แนวทางการปรับโครงสร้างระบบราชการผ่านกรรมวิธี ลดขนาดข้าราชการ และเพิ่ม ประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านงบประจำถูกโยนระเบิดออกมาลูกใหญ่อีกรอบ โดย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในงานสัมมนา ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤติหนี้
ดนุชา ชี้ว่า “ข้อมูลหนี้สาธารณะของไทยในเดือน ก.ค. 2563 อยู่ที่ 47% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ 41% ต่อจีดีพี เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไม่ปกติ จำเป็นต้องมีการกู้เงินเพื่อเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน แม้ภาพรวมหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ซึ่งยังบริหารจัดการได้ แม้จะมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท สุดท้ายสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพี สะท้อนว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า และการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนส่งผลให้เครื่องมือเศรษฐกิจอื่นๆ ทำงานได้ลำบาก เหลือเพียงการใช้จ่ายภาครัฐอย่างเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นในระยะ 1-2 ปีนี้ รัฐบาลจึงต้องเป็นกลไกในการลงทุนต่างๆ ไปก่อน นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับลดงบรายจ่ายประจำลง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องพยายามจัดทำงบประมาณแบบสมดุลให้ได้อย่างน้อยภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เพราะว่าการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเหมือนปัจจุบันต่อไปคงไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมา การขาดดุลงบประมาณจะเกิดจากการกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3-5 แสนล้านบาท หนี้ส่วนนี้ไม่มีความน่ากังวล เพราะท้ายที่สุดโครงการจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมาด้วย
ทว่า หนี้ที่เกิดจากการทำนโยบายกึ่งการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านกลไกของรัฐ อาทิ ธนาคารรัฐ โดยเป็นการช่วยไปก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบชดเชยภายหลัง โครงการพีพีพี เป็นต้น นโยบายกึ่งการคลังนี้สามารถทำได้แค่บางช่วงเวลา และบางโครงการเท่านั้น ทำมากไม่ได้ เพราะจะกระทบกับฐานะการคลัง จนอาจทำให้งบลงทุนตามกรอบงบประมาณในแต่ละปีลดลง
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากต้องการลดการขาดดุลงบประมาณ และเดินหน้าเข้าสู่งบสมดุลนั้น รัฐบาลต้องเริ่มจากปรับโครงสร้างระบบราชการ เพราะเป็นระบบใหญ่ ตามงบประมาณ มีงบรายจ่ายประจำถึง 80% ถือว่าสูงมาก สูงเกินไป ในขณะที่ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีนำมาใช้ทำงานได้ รัฐบาลจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ปรับโครงสร้างระบบราชการ เพื่อลดงบส่วนนี้ ให้มีงบลงทุนมากขึ้น ก็จะช่วยลดการขาดดุลลงได้ พร้อมทั้งต้องจัดเก็บรายได้เพิ่ม” เลขาธิการสภาพัฒน์คนใหม่เสนอความคิดเห็น
ข้อคิดเห็นในเรื่องการลดขนาดกำลังคนภาครัฐ มิได้เป็นเรื่องใหม่ หากแต่มีการโยนหินถามทางมาตลอด แต่ไม่เคยมีการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มี พงศ์โพยม วาศภูติ เป็นประธาน เคยเสนอยุทธศาสตร์ชาติเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ด้วยการลดขนาดภาครัฐให้กะทัดรัดเหมาะสมกับภารกิจ มีสมรรถนะสูง มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น มีขั้นตอนการบังคับบัญชาที่สั้น เปิดเผย โปร่งใส ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพื่อปรับสมดุลระบบบริหารจัดการภาครัฐ ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี มี 5 แนวทาง
1. สร้างความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการสาธารณะของภาครัฐไม่น้อยกว่า 80%
2. จำกัดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐไม่เกิน 30% เพื่อให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง โดยลดความซ้ำซ้อนและปรับภารกิจของหน่วยงานภาครัฐให้เหมาะสม
3. เพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐจากการสำรวจของ IMD International Institute for Management Development อยู่ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 10 ของโลก โดยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี บิ๊กดาต้า และระบบการทำงานที่เป็นดิจิตัลมาประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล
4. การรับรู้การทุจริตของประเทศไทยอยู่ในลำดับ 1 ใน 20 Corruption Perception index: CPI โดยส่งเสริมให้องค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และประชาชนร่วมสอดส่อง เฝ้าระวัง และตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ
5. ดัชนีนิติธรรมทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับสูง กระบวนการยุติธรรม การออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
ทว่าแผนและแนวทางที่เสนอก็เป็นเพียงข้อเสนอ แนวทางการลดขนาดภาครัฐมิเคยเป็นจริง มีแต่จะบวมเอาบวมเอามาตลอด...
ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัจจุบันมีบุคลากรภาครัฐกว่า 2.09 ล้านคน ปี 2561 ต้องใช้เงินงบประมาณสำหรับเงินเดือนบุคลากรภาครัฐราว 622,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 581,579.8 ล้านบาท ประมาณ 40,464.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.35%
และถ้าสแกนไส้ในจะพบว่า งบรายจ่ายของรัฐบาลกว่า 89.4% เป็นงบประมาณบุคลากร เป็นเงินเดือนข้าราชการ
รองลงมาคือค่าตอบแทนพนักงานราชการ 5.6% และค่าจ้างลูกจ้างประจำ 4.7%
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของงบบุคลากรพบว่าเงินเดือนข้าราชการที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.3% ต่อปี
พนักงานราชการ เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% และลูกจ้างชั่วคราว เติบโตเฉลี่ย 0.77%
ส่วนเงินเดือนลูกจ้างประจำ หดตัวเฉลี่ยปีละ 1.78% เงินเดือนลูกจ้างตามสัญญาที่ลดลงเฉลี่ยปีละ 9.28% ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากจำนวนของกลุ่มลูกจ้างที่ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทาง ก.พ.และ ก.พ.ร. พยายามวางแผนลดงบประมาณในส่วนของการบรรจุ “บุคลากรหรือข้าราชการ” ลงมาตลอดแต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้กลับไม่เคยลดลง
ผมไปตรวจสอบข้อมูลก็พบว่าบุคลากรภาครัฐ 2.09 คนนั้นเป็นคนกลุ่มไหน พบว่าเป็นข้าราชการถึง 1.33 ล้านคน หรือ 63.80% รองลงมาเป็นพนักงานจ้าง 0.24 ล้านคน คิดเป็น 11.65% ลูกจ้างชั่วคราว 0.22 ล้านคน คิดเป็น 10.97% ลูกจ้างประจำ 0.13 ล้านคน คิดเป็น 6.63% และพนักงานราชการ 0.14 ล้านคน คิดเป็น 6.95%
และแทบไม่น่าเชื่อว่าข้าราชการ จำนวน 1.33 ล้านคนนั้น ส่วนใหญ่สังกัดบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ถึง 81.49% สังกัดบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเพียง 18.51% เท่านั้น หัวโตแต่ร่างกายผ่ายผอม
และเมื่อตรวจสอบลงไปอีกพบว่า ส่วนราชการระดับกระทรวงที่มีกำลังคนปฏิบัติงานรวมทุกประเภท (ข้าราชการพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราว) มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการจำนวน 606,511 คน คิดเป็น 28.99%
กระทรวงสาธารณสุข 308,130 คน คิดเป็น 14.73% ในจำนวนนี้ยังไม่รวมพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้เงินนอกงบประมาณได้แก่เงินบำรุงของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 107,236 คน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวน 219,642 คน คิดเป็น 10.50%
ส่วนราชการระดับกระทรวงที่มีกำลังคนปฏิบัติงานรวมทุกประเภท น้อยที่สุด คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1,170 คน คิดเป็น 0.06%
กระทรวงพลังงาน 2,312 คน คิดเป็น 0.11%
ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง จำนวน 2,656 คน คิดเป็น 0.13%
สำหรับส่วนราชการในสังกัดบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีกำลังคนปฏิบัติงานรวมทุกประเภททั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานจ้างมากที่สุด ได้แก่ เทศบาล 186,105 คน คิดเป็น 8.89% องค์การบริหารส่วนตำบล 170,382 คน คิดเป็น 8.14% และกรุงเทพมหานคร 89,967 คน คิดเป็น 4.30%
คำถามคือเราจะทำอย่างไรกันดีกับอัตรากำลังคนของราชการที่เป็นหัวโตตัวลีบ แต่ค่าใช้จ่ายบวม!
ใครช่วยตอบที