คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,646 หน้า 10 วันที่ 21 - 23 มกราคม 2564
ในที่สุดก็ชัดเจนซะที หลัง ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยารอบ 2 ในชื่อมาตรการ “เราชนะ” ที่จะเปิดเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ให้ประชาชนลงทะเบียน เพื่อรับเงินเยียวยาจำนวน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมคนละ 7,000 บาท เพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
มาตรการเราชนะ นับว่าเป็นติ่งหนึ่งของตระกูล “ชนะ” เดอะซีรีส์ ที่ยังมีแอปพลิเคชั่นภายใต้คำว่าชนะ อย่าง ไทยชนะ หมอชนะ ที่แตกหน่อแปลงนโยบายมาจากวาทะกรรมของ บิ๊กตู่ ในการแถลงการณ์เมื่อรอบระบาดระลอกแรกว่า “ประเทศไทยต้องชนะ” ถ้าจำกันได้
ย้อนกลับที่ชื่อเรื่องในวันนี้ ที่บอกว่า “เราชนะ” ในบางเรื่อง แต่ยังต้องสู้ต่อในสิ่งที่ “เราแพ้”
นั่นเพราะก่อนที่เขียนคอลัมน์ฉบับนี้ ก่อนที่ครม.จะมีมติผ่านมาตร การเราชนะ ผมรับข้อมูลที่น่าตกใจจาก “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทาง การศึกษา” หรือ กสศ. ที่มีการเปิดเผยภัยเงียบรูปแบบใหม่ ภายใต้สถานการณ์ที่ชื่อว่า COVID Slide
สำหรับผู้ที่เปิดเผยข้อมูลนี้คือ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทาง การศึกษา อธิบาย ปรากฎการณ์ COVID Slide ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดลงในหลายประเทศ เรียกว่า “Summer Slide” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และจากสถานการณ์ระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานจึงเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนานทำให้สภาวะการเรียนรู้ถดถอย
งานวิจัยจากสถาบัน NWEA พบว่า นักเรียนในสหรัฐอเมริกาที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานทำให้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์หายไปถึง 50% และความรู้ด้านการอ่านลดลง 30% แม้แต่ในกลุ่มนักเรียนฐานะดี การอยู่หน้าจอเป็นเวลานานส่งผลต่อสุขภาพจิต พัฒนาการด้านสังคม อารมณ์
สอดคล้องกับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT พบว่าการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่ไม่ได้มาโรงเรียน เช่น ความรู้ที่ถดถอย ขาดประสบการณ์เข้าสังคม การได้รับอาหารที่มีโภชนาการ บริการทางสังคมต่างๆ หรือการเรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัย
ดร.ภูมิศรัณย์ สรุปอีกว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีผลการศึกษาติดตามผลกระทบจาก COVID Slide ออกมา แต่จากแนวโน้มที่มีผลการศึกษาในระดับนานาชาติข้างต้นก็พอจะคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบในทิศ ทางเดียวกันต่อความเหลื่อมลํ้าทาง การศึกษาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา 2. ภาวะถดถอยของพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ
“ซึ่งจะขยายช่องว่างความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทจะยิ่งกว้างขึ้นมากกว่า 2 ปีการศึกษา ในระยะยาวอาจส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ ทำให้วงจรความยากจนข้ามชั่วคนยังคงเกิดขึ้นไปสู่คนรุ่นต่อไป”
คำแนะนำของ กสศ. ชี้เป้ารัฐบาลในการใช้ “วิกฤตินี้พลิกเป็นโอกาสปฏิรูประบบการศึกษา” ด้วย มาตรการที่ควรตั้งรับ คือ 1. เมื่อเปิดการสอนในวันที่ 1 ก.พ. ครูควรตรวจพัฒนาการของร่างกายและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลว่าถดถอยลงหรือไม่ 2. การจัดการสอนเสริม หรือ After school programme สำหรับผู้เรียนที่มีพัฒนาการเรียนรู้ถอดถอยก่อนการเลื่อนชั้น และ 3. การเฝ้าระวังรอยต่อการศึกษาในทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ ป.1 ม.1 ม.4/ปวช. โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนรองรับ