บทความฉบับนี้ ผมขอพาท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปช่วงปี พ.ศ. 2540 ที่พลเมืองโลกต่างรู้จักฤทธิ์เดชของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่อาการบาดเจ็บเริ่มต้นส่อให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายรัฐบาลคุณบรรหาร ศิลปอาชา และเกมการเมืองก็บีบให้คุณบรรหารยุบสภาและเลือกตั้งใหม่
โฆษณาหาเสียงขไองนักการเมืองสมัยปี 2540 ยกเอาความรู้ความเชี่ยวชาญและความสามารถของทีมงานที่เรียกกันว่า “ดรีมทีม” เข้ามาประกวดประชันกันทั้งหมด 2 พรรคขนาดใหญ่ และ 1 พรรคขนาดกลาง ซึ่งตอนนั้นสื่อมวลชนพากันขนานนามการแข่งขันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ว่า เป็นการแข่งขันของ “3 ช” ซึ่งก็คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ คุณชวน หลีกภัย และ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ก็มีนักข่าวสายเฮฮากระเซ้าเย้าแหย่กันว่า น่าจะเป็นของคุณชัย ชิดชอบแน่ๆ เพราะ 3 ช จริงๆ
คนแรกที่กระโดดลงมาท้าชิงหลังจากผิดหวังจากการขอร้องให้คุณบรรหาร ลาออก แต่คุณบรรหารดันเอาคืนด้วยการยุบสภา คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ควงคู่มากับ ดร.อำนวย วีรวรรณ และทีมเศรษฐกิจของพรรคความหวังใหม่ คุณอำนวยผ่านตำแหน่งสูงสุดอย่างปลัดกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ทำให้ชื่อทีมเศรษฐกิจที่คนกรุงไม่ค่อยชอบก็ยังพอรับได้
แต่พอหันไปทาง คุณชวน หลีกภัย ที่มีทีมเศรษฐกิจแข็งโป๊กอย่างดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ และคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ยืนเป็นแบ็คอย่างดี ทำให้ภาพของ “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ของพรรคประชาธิปัตย์โดดเด่นขึ้นมาอย่างมาก ขณะที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่พาเศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักกลับเป็นแค่ความตื่นเต้นของการเลือกตั้งเท่านั้น
และแล้ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2540 เพราะเหตุด้วยพรรคความหวังใหม่ได้รับการเลือกตั้งของจำนวนส.ส.สูงที่สุดในสภา แต่ พลเอกชวลิต ก็จำใจต้องลาออก เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าและรุนแรงมากขึ้นทุกที ขั้วการเมืองก็สวิงกลับมาชู คุณชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง พร้อมกับความคาดหวังว่า มืออาชีพอย่างพรรคประชาธิปัตย์จะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยความรวดเร็ว แต่การณ์กลับมิได้เป็นเช่นนั้น แม้รัฐบาลชวนสองจะพยายามมากสักเท่าใด ผลลัพธ์กลับช้าเป็นเรือเกลือจนรัฐบาลคุณทักษิณกลับได้รับอานิสงค์จากการแก้ไขปัญหาของคุณชวนไป
ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงต้นของทศวรรษ 2540-2549 พระเอกขี่ม้าขาวของประเทศไทย คือ ภาคการส่งออกและท่องเที่ยว และค่าเงินบาทในขณะนั้นก็เอื้ออำนวยให้สินค้าของประเทศไทยถูกลงในสายตาของผู้ซื้อต่างชาติ
เมื่อรัฐบาล คุณทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารก็จุดเครื่องยนต์การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนให้เร่งสปีดเศรษฐกิจไทยให้โตเร็วขึ้น ท่านผู้อ่านจะเห็นได้จากกราฟที่ปรากฏในบทความที่ระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงระหว่าง 3-8% จนกระทั่งวิกฤติการณ์ตลาดการเงินซับไพรม์จุดระเบิดตัวเองขึ้นก็พาประเทศต่างๆ เจอปัญหาเดียวกันกว่าค่อนโลก
เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป ประเทศไทยก็เริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจกันใหม่ในปี 2553 เป็นต้นไป แต่ใครจะคิดว่า ด้วยความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความไร้พลังของภาคราชการได้ฉุดให้ประเทศไทยติดหล่มโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่ยังไม่สามารถขยับหรือขับเคลื่อนการเติบโตด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีได้อย่างที่ควรจะเป็น
สินค้าใหม่ที่ประเทศไทยผลิตออกมาขายให้นักลงทุนที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากมันสมองของทีมเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (The Eastern Economic Corridor) ที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเน้นพัฒนา 12 อุตสาหกรรม ที่รัฐบาลแปะฉลากว่า “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การป้องกันประเทศ และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
แม้รูปแบบของสินค้าอย่าง EEC จะคล้ายๆ สินค้าเก่าๆ ที่เราเคยขายมาแล้วในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์อย่างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีดร.สาวิตต์ โพธิวิหค เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงปั้นขึ้นมา แต่ EEC กลับมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่จะทำให้โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากในอดีตจนแทบลืมหน้ากันเลย เพราะทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่หมายมั่นปั้นมือให้มาอยู่ใน EEC เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากรถยนต์อีโคคาร์เป็นซุปเปอร์คาร์แบบเห็นได้ชัด แต่หลายๆ คนกลับมองอย่างห่วงใยว่า โครงการแห่งความหวังของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะกลายเป็นโครงการขายฝันเสียมากกว่า
ถ้าย้อนกลับไปหาทฤษฎีว่าด้วยระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ตำราก็จะบอกว่า ประเทศใดเชี่ยวชาญเรื่องอะไร ก็จงไปทำเรื่องนั้นเสียให้จนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และความสามารถทางการแข่งขันของประเทศก็จะถูกสร้างขึ้นจากความเชี่ยวชาญของประเทศนี่เอง
แต่ความเชี่ยวชาญก็เกิดจากประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทุนมนุษย์ที่มักถูก พัฒนาจากระบบการศึกษาที่ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องการจะมุ่งไป
ยกตัวอย่างเช่น หากจะกล่าวถึงงานทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ คนส่วนใหญ่ก็จะยอมรับว่า ประเทศเยอรมนีขึ้นชื่อทางด้านการผลิตรถยนต์ ซึ่งลองมองลึกๆ เข้าไปก็จะพบว่า ระบบการศึกษาของประเทศเยอรมนีก็มุ่งให้เกิดนักเทคนิคขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ซึ่งเป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้
รัฐบาลไทยวางเป้าหมายว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next- generation Automotive) ให้เกิดขึ้นให้จงได้ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาเป็นห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ แต่ประเทศไทยไม่เคยมีบริษัทรถยนต์ของคนไทยที่แข่งกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ ได้เลย แม้เราจะอ้างว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากว่า 40 ปี แต่ 40 ปีกลับไม่มีรถแบรนด์คนไทยที่ให้เราเชิดหน้าชูตาแม้แต่รายเดียว เราเป็นเพียงผู้รับจ้างเจ้าของเทคโนโลยีก็เพียงเท่านั้น
แล้วทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์เคยหันไปถามรัฐมนตรีทางด้านการศึกษาหรือไม่ว่า เรามีสถาบันการศึกษาที่เตรียมคนไว้ให้พร้อมสำหรับการสร้างระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่แล้วหรือยัง หลักสูตรว่าด้วยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแนวคิดหรือทฤษฎีล่าสุดได้รับการเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยไหนบ้าง วิชาว่าด้วยระบบการบริหารแบตเตอรี่หรือ Battery Management System ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะมาสอนเด็กๆ แล้วมีโรงเรียนมัธยมใดที่สอนวิชาฟิสิกส์ว่าด้วยรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะหรือไม่
ถ้านับจำนวนปีตั้งแต่เรามีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมที่พาเราหลุดจากความยากลำบากก็ยี่สิบปีที่แล้ว แต่ความดั้งเดิมที่เราเคยใช้ก็ยังคงอยู่ เรายังคงใช้เครื่องยนต์ตัวเดิมที่ใช้มายี่สิบปีพาประเทศไทยไปแข่งขันกับตลาดโลก ซึ่งคนอื่นเขาอัพเกรดเครื่องยนต์กันไปหมดแล้ว คำถามหลักคงไม่ใช่ว่า EEC ไม่ควรทำใช่หรือไม่ แต่มันควรจะเป็นคำถามที่ว่า ตั้งยี่สิบปีแล้ว ระบบการศึกษาไม่ได้เตรียมคนเพื่อให้เราไปแข่งขันเลยหรือต่างหากเล่า !!