ไทยพร้อมรับมือ คาร์บอนวอร์

12 พ.ย. 2563 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2563 | 12:11 น.

ไทยพร้อมรับมือ คาร์บอนวอร์ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3626 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย.2563

 

ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีความชัดเจนแล้วที่ “โจ ไบเดน” ได้คว้าเก้าอี้ผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ซึ่งจะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564
 

นโยบายที่หาเสียงไว้ หลายฝ่ายชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า จะทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ดำเนินมาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ จะผ่อนคลายลง สร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกกลับมาอีกครั้ง  
 

แต่ที่มีความกังวลกัน ดูเหมือนโจ ไบเดน จะจับมือกับพันธมิตรยุโรป เพื่อกดดันจีนในการทำสงครามเทคโนโลยี (เทค วอร์) มากขึ้น รวมถึงการกลับเข้าสู่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ให้ความสำคัญ และถอนตัวออกมา จะเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี มาแทนเทรดวอร์
 

นโยบายของโจ ไบเดน ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ประกาศชัดเจนว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา มีแผนจัดประชุมผู้นำประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศเพื่อกำหนดเป้าหมายอย่างจริงจังมากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน

ทั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายของสหรัฐอเมริกา ในการนำเข้าสินค้าไปจำหน่ายต้องติดฉลากคาร์บอน (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบรายละเอียดว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์นั้นสู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดอายุการใช้งานมีปริมาณเท่าใด รวมถึงการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tariffs) สำหรับสินค้านำเข้า ซึ่งจะทำให้สินค้าประเภทต่างๆ มีราคาสูงขึ้น หากไม่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์
 

เมื่อมาพิจารณาไทยเอง มีความพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งหากมองในเชิงบวก ไทยเองอาจจะได้อานิสงส์จากการที่สหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ COP21 ที่จะกลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการลดภาวะโลกร้อน เพราะไทยได้มีการลงนามในข้อตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดเป้าหมายที่ 20-25 % ภายในปี 2573 ไว้ และถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง
 

ในปี 2560 พบว่าประเทศไทยสามารถลดไปได้แล้วราว 14% ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ลดได้ประมาณ 12% จากสาขาพลังงานและขนส่ง เป็นส่วนใหญ่ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่ไทยมีเป้าหมายจะใช้ให้ได้สัดส่วน 30% ในปี 2580 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การเจรจาต่อรองทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ง่ายขึ้น
 

ขณะที่การเตรียมพร้อมรับมือกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าหลายรายได้เริ่มดำเนินการโดยให้หน่วยงานรับรองระหว่างประเทศมาตรวจวัดการปล่อยก๊าซ และให้การรับรองฉลาก เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค
 

ปัจจุบันไทยถือว่ามีความพร้อมมากสุดในอาเซียนมีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ได้ฉลากแล้วราว 4,472 ผลิตภัณฑ์  ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม รองลงมา เป็นกลุ่มก่อสร้าง ปิโตรเลียม และเครื่องประดับพร้อมที่จะส่งออกสินค้าไปแข่งขันได้ 
 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกนับหมื่นรายการที่ยังไม่มีความพร้อม จะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการส่งออกิสนค้าไปยังสหรัฐอเมริกา หากมีการเก็บภาษีคาร์บอนขึ้นมา ย่อมจะกระทบต้นทุนผู้ส่งออกอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
 

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา คงต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับนโยบายลดโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาที่จะตามมา แม้ว่าต้นทุนผลิตสินค้าจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะสุดท้ายแล้วเมื่อทั้งโลกต้องหันมาใช้กฎกติกาเดียวกัน การส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาก็จะไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบอีกต่อไป