พืชตระกูลแคนนาบาซี (Cannabaceae) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ “กัญชา (Cannabis หรือ Marijuana, แมเอวานะ หรือ แมรีวานะ หรือออกเสียงเหมือนวงดนตรีของไทย “มาลีฮวนน่า”) และกัญชง (Hemp, เฮมฟ์) โดยกัญชา มี 3 สายพันธุ์คือสายพันธุ์ซาติวา (sativa) ปลูกมากในอเมริกาใต้ เช่น โคลัมเบีย เม๊กซิโก สายพันธุ์อินดิกา (indica) ปลูกมาในอินเดียและตะวันออกกลาง และสายพันธุ์รูเดอราลิส (ruderalis) ปลูกมากในยุโรปและตะวันออกกลาง
สายพันธุ์กัญชาในประเทศไทยคือ สายพันธุ์ซาติวา ทั้งกัญชงและกัญชามีสารสำคัญ 2 ชนิดคือ สารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) หรือเรียกว่า “สารเมา” อยู่ในใบและดอกทำให้เมาและติดง่าย และสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol : CBD) ไม่เมาและไม่ติด
การจะแยกว่าเป็น “กัญชาและกัญชง” นั้นแยกตามสาร THC และ CBD โดย “UN” กำหนดว่าถ้ามีสาร THC น้อยกว่า 0.3 % ต่อน้ำหนักแห้ง จะถือว่าเป็นกัญชง แต่ถ้ามีค่า THC สูงกว่านี้ถือว่าเป็นกัญชา ในแต่ละประเทศมีการกำหนดสารทั้งสองชนิดไม่เท่ากัน เป็นเพราะสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศไม่เหมือนกันทำให้มีผลต่อปริมาณของสารทั้งสองชนิด เหตุผลเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และขึ้นกับพันธุ์ การกำหนด THC ต่ำก็สามารถหาวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น “ไทยกำหนดกัญชงมี THC ไม่เกิน 0.2% จีนและสหรัฐไม่เกิน 0.3% และยุโรปไม่เกิน 0.2%”
สำหรับสาร CBD มีคุณสมบัติลดอาการปวด ลดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ และต้านอาการโรคลมชัก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) สรุปว่าสาร CBD ใช้ได้ในปริมาณมากโดยไม่มีผลข้างเคียง สามารถสกัดได้จากก้าน ใบและดอก แต่ไม่มีในเมล็ด ส่วนสาร THC ช่วยลดอาการปวด ลดภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ช่วยรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร อย่างไรก็ตาม สาร THC นั้นมีทำให้ตาแดง ใจเต้นเร็ว ตอบสนองช้า และทำให้สูญเสียความทรงจำ
เมื่อ “วันที่ 15 ธ.ค. 2563” ประเทศไทยได้ปลดล็อกให้มีนำกัญชาและกัญชงไปใช้ประโยชน์ ยกเว้นเมล็ดและช่อดอก และเมื่อ “วันที่ 29 ม.ค.2564” อนุญาตให้เกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ เพื่อการค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม แต่ต้องขออนุญาตจาก อย. แต่คนที่จะปลูกได้ต้องมีแหล่งปลูกที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีสัญญาซื้อขายที่ระบุชัดเจน ผู้ซื้อเป็นใคร ซื้อไปเพื่อทำอะไร
การปลูกกัญชาใน “ประเทศจีน” เป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะเป็นยาเสพติดยกเว้นเพื่อการแพทย์แผนโบราณ แต่กัญชงมีการอนุญาตเชิงพาณิชย์และไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ในตลาดจีนสามารถซื้อผลิตภัณฑ์กัญชงตาม “ร้านสุขภาพและความงาม” USDA(2019) รายงานว่าในปี 2562 จีนมีพื้นที่ปลูกกัญชง 164,817 เฮกต้าร์ หรือ 416,992 ไร่ (แต่หากประเมินจากที่บริษัทจีนขอสัมปทาน พื้นที่จริงมีมากกว่า 1 ล้านไร่) โดยร้อยละ 75% ใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ (จีนนำมาแทนฝ้ายเพราะฝ้ายในมณฑลซินเจียงถูกแบนจากประเทศยุโรปและสหรัฐฯ จากประเด็นสิทธิมนุษยชน “อุยกูร์” ทั้งข่มขื่นและแรงงานผู้หญิง) เชือก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอางบำรุงผิว อาหาร และน้ำมันซีบีดี
รายงานยังบอกอีกว่าประสิทธิภาพการผลิตของจีนแยกเป็น เส้นใยแห้ง 2 ตันต่อเฮกตาร์ (ไร่ละ 320 กก.) เมล็ดแห้ง 1.5 ตันต่อเฮกต้าร์ (ไร่ละ 240 กก.) ใบและดอกแห้ง 2 ตันต่อเฮกต้าร์ (ไร่ละ 320 กก.) มูลค่าตลาดของกัญชงในจีนอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญ (ปี 2020) ส่วนมูลค่าตลาดของกัญชงใตลาดโลกจีนตามหลังยุโรปและสหรัฐฯ
ผลิตภัณฑ์จากกัญชงที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนขณะนี้คือ น้ำมันสกัด (30 ML ราคา 930 – 7,000 บาท หรือ 1 ลิตรเท่ากับ 233,333 บาท) คริสตัส CBD (1 กก. ราคา 225,000 บาท) CBD ผง ( 600,000 บาทต่อ กก.) ครีม (50 ML 2,325 บาท) ลูกอม (60 เม็ด 3,317 บาท) กาแฟ (300 กรัม 1,581 บาท) ยาสูบ (ไม่มีราคาระบุ) สบู่ (ก้อนละ 300 – 1,000 บาท) รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารคน อาหารสัตว์และชา (Buying CBD in China: What You Need to Know 2021 Updated, dailycbd.com)
หากประเทศไทยต้องการผลักดันธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น ผมคิดว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธุรกิจนี้” ผมมีข้อเสนอแนะ “10 ข้อ” ดังนี้ครับ 1.บริหารต้นทุนการผลิตที่สูงอย่างไร ข้อมูลจากสกลนครในการปลูกกัญชาแบบระบบปิด พื้นที่ 1 ไร่ลงทุน 5 ล้านบาทใน 2 โรงเรือน โดยปลูกโรงเรือนละ 200 ต้น ได้กัญชาสด 200 กก. เหลือเป็นกัญชาแห้ง 40 กก. ปลูกในระบบเปิดก็อาจจะไม่สูงขนาดนี้ แต่มีประเด็นของคุณภาพ ตัวเลขต้นทุนการผลิตเฉลี่ยในการปลูกกัญชงต่างประเทศ ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อไร่ (Hemp CBD Business Plan) ในสหรัฐฯ ไม่เกิน 250,000 บาทต่อไร่
2.สร้างโรดแมป 5 ปีการผลิตและความต้องการ นี้คือสิ่งที่เป็นปัญหาของสมุนไพรไทยอื่นๆ ไม่มีตัวเลขการผลิตและความต้องการของตลาดที่ชัดเจน ปริมาณการผลิตไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับกัญชงเพราะหลายกลุ่มคนต้องการปลูก “แต่ตลาดอยู่ที่ไหน” ปัจจุบันผู้ซื้อคือหน่วยงานของรัฐฯ ขณะนี้มูลค่าอุตสาหกรรมกัญชง “ไทยไม่เกิน 1 พันล้านบาท จีนอยู่ที่หมื่นล้านบาท” ประเทศไทยต้องตั้งเป้าไว้ว่า จะเพิ่มมูลค่าเพิ่มเท่าไร ปีใด
3.บริษัทเอกชนต้องขับเคลื่อนหลัก ปัจจุบันผู้ซื้อหลักเป็นหน่วยงานของรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลหรือสถาบันการศึกษาเพื่อไปทำวิจัย หากต้องการไปสร้างตลาดในต่างประเทศบริษัทเอกชนต้องเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” 4.ผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเปิดเสรีเต็มรูปแบบระวังผลผลิตกัญชงจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เพราะต้นทุนการผลิตต่ำกว่า 5.ตลาดกลางซื้อขายสมุนไพร เหมือนที่ประเทศจีนและอินเดียดำเนินการ จะทำให้ราคาเป็นตามกลไกตลาดและมีตลาดที่ชัดเจน
6.ถอดประสบการณ์จากจีน โดยมีการเปิดเป็นอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2553 ใครจะทำธุรกิจนี้ ต้องมีห้องทดลอง คลังเก็บและนักวิทยาศาสตร์ 7.ระวังนักลงทุนต่างชาติ ที่มีความพร้อมเงินทุน งานวิจัยและเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมตลาด 8.ระวังลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ขณะนี้ผลิตภัณฑ์กัญชง ร้อยละ 50 เป็นของประเทศจีน ตามด้วยยุโรปและสหรัฐฯ
9. ผลผลิตต่อไร่ต้องสูง เฉลี่ยต้องใกล้เคียงกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ เฉลี่ยแห้ง 2 ตัน/ไร่ ยุโรป 3 ตัน/ไร่ และเนเธอร์แลนด์ 2.4 ตัน/ไร่ และ 10.สร้างคลัสเตอร์ SMEs กัญชงเพื่อส่งออก ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกร SMEs สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และหน่วยงานของรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อิชิตัน บุกตลาดเครื่องดื่มกัญชง เม.ย.นี้วางตลาด |
"แม่โจ้"ต่อยอดจับมือเอกชนวิจัย"กัญชง"สายพันธุ์นอก
เล็งเคาะราคาเมล็ดพันธุ์จำหน่าย “กัญชง” เม.ย.
ไฟเขียว“กัญชา”- “กัญชง” ผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร
สธ.เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ศูนย์กลางความร่วมมือด้านกัญชา กัญชง