เปิดตัวช่วยฟื้นศก.
นายรุ่งโรจน์ มองว่าปี 2564 จะมีตัวเร่งสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ และจะเป็นโอกาสต่อธุรกิจต่อประเทศที่ต้องจับตา คือ
1.การฟื้นตัวของตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีศักยภาพสูง หากสามารถส่งสินค้าไปขาย หรือสร้างความร่วมมือทางการค้าได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ
2.การฟื้นตัวของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าภูมิภาคนี้สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีระดับหนึ่ง แม้สถานการณ์จะยังมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังมีศักยภาพทางธุรกิจ หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ภูมิภาคอาเซียนก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 จะช่วยยกระดับการผลิตและการส่งออกของไทย
3.เทคโนโลยีและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น การนำดิจิทัลมาใช้ในการผลิตตลอด Supply Chain รวมถึงการพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทน ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งโอกาสเหล่านี้ จะต้องมีการพัฒนาทักษะให้แรงงานเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ดาต้า (Data) ควบคู่กันไป
4.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ชนบท ตลอดจนการส่งออกไปยังประเทศที่ฟื้นตัว จะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
5.วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 จะช่วยปลดล็อกเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค แต่ต้องยอมรับว่ายังมีความแตกต่างกันด้านการเข้าถึงวัคซีน สำหรับประเทศไทยโชคดีที่ได้มีการสั่งซื้อวัคซีนส่วนหนึ่งไว้แล้วจากกลุ่มแอสตร้าเซนเนก้า หากมีบริหารจัดการดี หรือสามารถเพิ่มจำนวนผู้ที่จะได้รับการฉีดวัคซีน หลังจากที่มีการอนุญาตแล้ว จะช่วยให้คนเกิดความมั่นใจ และกลับมาดำเนินกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น เช่น การเปิดการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องเร่งเตรียมความพร้อมของแรงงานทั้งในภาคการท่องเที่ยว บริการ อุตสาหกรรมบันเทิง ฯลฯ ที่หยุดชะงักไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งเเต่วันนี้ เพื่อให้แรงงานมีทักษะ มีฝีมือ และมีความรู้ความสามารถ ให้ทันพร้อมรับการเปิดประเทศ และโอกาสของธุรกิจที่จะเข้ามา ควบคู่ไปกับความพยายามของภาครัฐในการวางแผนการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ
จี้ภาคธุรกิจปรับตัวเชิงรุก
นายรุ่งโรจน์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก การฟื้นตัวยังคงไม่แน่นอนและใช้เวลานาน สำหรับประเทศไทยบริหารจัดการได้ดี แม้ต้องเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่นี้ แต่ก็นับว่ายังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจและภาครัฐในการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้กลับมาได้เร็วกว่าประเทศอื่น เช่น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้รองรับและพร้อมสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
ส่วนเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 ตัว คือ ภาคส่งออก ท่องเที่ยวการลงทุน FDI และภาคบริการจะไปในทิศทางใดนั้น มองว่า ด้านการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาทจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกลดลง โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว
ด้านการท่องเที่ยว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือ เมื่อมีวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 และยิ่งมีวัคซีนที่ประเทศไทยผลิตเองได้ส่วนหนึ่ง ต้องเร่งวางแผนการฉีดวัคซีน เพื่อกระจายวัคซีนออกไปให้ได้เร็วและทั่วถึงมากที่สุด รวมถึงกระจายไปยังประเทศข้างเคียง ซึ่งหากดำเนินการควบคู่กันไปจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้
เป็นโอกาสเร่งลงทุน
ด้านการลงทุน เป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะลงทุนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เพราะมีต้นทุนต่ำ โดยต้องพิจารณาลงทุนในตลาดที่มีศักยภาพ และด้านภาคบริการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการท่องเที่ยว เช่น ค้าปลีก ยังมีความไม่แน่นอนสูง ต้องติดตามการฟื้นตัวของธุรกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า โครงสร้างของธุรกิจจะเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไป เช่น ในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลน์แทนการไปห้างสรรพสินค้า
ในขณะที่ ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) ยังน่าสนใจ แม้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่เชื่อว่า จะสามารถฟื้นกลับมาและเติบโตได้ อยู่ที่ว่าจะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจได้อย่างไร
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศรายชื่อหุ้นเข้าคำนวณ ดัชนี FTSE SET Index Series
หนุนไทยเป็นฐานผลิตวัคซีน "โควิด-19"