โควิดรอบสองของเมียนมาเริ่มเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ (โควิดรอบแรกพบผู้ติดโควิดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563) ทำให้เมืองชิตตะเว่ (Sittwe) กลายเป็น “ศูนย์กลางโควิด” รวมไปถึง “ย่างกุ้ง” อีกด้วย
หลังจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เพิ่มขึ้นวันละพันคน ในขณะที่รอบแรกไม่เกิน 10 คนต่อวัน) ซึ่งเมืองที่มีการติดเชื้อโควิดเป็นอันดับต้นๆ คือย่างกุ้ง รัฐยะไข่ เขตพะโค (Bago) และเขตมัณฑะเลย์ เป็นต้น ตามรายงานของ “Worldometer” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 พบว่า ประเทศเมียนมามีผู้ติดโควิดรวม 101,739 คน มีผู้ติดโควิดใหม่เพิ่มขึ้น 1,308 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2,151 คน และเป็น 1 ใน 23 ประเทศของเอเชียที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ผลกระทบโควิดทั้งสองรอบทำให้เมียนมามีมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ “ADB (September 2020)” ได้ประเมินว่า GDP ของเมียนมา ในปี 2020 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิดก็ตาม แต่เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวลดลงน้อยที่สุดในอาเซียนร่วมกับเวียดนามและยังมี GDP เป็นบวก โดยมีอัตราการขยายตัว GDPเหลือ 1.8% นอกนั้นอีก 7 ประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวติดลบหมด ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี GDP ลดลงมากที่สุดของอาเซียน (-8%) แต่ในปี 2021 มีการคาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาปรับขึ้นเป็น “6%” อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอัตราการขยายตัวทั้งปี 2020 “น่าจะต่ำกว่าที่ ADB คาดการณ์ไว้” เพราะผลของโควิดรอบที่สองและขณะนี้สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่คลี่คลาย
รายงานของ “International Food Policy Research และ USAID (June 4, 2020) ได้ประเมินผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากโควิดพบว่าโควิดรอบแรกทำเศรษฐกิจเมียนมาได้รับผลกระทบหนักสุดในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และไตรมาสที่ 4 เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งบทวิเคราะห์นี้ได้ประเมินของโควิดรอบแรก ฉะนั้นถ้ารวมผลกระทบโควิดรอบที่สองด้วยแล้ว GDP เมียนมา ปี 2020 ต่ำกว่าคาดการณ์แน่นอน
ในบทวิเคราะห์นี้ยังพบว่ากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุดได้แก่ บันเทิง อุตสาหกรรม และก่อสร้าง ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยคือเกษตรกรรม เหมืองแร่ ธนาคาร การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งถ้าแยกออกเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ได้แก่ ธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจเกษตรแปรรูปและการขนส่งอาหาร ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบได้แก่ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร แปรรูปผลไม้ เครื่องดื่มและยาสูบ อ้อยและน้ำตาล เป็นต้น
นอกจากนี้มีการประเมินว่า ถ้าเมียนมามีการล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์ (ประเมินในรอบแรก) จะทำให้ GDP รวมของประเทศลดลงไป 41% GDP ของก่อสร้างลดลงมากที่สุดถึง 80% ตามด้วย GDP ภาคบริการลดลงไป 56% และ GDP ด้านอุตสาหกรรมลดลงไป 52% และจะทำให้แรงงานในเมียนมาตกงาน 5.3 ล้านคน หากไปดูไทม์ไลน์ล็อกดาวน์ของเมียนนาพบว่ามีการล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 ระหว่างกลางเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 และมีการล็อกดาวน์ครั้งที่สองเมื่อเดือนกันยายน 2563
อย่างไรก็ตาม ปี 2021 เศรษฐกิจเมียนมาจะกลับมา “โชติช่วง” อีกครั้ง (ตามที่สถาบันเศรษฐกิจต่างๆ คาดไว้) หากเป็นตามนั้น “ธุรกิจหลังโควิดในเมียนมาใดที่น่าสนใจ” ถ้าให้ผมประเมิน ผมพบว่า “ธุรกิจ E-commerce” น่าสนใจมาก การค้าขายออนไลน์ในเมียนมากำลังโต
นอกจากสินค้าที่ขายออนไลน์แล้ว ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น การอบรมออนไลน์ หลักสูตรออนไลน์ อุปกรณ์เครื่องมือไอที และการทำอินโฟกราฟิก(infographic) เป็นธุรกิจหลังโควิดทั้งสิ้น นอกจากโควิดจะทำให้ E-Commerce ในเมียนมาโตเร็วแล้ว การที่รัฐบาลจีนและเมียนมาให้มี “cross border economic cooperation zone” ระหว่างรัฐฉานกับมณฑลยูนนานของจีน (มูเซ-รุ่ยลี่) ที่มีการสร้างระเบียงเศรษฐกิจแบบครบวงจร เพื่อผลักดันให้เกิดการค้าแบบ “cross border e-commerce” ยิ่งเป็นแรงผลักดันอีกแรงหนึ่งอีกด้วย ธุรกิจต่อไปหลังจากโควิดผมคิดว่า “ธุรกิจก่อสร้าง” เพราะเมียนมาที่แผนก่อสร้างโครงการต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ “กลุ่มอาหารสุขภาพ เครื่องมือด้านสุขภาพ และเครื่องสำอางด้านสุขภาพและดูแลสุขภาพ” จะได้รับการสนใจในตลาดเมียนมา
สิ่งที่ควรระวังคือ หลังจากนี้เมียนมาจะมีการตรวจสินค้านำเข้าเข้มขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน รวมไปถึงค่าเงินจ๊าต (Kyat) ที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ครับ