“น่าน” ชื่อนี้ เมื่อใคร ๆ ได้ยินก็จะนึกถึงเมืองเล็ก ๆ ที่สงบ ผู้คนน่ารัก และวัฒนธรรมที่งดงามของล้านนาตะวันออก รวมทั้งทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยมไปด้วดอกชมพูภูคาและพญาเสือโคร่งที่งดงาม และอากาศเย็นสบาย ทำให้น่านกลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบชีวิตสงบ วัฒนธรรม และธรรมชาติ ซึ่งฉายา “น่าน เนิบ ๆ” พอบอกให้เห็นภาพชีวิตสบาย ๆ ของผู้คนที่นั่น แต่เมื่อถามถึงผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกความเป็นน่านแล้ว ผมว่าร้อยละร้อยของผู้คนจะนึกถึง “เครื่องเงินและผ้าทอ”
เครื่องประดับที่ทำจากเงินเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะเพราะ “เงิน” เป็นเครื่องประดับที่มีสีโลหะแวววาวเป็นเอกลักษณ์และราคาไม่แพงจนเกินไป นอกจากนี้ เนื้อโลหะก็ไม่แข็งเกินไปนักที่จะออกแบบดัดแปลงให้มีรูปแบบ ลวดลายที่งดงามลงในรายละเอียดได้ง่าย และ “เงิน” คือสัญลักษณ์ของมีค่าสำหรับผู้คนดั้งเดิมที่นี่ ชาวไทยภูเขาส่วนมากจะถือว่า “เงิน” เป็นของมีค่าที่บ่งบอกฐานะทางสังคมของผู้คนที่อาศัยบนทิวเขาของแผ่นดินไทย
โดยเฉพาะกลุ่มชนชาติพันธุ์ “อิ้วเมี่ยน” ที่มักใช้ “เงินแท่ง” เป็นค่าสินสอดทองหมั้น และเครื่องประดับของผู้คนมักจะทำมาจาก “เงิน” ซึ่งความชำนาญเหล่านี้ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพชนรุ่นสู่รุ่นผ่านกาลเวลาและการพัฒนาตามยุค ตามสมัย ที่ยังคงอัตลักษณ์ของพวกเขาอย่างเหนียวแน่น จนถึงวันนี้ วันที่พวกเขาทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับที่ทำจากเงินกลายเป็นอัตลักษณ์ของ “น่าน”
ในวันที่สมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่พบประชาชนในกลุ่มภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดน่าน ผมและเพื่อนสมาชิกสามสี่ท่านได้ลงไปติดตามแผนปฏิรูปประเทศของจังหวัดน่าน เลยหาโอกาสพบปะกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องเงินที่มี “คุณสมชาย และ คุณ พิมพร (ก้อย) รุ่งรชตะวาณิช สองสามีภรรยาชาวอิ้วเมี่ยน หรือ เมี่ยน หรือที่เรารู้จักทั่วไปว่า “เย้า” ซึ่งวันนี้คือเจ้าของ “ดอยซิลเวอร์” แหล่งผลิต จัดจำหน่าย และพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางของเครื่องเงินที่บรรพชนได้ต่อสู้ รักษา และส่งมอบให้พวกเขามา ซึ่งน้อง ๆ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่านยืนยันว่าผมต้องมาดูให้เห็นความก้าวหน้าของกลุ่มคลัสเตอร์นี้ให้ได้ เขาบอกว่ากลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้เดินไปไกลกว่าตอนผมอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงนั้นถือเป็นช่วงเริ่มต้นเดินเตาะแตะ
แม้ว่าจะพบกันหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกันลึก ๆ เป็นครั้งแรกกับคุณสมชายฯ ถึงเรื่องราวของอุตสาหกรรมเครื่องเงินและการเดินทางที่แสนยาวไกลจนกว่าจะมาถึงวันนี้ของ “ดอยชิลเวอร์” ซึ่งสองสามีภรรยาร่วมต่อสู่กันมา ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อของผู้คนที่มีต่ออาชีพช่างเงิน และทัศนคติของคนพื้นราบที่มีต่อผลงานของพวกเขา ซึ่งตอนเริ่มต้นชีวิตคู่ ด้วยค่าสินสอดทองหมั้นเป็นเงินสิบแท่งพร้อมอื่น ๆ ซึ่งถือว่ามากโขสำหรับการสู่ขอของชาวเมี่ยน เหมือนรู้ว่าผมจะถามอะไร คุณสมชายชิงพูดก่อนว่า สินสอดแท่งเงินจะมากจะน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความสวยของลูกสาวเขาครับ “ของผมก็เลยแพงหน่อย” คุณสมชายฯ หยอดให้คนในวงสนทนาได้ยินเผื่อใครจะแอบไปบอกคุณก้อยต่อเพื่อเรียกคะแนน
กว่าจะเริ่มต้นของดาวบนดอย
ทั้งคู่เริ่มต้นชีวิตคู่และดำเนินชีวิตแบบชาวอิ้วเมี่ยนทั่วไป คือปลูก “ข้าวโพด” บนดอย แล้วนำมาขายบนพื้นราบ รายได้แทบไม่พอในการยังชีพ แถมยังเหนื่อยมาก คุณสมชายฯ รู้ว่านั่นไม่ใช่วิถีชีวิตของเขา จึงชวนให้ภรรยาฝึกหัดตีเงิน เพื่อทำเครื่องประดับขาย ระยะแรก “คุณก้อย” ต้องทำแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในบ้านไม่ให้เพื่อนบ้านรู้ เพราะจะถูกดูถูกและคิดว่าไปไม่รอด ตลาดก็หายาก และไม่มีผู้หญิงอิ้วเมี่ยนทำกัน พอทำได้ ระยะแรก ๆ คุณสมชายฯ ต้องนั่งรถโดยสารจากน่านไปเชียงใหม่เพื่อเร่ขายสร้อยเงินให้กับร้านค้าของที่ระลึก
ซึ่งแรก ๆ ก็ไม่มีใครซื้อเพราะกลัวว่าเป็นของขโมยและเป็น “ชาวเขา” หลังจากเทียวไล้เทียวขื่อหลาย ๆ รอบ จนมีร้านหนึ่งยอมรับให้ฝากขายได้ และปรากฏว่าขายดีจนต้องผลิตแทบไม่ทัน และนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ คุณสมชาย เริ่มมองว่าสิ่งที่บรรพชนของเขามอบมาให้ผ่านรุ่นต่อรุ่นจนมาถึงเขานั้นสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาและครอบครัวได้
เขาเริ่มว่าจ้างคนมาช่วยผลิตเพิ่ม และมีลูกค้ามาหาถึงที่มากขึ้น ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าหลายคนและได้รับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ ทำให้การออกแบบลวดลายมีมากขึ้น จนกระทั่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน ได้รับมอบหมายจากจังหวัดให้จัดตั้งกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องเงินของน่านขึ้นมา ทำให้เครื่องเงินของน่านได้รับการพัฒนาและสนับสนุนอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาในเรื่องการออกแบบให้ทันสมัยแต่ยังคงอัตลักษณ์ ซึ่งคุณสมชาย และเพื่อน ๆ ญาติ ๆ ก็ได้รวมกันตั้งร้านขายเครื่องเงินในตัวจังหวัดเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เริ่มบูมของน่าน แต่ตอนหลังก็ขอแยกตัวออกมาเมื่อแนวคิดการพัฒนาอาจแตกต่างกัน และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา คือ เรื่องราวของการเดินตามฝันของคู่สามีภรรยา “รุ่งรชตะวาณิช”
ทำไมต้องดอยซิลเวอร์
คุณสมชายฯ แยกตัวจากหุ้นส่วนออกมาตั้งร้านของเขาเอง โดยใช้ขื่อ ‘ดาวประดับดอย’ ในระยะแรก และนั่นคือการเดินทางธุรกิจที่เต็มตัวของเขา ก่อนที่จะมาเป็น “ดอยซิลเวอร์” เขาบอกว่า การตั้งชื่อที่เกี่ยวกับดอยนั้น เพราะความทรงจำตั้งแต่เด็กที่คนบนดอยมักได้รับการดูถูกจากคนพื้นราบถึงความเปิ่น สกปรก และโง่ คำพูดเปรียบเปรย เยาะเย้ยก้องในหูเขาเสมอตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนที่เขาลงมาเรียนหนังสือบนพื้นราบ ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าทำไมคนพื้นราบถึงคิดว่าคนบนดอยไม่มีอะไรดี
นอกจากนี้ ภาพของชนเผ่าในสายตาของลูกค้าที่เป็นคนพื้นราบมักมองว่าเรื่องเงินนั้นต้องฝีมือคนบนดอยเท่านั้นถึงจะดีจริง ซึ่งคุณสมชายฯ มีประสบการณ์เรื่องนี้ดี เพราะตอนเด็ก ๆ ครูมักจ้างให้เขาทำแหวน สร้อยต่าง ๆ และคนทั่วไปก็มองเครื่องประดับที่ทำจาก “เงิน” เป็นเรื่องราวที่มีวัฒนธรรมและประเพณีของชนเผ่าปะปนอยู่ด้วย ดังนั้น ภาพของเครื่องเงินและชนเผ่าจึงแยกออกยากในสายตาของผู้ซื้อ
เมื่อวันที่โอกาสมาถึง เขาต้องการสื่อให้ผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนพื้นราบให้เห็นว่าบนดอยและคนดอยนั้นยังมีของดีและมีคุณค่าอีกมากมาย และบนดอยนั้นมีดาวที่มีค่าประดับอยู่ ซึ่งเรื่องของเครื่องเงินที่คนบนดอยทำมานานและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ “ดอยซิลเวอร์” ของคู่สามีภรรยาชาวอิ้วเมี่ยนคู่นี้ที่ขัดเงา “เงิน” จากบนดอยให้งามวาววับจนเลื่องลือไปทั่วโลก
“การออกแบบ” คือหัวใจในการแข่งขัน
การเติบโตของน่านผ่านการท่องเที่ยวในโครงการ “น่าน นิรันดร์” ทำให้ผู้คนจำนวนมากจากทุกสารทิศเดินทางมาเยือนมาเยือนนันทนคร ศรีน่าน แห่งนี้ และสิ่งที่ผู้คนนิยมซื้อฝากญาติมิตรเป็นของที่ระลึกก็คือ “ผ้าทอและเครื่องเงิน” ส่งผลทำให้การตลาดเครื่องเงินขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกับที่ธุรกิจเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น ผู้ผลิตเครื่องเงินทุกรายจะมีลายอัตลักษณ์ของเมืองน่านเป็นพื้นฐาน การทอ การทัก และสานเงินอยู่ที่ฝีมือของช่างแต่ละคน แต่สิ่งที่ทำให้ดอยชิลเวอร์ไปไกลและเร็วกว่าคนอื่น ๆ คือ “การออกแบบ” และวันนี้การออกแบบที่ดี ทันสมัย มีเรื่องราวที่ตรงจริตลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมายกำลังเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จธุรกิจนี้ในวันนี้
ใครที่มาที่ร้านดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่ ที่อำเภอปัว แล้วจะรู้ว่าเครื่องเงินกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกแฟชั่นสมัยใหม่ไปแล้ว ไม่ว่าลายดูเคร่งขรึมแลดูขลังแบบไทย ๆ แต่แฝงด้วยกลิ่นอายแบบ “ฮิป ๆ” เข้าไปด้วย การถัก ทอ สาน เส้นเงินที่เป็นอัตลักษณ์ของน่านยังคงอยู่ทุกซอกอณูในเครื่องเงินทุกชิ้น คนเล่นเครื่องเงินมองดูก็รู้ ว่าเป็น “น่านแท้ แบบตาเปล่า” ไม่ต้องส่องกล้องหรือให้ผู้เชี่ยวชาญมาดู
การได้เป็นผู้รับจ้างผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศที่ส่งนักออกแบบมาประจำที่น่านเพื่อทำงานร่วมกัน ทำให้คุณสมชายและคุณก้อย รวมทั้งช่างเงินที่นี่ได้เรียนรู้ไปในตัว ถึงเทคนิค รายละเอียด รูปแบบ รวมทั้งรสนิยมของคนอีกฟากหนึ่งของโลกว่ามีมุมมองของความงามที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างไร แม้ทั้งสองฟากโลกนั้นอาจหลงในความแวววาวของ “เงิน” เหมือนกัน ซึ่งรายละเอียด รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีนั้น ทำให้ออเดอร์จากต่างประเทศแต่ละปีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ๆ
และนำความรู้นั้นมาพัฒนาเป็นแบบอัตลักษณ์ของตนเอง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของแฟชั่นในยุคปัจจุบัน และแม้ว่าวันนี้ลูก ๆ ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มความคิดของโลกธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้น ทำให้เขาทั้งสองสบายใจและเบาแรงไปบ้าง แต่ทั้งคู่ก็ยังคงทำงานหนักเช่นวันวาน เพราะความผูกพันกับ “เงิน” มีมากเกินกว่าจะวางมือง่าย ๆ และยังมีฝันที่จะเขาอยากจะทำอีกมาก โดยเฉพาะ ฝันที่จะแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้รับจากสังคม ตอบแทนสู่สังคมได้บ้าง
ไปให้ “สุด ๆ” Go – High - O
วันนี้คุณสมชายฯ และคุณก้อยต่างเดินไปสุดทางฝันของทั้งคู่ ที่อยากทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคมตามกำลังและความสามารถที่เขามี เขาทั้งสองคนมีวิธีการตอบแทนสังคมที่ต่างกัน คนหนึ่งอยากสร้าง “พิพิธภัณฑ์” และอีกคนอยากสร้าง “สถานที่แสดงวัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ” เพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจของการเป็นคนเผ่าของเขา อยากแบ่งปันวัฒนธรรม ประเพณีของผู้คนบนดอยให้คนในที่ราบและนักท่องเที่ยวได้เห็นความงดงามที่พวกเขาภูมิใจ และนำมาผสมผสานกับการทำธุรกิจท่องเที่ยว และวันนี้พวกเขาก็ทำสำเร็จทั้งสองอย่าง
แม้ว่าทั้งสองอย่างนี้ อีกฝ่ายอาจจะไม่เห็นด้วยในฝันของแต่ละคนในตอนเริ่มต้น แต่วันนี้ ถ้าเรานำฝันทั้งสองคนมารวมกันแล้ว ทำให้พื้นที่ “ดอยซิลเวอร์” ดู “ครบ” และที่ผมว่าสถานที่แห่งนี้เป็นมากกว่าแค่ร้านขายเครื่องประดับเงิน ที่นี่คือฝันที่เป็นแบบ Go high O หรือที่ภาษาเมี่ยนแปลว่า “ไปให้ไกลสุด ๆ” ของคุณสมชายฯ และคุณก้อย
พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเงินและวัฒนธรรมชาว “อิ้วเมี่ยน” นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวว่าเงิน เป็นมากกว่าเครื่องประดับ ยังมีเรื่องราวของบรรพชน รากเหง้าของชีวิต และเส้นทางของการเดินทางของวัฒนธรรมเมี่ยนว่าจากยอดดอย กว่าจะลงมาฉายความแวววาวในพื้นราบนั้น พวกเขาผ่านอะไรกันมามากมาย เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องบอกกล่าวให้ลูกหลานได้ระลึกถึงวันวานที่บรรพชนแบกภาระและความภูมิใจนั้นมาอย่างไร ในพิพิธภัณฑ์อาจมีของเก่าไม่มากนัก แต่การจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ได้ดี แต่ที่ดีกว่านั้น พิพิธภัณฑ์นี้บ่งบอกถึงความรักและเทิดทูนของทั้งสองคนที่มีต่อบิดามารดาทั้งสองฝ่าย ว่าวันนี้ที่พวกเขาเดินมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะสิ่งที่บรรพชนได้สั่งสม สั่งสอน และถ่ายทอดให้อยู่ในสายเลือดของการเป็น ‘เมี่ยน’ ทั้งจิตและใจ ผมเชื่อว่าคนที่มาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเข้าใจและซาบซึ้งถึงเรื่องนี้เมื่อได้มาเยือน
แต่ที่ผมประทับใจและชอบมาก ๆ คือห้องถัดไปที่แสดงผลิตภัณฑ์เงิน ที่เป็นผลงานของนักศึกษาที่มาศึกษาประจำที่โรงงานแห่งนี้ และก่อนจบการศึกษา ทุกคนต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งผมทึ่งในฝีมือของเด็ก ๆ แต่ละคน ทั้งการออกแบบ จินตนาการ ลายละเอียด ฝีมือ จนผมเชื่ออย่างสนิทใจว่าอย่างไรประเทศไทยก็ยังจะมีช่างเงินฝีมือเยี่ยมต่อไป
ส่วนความฝันของคุณสมชายฯ คือการสร้างบ้านของชนเผ่าเป็นหลัง ๆ ในบริเวณเดียวกับโรงงานและร้านดอยซิลเวอร์ เพื่อให้ชนเผ่าต่าง ๆ ใช้เป็นพื้นที่ขายของ และแสดงวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่แห่งนี้ เปิดตัวตอนปี 2563 เกิดวิกฤติโควิดพอดี การท่องเที่ยวที่หยุดชะงักทำให้ทุกอย่างสงบนิ่ง จนกระทั่งมีผู้แนะนำให้เขาหันมาทำเป็นโฮมสเตย์และพัฒนาให้เป็นที่พักของชาวเย้า
แต่พัฒนาเพิ่มเติมความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวได้พักอย่างสบาย ในพื้นที่นี้ยังมีร้านกาแฟที่ใช้กาแฟของน่านจากดอยต่าง ๆ เช่น ดอยภูคา ดอยสันเจริญ และดอยมณีพฤกษ์ นำมาคั่วและเบรนด์ตามแบบของ Go – High – O นอกจากนี้ยังมีอาหารเมนูง่าย ๆ แต่รสเด็ดจริง ๆ และมีจุดเช็คอินที่ใส่เรื่องราววัฒนธรรมต่าง ๆ ของชนเผ่าลงไปในพื้นที่ เช่น บ่อน้ำชาวดอย หรือสะพานบุญโก้งต๊ะเจี้ยว ที่มีเรื่องราวมากมายของวิถีชีวิตและความเชื่อของชนเผ่า และวิวทิวทัศน์ของทุ่งนาข้าวและภูเขาทมึนที่ทอดยาวสุดลูกตา ภาพเหล่านี้คนมาเยือนอดไม่ได้ต้องเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกทุกคน
ตอนนี้ Go – High – O ดูคึกคักและมีคนมาพัก มาเที่ยวจำนวนมากในแต่ละวัน หลายคนมาทานอาหาร นั่งชมวิวภูเขา ทุ่งนา และดื่มกาแฟอร่อย ๆ หรือถ่ายรูป และหลายคนมาพักโฮมสเตย์ การผสมผสานของทั้งสองแห่งนี้ ทำให้การมาเยือนดอยซิลเวอร์มีค่าต่อผู้มาเยือนมากกว่าการมาดูและหาซื้อเครื่องเงินเท่านั้น
ไปไกลอีก เพื่อสังคม
วันนี้ “ดอยซิลเวอร์” Go-High-O แบบสุด ๆ จริง ๆ คุณก้อยได้ริเริ่มในความร่วมมือกับสถาบันวิชาชีพช่างฝีมือ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกาญจนภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง ในระดับวิทยาลัยอาชีวะช่างฝีมือทำเงิน โดยเด็กนักเรียนอาชีวะในระดับ ปวช. สาขาวิชาช่างทองหลวงต้องอยู่ประจำที่โรงงาน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางโรงงานจัดให้ อาหาร และที่อยู่อาศัยมีจัดไว้ให้อย่างดี พวกเขาจะเข้าฝึกงานเป็นช่างทำเครื่องเงินจริง ๆ ตั้งแต่การอบรม การฝึกหลอม การยืด จนถึงการตีเงิน เวลาที่ใช้ทั้งหมด 3 ปี พี่ก้อยเล่าว่าจะรับปีละ 10 คน ในหลักสูตรนั้นเด็กทุกคน ต้องทำเป็นและคิดเป็น คือต้องออกแบบเองได้
ดังนั้น ก่อนจบหลักสูตร ทุกคนจะต้องมีผลงานการออกแบบเครื่องเงินของแต่ละคนออกมา ผลงานของเด็ก ๆ ที่ผมไปดูนั้น ไม่ใช่งดงามแค่ฝีมือ ลวดลาย และการออกแบบเท่านั้น แต่รวมถึงจินตนาการของแต่ละคนที่มีต่อผลงานชิ้นนั้นว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งเด็กเหล่านี้ ตอนเรียนมีรายได้ และเมื่อจบการศึกษา พวกเขาสามารถเลือกทำงานที่นั่นต่อหรือไม่ก็ได้ ไม่มีพันธะผูกพันใด ๆ พวกเขาจะไปที่ทำงานที่ไหนก็ยังประโยชน์ให้สังคมและวงการเครื่องประดับเงิน ซึ่งทั้งสองสามีภรรยาบอกว่า ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณและตอบแทนต่อสังคมและธุรกิจนี้ที่ให้โอกาสพวกเขามีวันนี้
ไปน่าน ต้องแวะดูที่ร้านเครื่องเงินที่ไม่ใช่แค่ขายของ
ผมเชื่อว่าอาคันกุตะที่มาเยือนทุกคนนอกจากนึกถึง ขนบธรรมเนียมประเพณี ความสงบ ความน่ารักและเป็นมิตรของผู้คนชาวน่าน วิถีชีวิตที่เนิบ ๆ อากาศที่เย็นสบาย ทิวเขาที่แต่งแต้มประดับด้วยดอกพญาเสือโคร่งและชมพูภูคาสวยงามจนแทบลืมหายใจ และผ้าทอที่เป็นเหมือนไดอารี่เล่าเรื่องราวของเมืองน่านตั้งแต่ครั้งเป็นนันทบุรี และเครื่องเงินฝีมือประณีต ละเอียด งดงาม ที่มีอัตลักษณ์ของการทอ สาน ทักของน่านอย่างครบถ้วน และเรื่องของเครื่องเงินนั้น ยังมีอะไรอีกมากที่ผู้มาเยือนน่าจะรับรู้มากกว่าความงามของฝีมือ และการออกแบบที่งดงาม แต่เรื่องราวที่อยู่ในเครื่องเงินนั้น รับรองได้ว่าจะงดงามมากขึ้นหากได้มีโอกาสมาเยือน “ดอยซิลเวอร์” เพราะที่นั้นจะให้คุณรู้จัก “เงิน” ว่าเป็นมากกว่าแค่เครื่องประดับ สำหรับหลาย ๆ คน