องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นผู้บริหารองค์กร กสทช.ชุดปัจจุบันที่อยู่ในอำนาจบริหารขณะนี้ ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จำนวน 11 ท่าน โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 และได้ปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี
เมื่อ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครอง และมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสรรหา กสทช. โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 มีการประกาศใช้ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการฯ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 และมีการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ที่กำหนดให้มีจำนวน 7 คน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ และเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ให้ยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.และยังมีคำสั่งที่ 8/2562 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของกรรมการ กสทช. โดยให้ระงับการสรรหา กสทช.ไว้จนกว่าจะมี พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ใช้บังคับหรือจนกว่านายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ กสทช.ที่อายุครบ 70 ปีแล้ว ให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กสทช.ที่ได้รับแต่งตั้งใหม่
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ กสทช.ชุดปัจจุบันต้องอยู่รักษาการดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่ต่อเนื่องยาวนานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เกินกว่าวาระที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เกือบจะครบ 10 ปี ในอีกไม่กี่เดือน และไม่แน่ นอนว่าจะต้องรักษาการไปอีกนานเท่าใด เพราะท่านเหล่านี้ต้องอยู่ทำหน้าที่จน กว่าจะมีกรรมการ กสทช.ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายใหม่ที่แก้ไขเข้ามาทำหน้าที่ กสทช.ชุดเก่าจึงจะพ้นตำแหน่งไป
การก่อกำเนิดและดำรงอยู่ของ กสทช.ชุดปัจจุบัน จึงมีทั้งความโชคดีของผู้เป็นกรรมการที่ได้อยู่ในตำแหน่งเกินกว่าวาระที่ควรจะเป็น ด้วยความอนุเคราะห์อย่างยิ่งจาก คสช. และกฎหมายใหม่ที่แก้ไข แต่ก็เป็นไปบนความไม่สมประกอบและความพิกลพิการของกฎหมาย กับอำนาจรัฐที่จำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างพิสดาร แต่จะมีกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง คอยเกาะเกี่ยวอาศัยกลุ่มผู้มีอำนาจให้เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจตนหรือไม่ เป็นคำถามและข้อสงสัยของสังคมต่อ กสทช.ตลอดมา
ด้วยบทบาทและอำนาจหน้าที่อันสำคัญและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลของ กสทช.ที่กำหนดไว้ในกฎหมายมาตรา 27 รวมถึง 25 ข้อ ซึ่งนอกจากจะดูแลกำกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแล้ว กสทช.ยังต้องบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของชาติอีกด้วย ทั้งหมดล้วนเป็นกิจการจัดสรรทรัพยากรของชาติที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหลายแสนล้าน หรืออาจถึงล้านล้านบาท ซึ่งมีบริษัทธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ ทั้งในและต่างประเทศหลายบริษัท จึงทำให้บทบาทของกรรมการ กสทช. มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นที่จับจ้องหมายตาของกลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่ต้องการมีคนของพวกตนเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการ กสทช.
กระบวนการวิ่งเต้นล๊อบบี้เรื่องนี้ จึงมีตั้งแต่เข้าหาผู้มีอำนาจให้ออกคำสั่งแต่งตั้ง หรือออกคำสั่งใดๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่ตน มีการดำเนินการประสานงานการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการสรรหากรรมการ กสทช.ตั้งแต่ในชั้นร่าง พรบ.ฉบับแก้ไข ไปจนถึงกระบวนการพิจารณาของสภาฯ และกรรมาธิการ เพื่อให้ผลของกฎหมายออกมาและประกาศใช้ตามที่พวกตนต้องการ ซึ่งก็มีปรากฎให้เห็นกันชินตา
และที่สุดในชั้นกรรมการสรรหา กสทช.ก็ยังไม่เว้นที่จะมีขบวนการวิ่งเต้นล๊อบบี้ เพื่อให้พวกและคนของตนได้รับการสรรหาและผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาดังปรากฎเป็นข่าวฉาวโฉ่ในการสรรหา กรรมการ กสทช.ชุดนี้ ที่มีบริษัทเอกชนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องวิ่งเต้น เพื่อยึดอำนาจใน กสทช.
การที่ ครม.มีมติให้มีการสรรหา กสทช.อีกครั้ง และปรากฎผลผู้ได้รับการคัดเลือกตามกรรมการสรรหา ได้เสนอรายชื่อต่อวุฒิสภาจำนวน 14 คน และกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช.เพื่อเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อโหวตคัดเลือกให้เหลือ 7 คนนั้น ยังไม่รู้ว่ากระบวนการดังกล่าว จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของสมาชิกวุฒิสภา
แต่การประชุมเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ของวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ... โดยมีมติเห็นชอบตามร่างที่ผ่านการพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการแก้ไขมาตรา 10 ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ ด้วยคะแนนเสียง 194 ต่อ 3 เสียง อันจะมีผลทำให้เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ได้บัญญัติให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาต้องเริ่มดำเนินการให้มีการสรรหากรรมการ กสทช.ตาม พรบ.ที่แก้ไขฉบับนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ พรบ.ใช้บังคับ ย่อมมีผลทำให้การสรรหา กสทช.สะดุด
ในส่วนนี้ก็ต้องชมเชยวุฒิสภาที่ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ซึ่งแม้วุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบตามที่กรรมการสรรหาเสนอ กรรมการ กสทช.ชุดนี้ก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่งไปได้ไม่กี่เดือน ปัญหาคือวุฒิสภาจะลงมติโหวตรับรองการสรรหาไปเพื่ออะไร ทั้งที่ปรากฎข้อร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อค่อนข้างฉาวโฉ่ และมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาที่ขัดต่อกฎหมาย และหากมีการเสนอชื่อต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำรายชื่อขึ้นโปรดเกล้า ย่อมจะเป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาทอีกด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาที่วุฒิสภา พึงใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้จงหนัก ในการทำหน้าครั้งนี้
เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมของกระบวนทั้งหมดดังกล่าว นับแต่การดำรงอยู่ในตำแหน่งของกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน และกระบวนการแก้ไขกฎหมายและการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่ล้มลุกมาแล้วถึงสองครั้ง ทำให้เห็นวิบากกรรมขององค์กร กสทช. และสะท้อนภาพความพิกลพิการของความไม่สมประกอบ ที่หาความลงตัวที่เหมาะสมขององค์กรสำคัญของชาติไม่ได้สักที จึงไม่แปลกที่กระบวนการสรรหากรรมการ กสทช.จะถูกมองว่าเป็นเกมของกลุ่มผู้มีอำนาจบางกลุ่ม เพื่อการยื้อแย่งช่วงชิงอำนาจกันเอง โดยมีเดิมพันด้วยผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอยู่เบื้องหน้า อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จึงเป็นปัญหาใหญ่ของชาติเรื่องหนึ่ง เป็นการบ้านสำคัญของนายกรัฐมนตรี และรัฐสภา จะต้องช่วยกันล้างภาพสกปรกมิให้แปดเปื้อนต่อองค์กรสำคัญของชาติแห่งนี้ครับ