เราจะเข้าใจกันว่า “ราคาผลไม้ไทยในตลาดจีนขึ้นกับเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก” แต่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กำหนดราคาผลไม้ไทยในตลาดจีนอีกมาก
ไทยผลิตสินค้าเกษตรปีละ 180 ล้านตัน ร้อยละ 80 เป็นพืชไร่ (ข้าว มันฯ อ้อย สับปะรด และประเภทถั่ว) และ 15% เป็นไม้ผลและยืนต้น สินค้าเกษตรส่งออกหลักได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน มังคุค เงาะ ลำไย มะม่วง เป็นต้น ส่วนนำเข้าได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กาแฟ ชา พริกไทย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง (ไทยผลิตน้อยกว่าความต้องการ) สินค้าเกษตรไทยและสินค้าอื่นร้อยละ 60 ขายให้กับตลาดหลักอย่าง จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และอาเซียน
สำหรับผลไม้ไทย “ตลาดจีน” เป็นตลาดหลักและสำคัญมากเพราะร้อยละ 80 ขายในตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน มังคุค และลำไย ปี 2562 จีนนำเข้าผลไม้จากไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น จีนนำเข้าทุเรียนไทย 6 แสนตัน ตามด้วยมาเลเซีย ลำไย 280,000 ตัน ตามด้วยเวียดนาม เงาะ 1,600 ตัน ตามด้วยเวียดนาม มะม่วง 8,600 ตัน ตามด้วยไต้หวัน มังคุด 350,000 ตัน ยกเว้น กล้วยและสับปะรดที่จีนนำเข้ามาจากฟิลิปฟินส์
“ราคาผลไม้ไทยในตลาดจีนจะเป็นอย่างไร ในปี 2564” ผมประเมินว่าขึ้นกับปัจจัย 10 ปัจจัย ดังนี้ 1.ค่าขนส่งทางบก ซึ่งผมคาดว่ายังคงเพิ่มขึ้น การขนส่งผลไม้ไทยร้อยละ 90 เป็นการขนส่งผ่านทางบกบนเส้นทาง R3A และ R12 โดยเส้นทาง R12 มีความยาว 823 กิโลเมตร (จากนครพนมถึงด่านหยวนยี้กวน) ซึ่งมีระยะทางสั้นกว่าจากชายแดนมุกดาหารถึงด่านหยวนยี้กวน (บนเส้น R9) ที่มีระยะ 1,090 กม. เป้าหมายการขนส่งบนเส้นทางนี้คือมณฑลกว่างสีและมณฑลฝั่งตะวันตกของจีน (ต้องผ่านประเทศเวียดนาม) ในขณะที่เส้นทาง R3A จากด่านเชียงของไปยังด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ระยะทางทั้งหมด 240 กิโลเมตรเป้าหมายคือตลาดเมืองคุนหมิง มณฑลเสฉวน ธิเบต ซินเจียงและมณฑลใกล้ ๆ
ในปี 2563 ค่าขนส่งบนเส้นทาง R3A เพิ่มจากปกติ 180,000 บาทต่อตู้ 40 ฟุต เพิ่มเป็น 300,000 บาทต่อตู้ ผมประเมินค่าขนส่งในปี 2564 ค่าขนส่งปรับลดลงแต่ยังสูงอยู่ระหว่าง 180,000 – 250,000 บาทต่อตู้ (เพิ่มขึ้น 30-40%) จากก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้นถึง 100% เพราะเดิมรถบรรทุกไทยสามารถขับส่งไปยังด่านบ่อเต็น (ลาว) - บ่อหาน (จีน) แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ต้องเปลี่ยนถ่ายตู้ตรงชายแดนไทยตรงด่านใน สปป.ลาว
2.“หัวรถลากและตู้ขนสินค้าใน สปป.ลาว” มีเพียงพอที่จะขนส่งผลไม้ไทยหรือไม่ หากพอก็ไม่มีผลต่อค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น หากไม่พอจะมีพอต่อค่าขนส่งผลไม้ไทยทันที 3.การตรวจเข้มตรงด่านชายแดน บริเวณชายแดนไทยกับสปป.ลาว และสปป.ลาวกับจีน คนขับรถไทยต้องใส่ชุดเพื่อป้องกันโควิดและต้องเปลี่ยนถ่ายตู้ ในขณะที่ตรงด่านหยวนยี้กวน ซึ่งเป็นช่องทางที่ผลไม้ไทยเข้าไปขายมากที่สุด หากต้องการผ่านสินค้าเร็วขึ้น ก็ต้องใช้ “Fast Track” 2 เลน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคนขับรถจีนหากวิ่งระหว่างมณฑลจะ “ถูกกักตัว” อย่างไรก็ตามด้วยการตรวจที่เข้มข้นที่ด่านหยวนยี้กวน ทำให้ผลไม้ไทยขนส่งไปเส้น R3A เพิ่มขึ้นกว่าด่านหยวนยี้กวน
4.ตู้คอนเทนเนอร์ทางน้ำขาด ทำให้ค่าขนส่งทางเรือปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีความต้องการใช้ในการขนส่งสินค้า ถ้าสถานการณ์ “ยังไม่คลี่คลาย” ค่าขนส่งจากท่าเรือไทยไปท่าเรือจีนระหว่างปี 2562 กับ 2564 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นตู้ละ 900 เหรียญ 5.การสวมสิทธิผลไม้ไทยจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยคุณภาพไม่เท่ากับคุณภาพผลไม้ไทย ทำให้มีการสวมสิทธิผลไม้ของเพื่อนบ้านเป็นผลไม้ไทย ได้แก่ “ทุเรียน ลำไย มังคุคและมะพร้าวอ่อน” เพราะความต้องการผลไม้ของจีนในผลไม้ประเภทใดประเภทหนึ่งเพิ่มสูงขึ้น แต่ไทยผลิตไม่พอ หรือพอก็ไม่สามารถหาให้กับผู้นำเข้าในตลาดจีนได้ จำเป็นต้องนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นแบบนี้เพราะโครงสร้างตลาดผลผลิตผลไม้ไทยถูกบริหารจัดการโดย “ล้งต่างชาติ” ที่มีผลผลิตผลไม้อยู่ในมือ ผลผลิตที่สวมสิทธิเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน มีผลกระทบต่อราคาและความน่าเชื่อถือต่อผลผลิตไทยในตลาดจีน
6.ค่าธรรมเนียมและภาษีไม่เท่ากัน ด่านชายแดนทั้งหยวนยี้กวน และด่านบ่อหาน-บ่อเต็น ผลไม้ไทยจะเสียภาษีและค่าธรรมเนียมแต่ละด่านไม่เท่ากัน ทำให้ราคาที่ขายกับผู้บริโภคจีน มีความแตกต่างกัน ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อผลไม้ไทย 7.ผลผลิตผลไม้ไทยที่ผลิตได้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก. ) รายงานว่า ปี 2564 ผลไม้ไทย (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง) จากภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง และตราด) มีผลิตเพิ่มขึ้น 7% หากความต้องการไม่มากพอ จะทำให้ราคาลดลง กรณีทุเรียนปี 2563 ที่ราคายังสูงเพราะผลผลิตลดลงแต่ความต้องการยังสูง
8.คุณภาพผลไม้ไทย จีนกำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพไว้สูง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของสินค้าที่เข้าไปในประเทศ นอกจากมาตรฐานพื้นฐาน GAP และ GMP ต้องปรากฎหน้าจอคอมพิวเตอร์ศุลกากรจีน (GACC) แล้ว กล่องบรรจุภัณฑ์ต้องมีสติกเกอร์ติดเช่น DU คือ ขึ้นทะเบียนส่งออกทุเรียน CN คือ ขึ้นทะเบียนผัก และผลไม้ และ LO คือขึ้นทะเบียนลำไย ขณะเดียวกันผลไม้ไทยต้องแข่งขันกับผลไม้ประเทศคู่แข่งทั้งชนิดเดียวกันและไม่ใช่ชนิดเดียวกัน ปกติผลไม้ไทยก็แข่งขันกับผลไม้ประเภทเดียวกันจากอาเซียน แต่ยังมีผลไม้คู่แข่งจากนอกประเทศอาเซียน เช่น ลำไย มีคู่แข่งคือ “เชอรี่” เพราะออกมาขายสู่ตลาดจีนตรงกับลำไยไทยพอดี (ช่วงตรุษจีน) หากราคาเชอรี่ตก (ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก) ราคาลำไยจะตกตามไปด้วย (ขายราคาสูงไม่มีคนซื้อ หากต้องการขายต้องลดราคา)
9.เศรษฐกิจจีน ปีที่แล้วเศรษฐกิจจีนฟื้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา ทำให้ GDP จีนไม่ติดลบในปี 2563 และอยู่ที่ 2.3% (ประเทศใหญ่ ๆ ติดลบกันหมด) ส่วนปี 2564 GDP จีนคาดว่าโต 8% (IMF) 10.โควิดในจีนและไทย จีนยังมีโควิดสะสมเป็นพันคนและติดโควิดวันละ 30-40 คน ในขณะที่ไทยตัวเลขโควิดเพิ่มขึ้นทุกวัน โควิดทางตอนเหนือของจีนยังหนักได้แก่ เหอเป่ย (Hebei) ปักกิ่ง (Beijing) เหลียวหนิง (Liaoning) จี้หลิน (Jilin) และ ไฮหลงเจียง (Heilongjiang) ขณะนี้รัฐบาลจีนไม่สนับสนุนให้มีการเดินทางช่วงตรุษจีน ซึ่งทั้ง 10 ปัจจัยที่กล่าวมาจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาผลไม้ไทยในตลาดจีนในปีนี้