มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท
ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขาซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ
หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เสียงส่วนใหญ่ บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาด กันเป็นตอนที่ 9
ซึ่งในตอนที่แล้ว ได้นำเสนอเงื่อนไขการรวมธุรกิจเชิงโครงสร้างไป 2 ข้อ จากจำนวนเงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่ 1.1 การให้ขายกิจการหรือสินทรัพย์บางส่วน 1.2 การห้ามขยายจำนวนสาขาภายในระยะเวลาที่กำหนด
มาดูข้อ 1.3 ที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนดห้ามมิให้ผู้ขออนุญาตและหน่วยธุรกิจเดียวกันกับผู้ขออนุญาต กระทำการรวมธุรกิจ กับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดค้าปลีกค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งไม่รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)
กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นสอดคล้องกับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ ว่า การรวมธุรกิจในครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาด ค้าปลีกค้าส่งมีจำนวนลดลง แม้ว่าผู้ขายเดิมของผู้ถูกรวมธุรกิจจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการขายกิจการเทสโก้ ในประเทศไทยก็ตาม แต่การลดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้โครงสร้างตลาดค้าปลีกค้าส่ง เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จากการกระจุกตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นอันส่งผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจต่อรอง หรือมีความได้เปรียบต่อการแข่งขันมากกว่าคู่แข่งขันรายอื่น
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ต้องดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจอย่างใกล้ชิดในกรณีที่อาจจะฝ่าฝืนหรือฝ่าฝืน พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ในประเด็นการใช้อำนาจเหนือตลาดหรือการใช้อำนาจ ต่อรองที่เหนือกว่า ตลอดจนการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น
ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดค้าปลีกค้าส่ง ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกรายอื่น (คู่แข่งขัน) ผู้ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) ตลอดจน ผู้บริโภคส่วนรวม มีโอกาสในการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและมีความสามารถเพียงพอต่อการแข่งขันในตลาด ค้าปลีกค้าส่งเพิ่มขึ้น อีกทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดและดำเนินกิจการต่อไปได้ อย่างมั่นคงภายใต้กรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า ระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 2 ปีที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ เสนอไม่เพียงพอ ควรกำหนด เป็นระยะเวลา 3 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้มีระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดค้าปลีกค้าส่ง ประกอบกับสภาพการแข่งขัน ทางการค้าในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากพัฒนาการของรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
1.4 ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจของผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจในตลาด ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ให้มีความแตกต่างกันในรูปแบบการประกอบธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กให้ชัดเจน โดยกำหนดให้เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ดำเนินธุรกิจในรูปแบบมินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจะต้องมีสัดส่วนยอดขาย ของสินค้าประเภทอาหารสด (Fresh Food) เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และไส้กรอก เป็นต้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของยอดขายสินค้าทั้งหมด ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยกำหนดสัดส่วนในแต่ละปี ดังนี้
- ภายในระยะเวลา 1 ปี สัดส่วนยอดขายของสินค้าประเภทอาหารสดไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
- ภายในระยะเวลา 2 ปี สัดส่วนยอดขายของสินค้าประเภทอาหารสดไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
- ภายในระยะเวลา 3 ปี สัดส่วนยอดขายของสินค้าประเภทอาหารสดไม่น้อยกว่าร้อยละ 40
กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ดำเนินธุรกิจในรูปแบบมินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยจะต้องมีสัดส่วนยอดขาย ของสินค้าประเภทอาหารสด (Fresh Food) ตามผลการศึกษา เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อตลาดสด ซึ่งมีผู้ค้ารายย่อยจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้ขออนุญาตแจ้งว่า เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ประกอบธุรกิจค้าปลีก ขนาดเล็กในรูปแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่แล้ว
ประกอบกับผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด การกำหนดสัดส่วนยอดขายจะต้องใช้ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย และแม้จะกำหนดให้ มีเงื่อนไขบังคับให้เปลี่ยนรูปแบบและผู้ขออนุญาตเปลี่ยนรูปแบบได้จริง ค่า HHI ก็ไม่อาจลดไปอยู่ในเกณฑ์ ที่เหมาะสมได้ และค่า HHI เป็นการสะท้อนการมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรา 50 จึงจะเป็นความผิดตามกฎหมาย
ประกอบกับเห็นว่าการดำเนินธุรกิจแบบใด (Business Model) ควรเป็นการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบธุรกิจเห็นว่าเหมาะสม และยังไม่มีผลการศึกษาระยะห่าง หรือพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น กับ เทศโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และไม่มีการศึกษาผลกระทบ ต่อผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสด
ล่าสุดทาง นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า ออกมาเปิดเผยว่า กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่ม CP ได้แจ้งรับทราบมติของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่มีมติเสียงข้างมากอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจควบรวมกิจการกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทยแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ยอมรับเงื่อนไข 7 ข้อที่ต้องปฏิบัติตามที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ
ขั้นตอนต่อไปนั้น ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ ทางคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้เชิญตัวแทนของกลุ่มซีพีเข้ามารับฟังเงื่อนไขรายละเอียดและแนวปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อดังกล่าวต่อไปซึ่งเป็นการยํ้าให้ปฏิบัติตามหลังจากที่มีการควบรวมกิจการแล้ว
ฉบับหน้า มาดูเรื่องเงื่อนไขทางพฤติกรรมในการรวมธุรกิจอีก 6 ข้อ ที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนดเป็นเงื่อนไขกันนะครับ
ผมอยากให้เราพิจารณารายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะนี่คือประวัติศาสตร์ของการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในประเทศซึ่งทางหนึ่งจะเป็นการเพิ่มแขนขาในธุรกิจค้าปลีกของไทย แต่อีกขาหนึ่งจะทำให้ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งของประเทศมีปัญหาในระยะยาวได้ จึงต้องศึกษาข้อดี ข้อเสีย ร่วมกันนะครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(8)
คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(7)
คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (6)