ความขัดแย้งระหว่างวัย กับวิธีแก้ไขด้วยระบบตลาดเสรี

29 พ.ย. 2563 | 08:10 น.

ความขัดแย้งระหว่างวัย กับวิธีแก้ไขด้วยระบบตลาดเสรี : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่ (.ศูนย์)  โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ  คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,631 หน้า 5 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2563

สองสามเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มเดินกลับมาสู่ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ช่วงรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ ความแตกแยกทางความคิดระหว่างประชาชนสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่สนับสนุนคุณทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ว่าจะมีข้อครหา หรือความน่าสงสัยในการบริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคุณทักษิณเอง แต่ด้วยผลงานที่ถูกตาต้องใจประชาชน มวลชนกลุ่มนี้ยินดีที่จะให้คุณทักษิณเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไปตราบเท่าที่ประโยชน์มาถึงประชาชน 

 

ขณะที่อีกกลุ่มกลับมองว่า คุณทักษิณ อาศัยอำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง และไม่มีความเกรงกลัวต่อการประพฤติเช่นที่ว่าแม้แต่น้อย มวลชนกลุ่มหลังเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และจุดหักเหของสถานการณ์ คือ การที่คุณทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษีแม้แต่สลึงเดียว และด้วยเหตุการณ์นั้นก็ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของกลุ่มไม่เอาคุณทักษิณ จุดติดขึ้นมาจนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 โดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนั้น สงครามกีฬาสีของประเทศไทยก็เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

ประเทศไทยเดินเข้าสู่ความขัดแย้งหลายรูปแบบในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มสนับสนุนรัฐประหาร และไม่เอารัฐประหาร กลุ่มสนับสนุนนายทุนกับสนับสนุนรากหญ้า กลุ่มสนับสนุนสถาบันกับกลุ่มปฏิเสธสถาบัน เพียงแค่คนๆ เดียว แต่กลับมีมิติแห่งความขัดแย้งหลากหลาย เหลือเกิน  

 

ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่เริ่มซับซ้อนขึ้นทุกวินาที จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ แต่รวมกันมีพลัง หรืออำนาจต่อรอง และส่งเสียงบอกต่อสาธารณชนให้ได้ยินชัดเจนขึ้น เช่น อำนาจนิยมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือการประกวดดาวเดือน เป็นต้น 

 

ความซับซ้อนของปัญหาเริ่มพัวพันกันจนจับต้นชนปลายไม่ถูก และเริ่มเป็นที่มาของช่องว่างของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนสองวัย หรือกลุ่มหัวก้าวหน้ากับกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยม แต่ที่น่าสลดไปกว่านั้น คือ ไม่มีใครเลยที่เคารพกติกาของเขตแดนแห่งการสู้รบ หรือทั้งสองกลุ่มเริ่มที่จะไม่เคารพกฎหมาย และมากไปกว่านั้น รัฐบาลกลับไม่สามารถปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้เลย เสมือนหนึ่งรัฐบาลกำลังยื้อเวลาเพื่อให้ความขัดแย้งมลายหายไป

 

ความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างวัยที่วัดโดยอายุ แต่กลับเป็นความขัดแย้งระหว่างวัยที่วัดโดยประสบการณ์ในการมองโลกที่ต่างกัน เพียงแต่ประสบการณ์ในการมองโลกที่ต่างกันกลับสอดคล้องกับความแตกต่างของอายุอย่างพอดิบพอดี จึงทำให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่หัวก้าวหน้ากำลังไม่พอใจคนอาวุโสตกยุคหัวโบราณ  

 

ทั้งที่จริงๆ แล้ว ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์มาอย่างยาว นานนับตั้งแต่เริ่มมีสังคมด้วยซํ้าไป และการที่ผู้คนแต่ละคนยอมสละอิสระและอำนาจบางส่วนให้กับกลุ่มคนที่เราเรียกว่า “ชนชั้นปกครอง” ก็เพื่อให้พวกเขาช่วยลดช่องว่างด้วยอำนาจที่เขามีในมืออย่างเป็นรูปธรรม มิฉะนั้น สังคมก็คงมีแต่ความวุ่นวาย เนื่องจากไม่มีใครเคารพกฎและไม่มีคนบังคับใช้กฎให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 

 

แต่พอกลับมามองตอนนี้ รัฐบาลที่ได้รับการจัดสรรอำนาจส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของประชาชน กลับไม่มีแสดงบทบาทตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มิหนำซํ้า กลับเพิ่มความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้นเสียอีก

 

ปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ คือ เรื่องปากท้อง หากรัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจได้อย่างเจริญเติบโต ประชาชนในประเทศมีกินมีใช้และเหลือเงินติดกระเป๋า ความขัดแย้งจะบรรเทาเบาบางลงไป เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ถูกจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพโดยรัฐบาลที่เก่งและฉลาดเฉลียว  

 

 

 

เราเคยผ่านการปะทะกันของแนวคิดในการจัดสรรทรัพยากรเมื่อสามสี่สิบปีที่แล้วว่า ตลาดหรือรัฐบาล จะเป็นคนที่จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หรือระบอบทุนนิยมกับระบอบคอมมิวนิสต์นั่นเอง เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความสำเร็จที่ได้รับการพิสูจน์ก็ให้หลักฐานว่า การปล่อยให้สังคมบริหารจัดการทรัพยากร โดยถูกควบคุมน้อยที่สุดเป็นฝ่ายชนะแบบขาดลอย ประเทศที่ยังให้รัฐจัดสรรปันส่วนทรัพยากรกลายเป็นประเทศที่ประชาชนอดอยาก ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้

 

หากจะเริ่มแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนสองรุ่น ด้วยการคิดถึงกลยุทธ์ทางการทหาร หรือรัฐศาสตร์ก็มิได้ผิดอันใด เพราะเป็นศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในการปกครองและรักษาความมั่นคงมากที่สุด แต่ก็มิใช่เครื่องมือเดียวที่รัฐบาลจะหยิบมาใช้ในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลจะต้องเข้าใจบริบทของความขัดแย้งเสียก่อนว่า สงครามนี้เป็นสงครามระหว่าง ใครกับใคร และจะจบเมื่อไหร่  

 

ความขัดแย้งระหว่างวัย  กับวิธีแก้ไขด้วยระบบตลาดเสรี

 

หากรัฐบาลเชื่อว่านี่คือสงครามของคนรุ่นใหม่กับคนอาวุโส เราจะอยู่ในสงครามนี้ไปด้วยกันอีกไม่น้อยกว่า 30 ปี เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่พาเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีสิทธิมีเสียงหรือมีความน่าจะเป็นในการตั้งรัฐบาลของตนเองมากกว่า และคนหนุ่มสาวก็จะรู้สึกว่า พวกเขาไม่เห็นอนาคตที่สวยงามของตนเอง เพราะไดโนเสาร์กำลังปกครองและบริหารประเทศอยู่ เราจะเดินไปด้วยกันอย่างนี้จริงๆ หรือ

 

ตลาดเสรีเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า ตลาดเป็นผู้ที่จัดสรรทรัพยากรได้ดีที่สุด ไม่มีใครเก่งเกินตลาดอีกแล้ว และตลาดจะสามารถสร้างเงื่อนไขให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด  

 

กรณีศึกษาที่พอจะมีความเป็นไปได้และเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน คือ คนรุ่นใหม่รวมตัวผ่านทางช่องทางออนไลน์ ขณะที่คนรุ่นเก่าแม้จะมีประสบการณ์ทางโลกออนไลน์บ้าง แต่ก็ยังสบายใจกับโลกออฟไลน์อยู่ พ่อค้าแม่ค้าหรือเจ้าของกิจการขนาดย่อมที่รักความอิสระ มักใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างธุรกิจ คนกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 40 ปีที่ในแต่ละวัน พวกเขาจะอยู่ในสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ เป็นต้น 

 

รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เขาเติบโต ให้เขามุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจ หรือ Focus ในความเป็นอยู่ของเขา รัฐบาลต้องจูงใจให้เขาใช้พลังและความเพียรพยายามของเขาทั้งหมด ไปเพื่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจของตนเอง มิใช่ทำทุกอย่างเพื่อเรียกให้พวกเขามาเรียกร้องให้รัฐบาลออกไป

 

รัฐต้องฉายภาพให้เขาเห็นว่า โลกในอุดมคติและโลกในชีวิตจริงมันแตกต่างกัน ทุกคนกินดีอยู่ดีในสังคมอุดมคติ แต่สังคมแห่งความเป็นจริงมันมีความเหลื่อมลํ้า เขาจึงมองเป้าหมายว่า สังคมไทยก็เป็นสังคมอุดมคติ ดังที่เราเห็นในม็อบที่เขียนกันหลายแห่งว่า “ถ้าการเมืองดี เราจะ...” มากมายเหลือเกิน 

 

 

 

รัฐต้องพยายามใช้ตลาดจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เห็นว่า ประเทศไทยบริหารเพื่อให้โลกแห่งความเป็นจริง กำลังวิ่งเข้าสู่เงื่อนไขของโลกในอุดมคติอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด และต้องให้เห็นว่า รัฐเป็นมิตรกับเขา ไม่ได้เป็นศัตรูเชิงอำนาจของพวกเขาเหล่านั้น

 

ในความเห็นผม ธุรกรรมการค้าออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊คระหว่างผู้ขายรายย่อยกับผู้ซื้อรายย่อยอาจจะเป็นโครงการนำร่องที่ดีมาก คนรุ่นใหม่มีความเป็นอิสระทางความคิด อิสระจากการจ้างงาน อิสระจากธรรมเนียมประเพณีในอดีต รัฐจะต้องเชื่อและไว้ใจเขาว่า เขาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มิใช่เครื่องจักรผลิตเงินสดเพื่อเสียภาษีให้รัฐบาล  

 

รัฐต้องใช้เงื่อนไขของตลาดเสรีให้ผู้ขายมีโอกาสขายสินค้าให้ได้มากที่สุด และให้ผู้ซื้อมีโอกาสซื้อสินค้ามากที่สุด รัฐจะต้องมองเฟซบุ๊คเป็นพันธมิตรของรัฐบาล ในการขยายฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ มิใช่หน่วยภาษีที่กรมสรรพากรมีเป้าหมายที่จะจัดเก็บภาษีให้ได้ เมื่อเฟซบุ๊คเป็นเพื่อน รัฐต้องให้เพื่อนทำให้ตลาดออนไลน์มันคึกคัก รัฐต้องเลิกมองธุรกรรมออนไลน์เป็นหน่วยภาษีที่ต้องเสียภาษีชั่วคราว 

 

การซื้อการขายย่อมทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนเร็วขึ้น เศรษฐกิจก็จะเติบโต และรัฐไม่ควรไปแย่งทรัพยากรจากตลาดมาในรูปของภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณของรัฐบาล ทั้งๆ ที่การหมุนเวียนของ เอกชนในระบบเศรษฐกิจให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากว่า  

 

เพราะฉะนั้น ไว้ใจว่าประชาชนฉลาด ไว้ใจว่าเฟซบุ๊คคือเพื่อน และไว้ใจว่าตลาดเสรีทำงานแทนรัฐบาลได้ รัฐบาลต้องถอยไปตั้งหลักว่า อำนาจมาจากและเป็นของประชาชนที่สละส่วนหนึ่งให้รัฐบาล รัฐบาลก็ย่อมต้องไว้ใจว่า ประชาชนคนที่มอบอำนาจให้เขาคิดเป็น อย่าคิดแทนเขา และต้องเชื่อว่า กลไกตลาดจะทำงานได้เป็นอย่างดี และนั่นจะทำให้เขาได้แสดงศักยภาพอย่างเป็นอิสระ ซึ่งจะดีต่อทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

 

ความขัดแย้งเป็นปัญหาธรรมดาของสังคมมนุษย์ และการแสดงความเห็นก็เป็นเสรีภาพของมนุษย์ รัฐบาลต้องฟังพวกเขาอย่าง ตั้งใจ และพูดคุยกับเขา และต้องใช้กุศโลบายอื่นๆ ดังเช่นนโยบายตลาดเสรีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันกับยุทธศาสตร์ความมั่นคง และเราจะกลับมาสู่สังคมไทยที่ความขัดแย้งไม่ได้นำมาซึ่งสงครามอย่างแท้จริง