทศเห็นว่า  เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมือง 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

 

‘สนามหลวง’ ไม่เหมือนเดิม

 

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่างๆที่สร้างในรัชกาลก่อน เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปในปี 244 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆใช้เป็นสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ

นอกจากนี้ ท้องสนามหลวง ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ , สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 รวมทั้งงานพระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป

 

 

ล่าสุดถูกใช้เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศเพื่อประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เนื่องจาก “สนามหลวง” มีพื้นที่กว้างขวาง ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญๆทางการเมือง ทั้งทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา “สนามหลวง” จึงถูกใช้เป็นสถานที่นัดชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่างๆ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การชุมนุมครั้งสำคัญ  เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยใช้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 

ทั้งยังถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 รวมถึงเป็นที่ชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ใช้พื้นที่สนามหลวงในการชุมนุมอยู่หลายครั้ง เช่น ในปี 2552 ใช้เป็นที่ปักหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล และเมื่อปี 2557 กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ใช้จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถาน” ของ สนามหลวงนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2520 ซึ่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มีบทกำหนดโทษ มาตรา 32 ระบุว่า “ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ดี แม้จะถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วก็ตามแต่การใช้ทำกิจกรรมของประชาชนยังไม่ได้ถูกปิดกั้น ไม่ได้ห้ามผู้คนเข้าไปใช้พื้นที่

ดังนั้น ภายหลังจากที่กรุงเทพมหานครได้บูรณะสนามหลวงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2553 ได้สร้างรั้วเหล็กกั้นรอบสนามหลวงแล้วเสร็จ จึงได้ออกระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการใช้ การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.2555 เพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยห้ามมิให้กลุ่มบุคคลใดๆเข้าไปทำกิจกรรมใดๆทั้งสิ้น หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี หรือ ปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย  โดย  กมลพร ชิระสุวรรณ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,611 หน้า 10 วันที่ 20 - 23 กันยายน 2563