สัญญาณชี้ชัด เศรษฐกิจซึมยาว

27 ก.ย. 2563 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2563 | 07:52 น.

สัญญาณชี้ชัด เศรษฐกิจซึมยาว : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3613 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-30 ก.ย.2563

 

สัญญาณชี้ชัด

เศรษฐกิจซึมยาว
 

            ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินภาวะเศรษฐไทยปี 2563 จะหดตัวน้อยกว่าคาดโดยคาดว่าจะหดตัวที่ 7.8%  ดีกว่าที่ประเมินเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 8.1% เล็กน้อย แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและยืดเยื้อจะส่งผลต่ออุปสงค์ต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 9 ล้านคน ในปี 2564 จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ลดลงจากการประเมินก่อนหน้านี้
 

            ธปท.วิเคราะห์ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูงและจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนแพร่ระบาด สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพี สำหรับในปี 2564 จาก 5.2% เหลือ 3.4% จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดในหลายประเทศ

            บล.เกียรตินาคินภัทร ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ฐานะการเงินของธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง มีความเสี่ยงในการเลิกกิจการหากสถานการณ์การปิดประเทศยังคงลากยาว โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก 2.ผลกระทบต่อการว่างงานอาจรุนแรงขึ้น คาดว่าจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคน หรือมากกว่านั้น หากเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปีหน้า
 

            3.มาตรการพักชำระหนี้แบบทั่วไปกำลังจะหมดลง หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะมีลูกหนี้สัดส่วนมากน้อยเพียงใดที่จะไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ และหนี้จำนวนมากแค่ไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพิ่มเติม จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่จะกดดันการบริโภค สินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงการลงทุนที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากธนาคาร
 

            จากสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังอ่อนแอและมีความไม่แน่นอนสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่มาตรการแก้ไขของภาครัฐในระยะต่อไปจะต้องตรงจุด ทันการณ์มากขึ้น รวมทั้งพิจารณานโยบายการคลังเพิ่มเติม เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้ารองรับแรงงานที่ตกงานที่จะเกิดขึ้น ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน