โควิค-19 กับตลาดแรงงานไทย

23 ก.ย. 2563 | 06:20 น.

โควิค-19 กับตลาดแรงงานไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย... ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา  รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,612 หน้า 5 วันที่ 24 - 26 กันยายน 2563

 

การแพร่ระบาดของโควิค-19 ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนและรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ข้อมูลจากสภาพัฒน์ชี้ว่า ไตรมาส แรกและไตรมาสที่สองของปี 2563 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยติดลบ 2% และลบ 12.2% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิค-19 ทำให้กลไกทางเศรษฐกิจหยุดทำงานและเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งไม่เพียงแต่ผลกระทบจากภาคการเงินที่จำเป็นต้องดูแลสภาพคล่องของภาคธุรกิจและผลกระทบทางการคลังจากมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาผู้ได้รับผลกระทบซึ่งต้องกู้เงินเป็นจำนวนมากประกอบกับการเก็บภาษีตํ่ากว่าเป้าหมายเนื่องจากเศรษฐกิจหยุดชงัก แต่วิกฤติิที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอีกด้วย ทำให้มีการจ้างงานลดลงและอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น 

 

การว่างงานเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์มหภาคซึ่งกระทบกับประชาชนโดยตรงและรุนแรงที่สุด สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วการสูญเสียงานหมายถึงการลดมาตราฐานการครองชีพและความทุกข์ระทมในทางจิตวิทยา  โดยทั่วไปแล้วการว่างงานในระดับสูงหมายถึงทั้งโอกาสหางานได้ตํ่าสำหรับผู้ว่างงานและโอกาสตกงานสูงสำหรับผู้ที่มีงานทำ 

 

ดังนั้น ช่วงเวลาที่มีการว่างงานในระดับสูงจะเกี่ยวข้องกับสัดส่วนที่ตํ่าของผู้ที่ว่างงานจะหางานได้และสัดส่วนที่สูงของผู้ที่มีงานทำจะสูญเสียงาน การลดลงของอัตราการว่างงานส่งผลให้ค่าจ้างสูงขึ้น สภาวะของตลาดแรงงงานจะกำหนดค่าจ้างเนื่องจากว่าอัตราการว่างงานตํ่าทำให้ผู้มีงานทำอยากจะลาออกจากงานและง่ายที่จะได้งานใหม่ หมายความว่าเมื่ออัตราการว่างงานลดลง บริษัทที่ต้องการจะลดการลาออกของคนงานจะเพิ่มค่าจ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนงานทำงานกับบริษัทต่อไป ดังนั้นเมื่อมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง การจ้างงานเพิ่มขึ้น การว่างงานลดลง จะทำให้ค่าจ้างเพิ่มส่งผลต่อเนื่องให้ระดับราคาเพิ่มขึ้น

 

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานชี้ว่า ในช่วงก่อนการแพร่ระบาด เดือนธันวาคมปี 2562 พบว่ามีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.21 ล้านคน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 3.67 แสนคน การว่างงานอยู่ที่  0.9% อย่างไรก็ตามเดือนสิงหาคมปี  2563 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.83 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 38.05 ล้านคน แต่มีผู้ว่างงานสูงขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 7.24 แสนคน  คิดเป็นการว่างงาน 1.9% 

 

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิค-19 ต่อการจ้างงานในระยะสั้นนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบ โควิค-19 ต่ออุปสงค์ เนื่องจากในระยะสั้นอุปสงค์คือปัจจัยสำคัญที่กำหนดการผลิตสินค้าและบริการ อุปสงค์ที่ลดลงทำให้มีการผลิตน้อยลงและก่อให้เกิดการว่างงานที่สูงขึ้น การแพร่ระบาดของโควิค-19 ทำให้หลายประเทศต้องใช้หลายมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก การผลิตลดลง รายได้ลดลง ส่งผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวอย่างหนัก 

 

รายได้และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งกำหนด การบริโภคและการลงทุนในประเทศ  เนื่องจากรายได้ลดลงจากการผลิตที่ลดลงและความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้ขาดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ 

 

ผลคือการบริโภคและการลงทุนลดลง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้อุปสงค์ลดลง ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิค-19 ต่อตลาดแรงงานทำให้ผู้มีงานทำลดลงอย่างชัดเจน การจ้างงานลดลงทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคนอกเกษตรกรรม ภาคนอกเกษตรกรรมการจ้างงานลดลงเกือบทุกสาขา

 

ในระยะสั้นการเคลื่อนที่ปีต่อปีหรือความผันผวนของอัตราการว่างงานจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสภาวะเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอัตราการว่างงานจะตํ่า ในขณะที่เมื่อเศรษฐกิจถดถอยการว่างงานจะสูง ในขณะที่ระยะยาว อัตราการว่างงานถูกอธิบายโดยใช้เส้นแนวโน้มหรืออัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติ (Natural rate of unemployment) ซึ่งคืออัตราการว่างงานดุลยภาพ หรือกล่าวได้ว่าคือค่าเฉลี่ยของอัตราการว่างงานที่เศรษฐกิจมีความผันผวนอยู่รอบๆ ค่านี้ อัตราธรรมชาติคืออัตราการว่างงานที่เศรษฐกิจมุ่งเข้าสู่ระยะยาวเมื่อตลาดแรงงานไม่สมบูรณ์ซึ่งขัดขวางแรงงานทำให้ไม่สามารถหางานได้ในทันที

 

 

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติ จากไตรมาสแรกปี 2554 ประมาณได้ว่าอยู่ที่ระดับ 0.66% ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งอยู่ที่ 1.24% ในไตรมาสที่สองของปี 2563 จะเห็นได้ว่าไตรมาสที่สองของปี 2563 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิค-19 ไปแล้วอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.95% ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติค่อนข้างมาก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยลดลงและตํ่ากว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ระดับปกติของไทย 

 

อัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติของไทยสูงขึ้นสะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย สัดส่วนของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง ในขณะที่สัดส่วนของการจ้างงานในภาคการผลิตและภาคบริการปรับสูงขึ้น เนื่องจากทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ของแรงงานจากภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตและบริการแตกต่างกัน การย้ายของแรงงานทำให้ทักษะพิเศษบางอย่างของแรงงานหมดความจำเป็น ทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้นในการหางาน เนื่องจากต้องใช้เวลาเรียนรู้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็น 

 

 

โควิค-19 กับตลาดแรงงานไทย

 

 

นอกจากนี้อัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเกิดจากความไม่เท่ากันเชิงพื้นฐานระหว่างจำนวนของผู้ที่ต้องการทำงานและจำนวนงานที่มีอยู่ ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินของแรงงานหรือมีผู้ว่างงานเกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขึ้นตํ่าส่งผลให้ค่าจ้างสูงขึ้นของกลุ่มคนงานที่ขาดทักษะและไม่มีประสบการณ์ 

 

ดังนั้น จึงไปลดปริมาณแรงงานที่ต้องการโดยบริษัท ค่าจ้างของคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานถูกกำหนดโดยการต่อรองระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัท โดยปกติแล้วข้อตกลงทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ผลคือบริษัทลดการจ้างงาน ค่าจ้างที่สูงขึ้นทำให้คนงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามหลักการค่าจ้างประสิทธิภาพ (Efficiency wage) ยิ่งบริษัทจ่ายค่าจ้างสูง ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้คนงานทำงานอยู่กับบริษัท ทำให้บริษัทรักษาคนงานที่ดีที่สุดไว้ได้ ทำให้คนงานมีความพยายามมากยิ่งขึ้น แต่ค่าจ้างที่สูงทำให้การได้งานอยู่ในอัตราที่ตํ่า ค่าจ้างขั้นตํ่าของไทยเพิ่มขึ้นจาก 215 บาทต่อวันในปี 2554 มาเป็น 331 บาทต่อวันในปี 2563 

 

นอกจากนี้ศักยภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสภาวะตลาดแรงงาน การเติบโตของศักยภาพการผลิตมีความสัมพันธ์กับความสามารถของแรงงานด้านเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมในการสร้างสินค้าที่มีมูลค่าสูง การเติบโตของศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นส่งผลให้การว่างงานลดลง ข้อมูลทางเศรษฐกิจของไทยที่ชี้ว่าการว่างงานมีแนว โน้มที่สูงขึ้นจึงมีนัยะที่สะท้อนถึงการลดลงของศักษภาพการผลิตของแรงงานไทย

 

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือผลกระทบของวิกฤติิโควิค-19 ต่อการจ้างงานนั้น นอกจากมีผลกระทบต่ออุปสงค์ซึ่งทำให้เกิดการว่างงานในระยะสั้นแล้ว อาจจะมีผลกระทบต่อผลผลิตและการจ้างงานแม้ในระยะยาว วิกฤติิการแพร่ระบาดโควิค-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง อาจจะทิ้งแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทย โดยส่งผลให้อัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่สามารถฟื้นกลับคืนมาได้อย่างเต็มที่ เมื่อเศรษฐกิจไทยพยายามกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือธรรมชาติ แต่ไม่สามารถหาเจอภาวะปกติ เนื่องจากระดับธรรมชาติของการว่างงานถูกยกขึ้นสูงกว่าเดิมมาก

 

วิกฤติิการแพร่ระบาดโควิค-19 ส่งผลกระทบอย่างถาวรถ้าวิกฤติินี้เปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่สูญเสียงาน คนงานอาจสูญเสียทักษะการทำงานที่มีค่าเมื่อถูกเลิกจ้าง และไปลดศักยภาพการหางานเมื่อวิกฤติิผ่านพ้นไป การว่างงานเป็นระยะเวลายาวนานอาจจะเปลี่ยนทัศนคติของคนงานต่อการทำงานและลดความปรารถนาในการหางาน 

 

ในกรณีเหล่านี้เศรษฐกิจถดถอยทำให้ขบวนการหางานช้าลงและส่งผลให้จำนวนการว่างงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจถดถอยสามารถมีผลกระทบถาวรต่อเศรษฐกิจได้โดยการเปลี่ยนขบวน การกำหนดค่าจ้าง คนงานที่ตกงานอาจสูญเสียอิทธิพลในการกำหนดค่าจ้าง อาทิเช่นคนงานที่สูญเสียงานอาจจะหมดสิ้นสมาชิกภาพของสหภาพแรงงาน ถ้าจำนวนคนในสหภาพแรงงานมีน้อยแต่คนงานนอกสหภาพแรงงานมีจำนวนมากและคนในให้ความสำคัญกับค่าจ้างมาก กว่าการจ้างงาน เศรษฐกิจถดถอยจึงอาจทำให้ค่าจ้างแท้จริงสูงขึ้นกว่าระดับดุลยภาพอย่างถาวร 

 

จากนี้ไปจนถึงสื้นปีการว่างงานจะคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าไตรมาสสองปี 2563 รัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยเยียวยาแรงงานผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบกลุ่มแรงงานอิสระ เกษตรกร ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลสภาพคล่องของผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงานไว้ มาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดมีความจำเป็นอย่างยิ่งซึ่งต้องให้ความช่วยเหลือตรงจุดถึงมือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทันเวลา และต้องเพียงพอ 

 

ในการแก้ปัญหาการว่างงานในระยะต่อไป รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างตลาดการผลิตสินค้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและบริการ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ต้องเร่งสร้างแรงงานที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ เพิ่มทุนมนุษย์เพิ่มศักยภาพการผลิต เพื่อให้ได้ตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพมารองรับ