คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(7)

21 ม.ค. 2564 | 02:05 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(7) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3646 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-23 ม.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาด โดยในตอนที่ 5-6 ได้นำเสนอข้อพิจารณาในเรื่อง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ ผลกระทบต่อคู่แข่ง ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ของคณะกรรมการเสียงข้างน้อยไปแล้ว คราวนี้มาดูข้อพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการเสียงข้างมากกัน

กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้ 

1.ความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ เนื่องจากบริษัท เทสโก้ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ประเทศอังกฤษ (Tesco Holdings Limited) มีความต้องการขายกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย และประเทศในทวีปเอเชียทั้งหมด และผู้ขาย มีแผนฟื้นฟูกิจการเทสโก้ที่จะกลับไปมุ่งเน้นทำการตลาดที่ประเทศอังกฤษ ผู้ขายจึงมีความประสงค์ที่จะขาย กิจการเทสโก้ในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย โดยวิธีการเปิดประมูลให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มี ความประสงค์จะซื้อกิจการจากผู้ขายด้วยการเข้าร่วมประมูลเพื่อซื้อกิจการ ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ในประเทศหรือผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ ผลปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยรายใหญ่ 3 ราย  เข้าร่วมประมูลซื้อดังกล่าว และผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 3 รายต่างก็มีธุรกิจที่เกี่ยวกับ กิจการค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงอยู่ในประเภทธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่อยู่แล้ว 

ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ชนะการประมูล ด้วยมูลค่าการซื้อขาย กิจการ ประมาณ 338,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจที่ผู้ขออนุญาตซื้อจากผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติ ที่มีความสามารถในการประกอบธุรกิจค้าปลีก การรวมธุรกิจในครั้งนี้จึงจะสามารถสร้างรายได้ให้อยู่ในประเทศ  และเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการรวมธุรกิจจากผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ จากเดิมที่มีการนำส่ง รายได้และผลกำไรหรือประโยชน์ที่ได้รับจากประเทศไทยกลับไปสู่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ 

นอกจากนี้  ยังเป็นการรักษาช่องทางการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ และสามารถขยายการส่งออกสินค้าไทยไปสู่สาขา ในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ที่จะมีการรวมธุรกิจในครั้งนี้ด้วย ส่งผลให้สินค้าไทยมียอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกเพิ่มขึ้น อันเป็นผลให้มีการเติบโตในภาคการผลิต การจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น  และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงเป็นการช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจทั้งภาคธุรกิจ ค้าปลีกและภาคการผลิตให้มีการเจริญเติบโต 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นภาคการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ให้เกิดการพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ รวมทั้งมีโอกาสในการส่งออกสินค้าและการขยายการลงทุนไปสู่ ต่างประเทศได้มากขึ้น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบธุรกิจจากต่างประเทศมีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนประกอบกิจการในประเทศไทยและต่อมาภายหลังมีความประสงค์จะขายกิจการเนื่องจากประสบ ปัญหาต่างๆ
 

นอกจากนี้ ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพทางการเงินและการบริหารจัดการที่ดี  จึงเป็นโอกาสที่ผู้ขออนุญาตจะขยายการลงทุนทั้งในด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น  และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในประเทศซึ่งถือเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 

ดังนั้น การขออนุญาตรวมธุรกิจในครั้งนี้ จึงมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ และประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าผู้ที่จะรวมธุรกิจหรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ของไทย  จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใดก็ตามที่ชนะการประมูล และเป็นการส่งเสริมให้สินค้าที่ผลิตและจำหน่าย ในประเทศไทยมีช่องทางในการส่งสินค้าและบริการไปจำหน่ายในต่างประเทศผ่านการรวมธุรกิจในครั้งนี้ เนื่องจากหากไม่มีการรวมธุรกิจเกิดขึ้นก็อาจจะส่งผลให้ผู้ที่มีความประสงค์จะขายธุรกิจได้รับความเสียหาย จำเป็นต้องหยุดการประกอบกิจการหรือเปิดประมูลใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อช่องทางการจำหน่ายสินค้า คู่ค้า และพนักงานที่อาจต้องมีการเลิกจ้างงาน รวมทั้งจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมต่อประเทศในที่สุด 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาต รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการและถือว่ามีสถานะเสมือนเป็น หน่วยธุรกิจเดียวกัน เป็นผู้ประกอบธุรกิจในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีอำนาจเหนือตลาดทั้งก่อนและหลังรวมธุรกิจซึ่งส่งผลให้มีอำนาจตลาดเพิ่มสูงขึ้น 

นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคในทุกรูปแบบด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นและมีโอกาสในการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม จากการจำกัดไม่ให้คู่แข่งรายอื่นเข้าถึงสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจ และอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจในตลาด 

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560  มีผลบังคับในทางกฎหมายอยู่ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว 

2. การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง จากการรวมธุรกิจครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด ตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561 ข้อ 3 ซึ่งกำหนดว่า “การผูกขาด” หมายความว่า การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่งซึ่งมีอำนาจในการกำหนด ราคาและปริมาณสินค้าหรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระและมียอดเงินขายตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ เพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

อย่างไรก็ตามการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ส่งผลให้ภาคการผลิตและธุรกิจค้าปลีกมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ อย่างร้ายแรง เพราะไม่เกิดการเลิกจ้างงานในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งมีมูลค่าถึงร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ประชาชาติของประเทศ และยังคงมีการจ้างงานทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ถึง 1.1 ล้านคน 

อีกทั้งยังสามารถคงการรักษาห่วงโซ่ คุณค่า และห่วงโซ่อุปทานในเทสโก้โลตัสต่อไปได้ ทำให้การผลิต ไม่หยุดชะงัก ไม่ซํ้าเติมสภาพเศรษฐกิจที่ตกตํ่าอยู่แล้วภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ให้เกิดการขาดสภาพคล่องของเศรษฐกิจมหภาค และความชะงักงันของภาพลักษณ์นโยบายทางเศรษฐกิจ ของประเทศ ตลอดจนความไม่แน่นอนของความยากง่ายของการทำธุรกิจในประเทศของนักลงทุน ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม 
 

ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาด ร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การรวมธุรกิจส่งผลให้ภาพรวมของตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภค และตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ก่อนรวมธุรกิจมีการกระจุกตัวสูงและหลังรวมธุรกิจมีการกระจุกตัวเพิ่มสูงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลด การแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจมีความได้เปรียบต่อการแข่งขัน มากกว่าคู่แข่งรายอื่น 

และมีโอกาสในการใช้อำนาจต่อรองหรือสร้างแรงกดดันในการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตและ ผู้จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือกีดกันไม่ให้ ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบดำเนินธุรกิจกับคู่แข่งรายอื่น 

นอกจากนี้ การรวมธุรกิจอาจทำให้ เงินทุนไหลออกนอกประเทศจากการเข้าซื้อหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกรวมธุรกิจซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10,600  ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 338,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ค่าการกระจุกตัวของตลาดที่สูงขึ้นมาก จนอาจทำให้นำไปสู่โครงสร้างการผูกขาดรายเดียวนั้น มีหน่วยงานในต่างประเทศยังกำหนดว่าจะต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ได้แก่  Coordinated Effects, Non-coordinated Effects and Substitution Effects ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกันแล้ว ไม่ปรากฏว่าจะมีผลการซื้อทดแทนและการกระทำร่วมกันเพื่อให้เกิดการผูกขาดเพียงรายเดียวแต่อย่างใด ไม่สามารถนำเอาดัชนีดังกล่าวมาตัดสินได้ด้วยตัวของมันเอง

อ่านแล้วพิจารณากันให้ดีนะครับ!