วันจันทร์ ที่ 29 มีนาคม 2564 จะมีคดีประวัติศาสตร์ในเรื่องของ “พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539” จากกรณี “จงใจกระทำละเมิดให้ราชการเสียหาย” ให้บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งหมดในประเทศได้ติดตามกันด้วยความระทึก
คดีนี้ จะเป็นตัวอย่างในการรับผิดของเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อเกิดความผิดในการทำหน้าที่ขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะมีมาตรฐานในการรับผิดฐานทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร แค่ไหนบ้าง...
คดีตัวอย่างที่จะเป็นบรรทัดฐานให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นคดีชั้นของศาลปกครองกลาง ที่จะออกนั่งพิจารณา ในคดีที่ 1.นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 2.นายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ
3.นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการ สำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ และอดีตผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะทำงานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว 4.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และ 5.นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 คน
1.นายกรัฐมนตรี 2.รมว.พาณิชย์ 3.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ 4.กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ในกรณีขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องทั้งหมด 5 ราย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการทุจริตโครงการรับจำนำและระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
ศาลได้สั่งให้มีการรวมสำนวนคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ราย ไว้เป็นคดีเดียว โดยให้ยึดสำนวนคดีของนายมนัส สร้อยพลอย เป็นคดีหลัก กำหนดนัดพิพากษาคดีกัน ในวันที่ 29 มี.ค. 2564 ในเวลา 10.00 น.
การฟ้องคดีนี้ต่อปกครองกลางเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งที่ 457 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2559 สั่งให้ผู้ฟ้องทั้งหมด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการรับจำนำข้าว
โดยให้ 1.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,770 ล้านบาท 2.นายภูมิ สาระผล ชดใช้2,300 ล้านบาท ส่วนคนที่ 3 -5 คือ 1.นายมนัส สร้อยพลอย 2.นายอัฐฐิติพงศ์ ทีปวัชระ 3.นายทิฆัมพร นาทวรทัต ชดใช้เป็นเงินคนละ 4,011 ล้านบาท รวม 12,033 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีจงใจกระทำละเมิดให้ราชการเสียหาย จากการนำข้าวตามสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐมาเวียนขายให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ
คดีนี้ ในระหว่างศาลพิจารณาคดีผู้ฟ้องทั้ง 5 ราย ได้มีคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยขอให้สั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5
ทำให้ปัจจุบัน ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คนยังถูกจำคุกอยู่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560
คดีนี้ดูในทางการตัดสินใจเผินๆอาจจะล้อไปกับคดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้อง 1.นายกรัฐมนตรี 2.รมว.คลัง 3.รมช.คลัง 4.ปลัดกระทรวงการคลัง รวม 1-4 คนต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งกระทรวงคลัง ที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ และยึดเงินในบัญชีของเธอไปกรณีขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ปล่อยให้เกิดทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้ราชการเสียหายแต่ปรากฏว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 35,000 ล้านบาท จากคดีรับจำนำข้าว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อที่ยกมาต่อสู้ในทางคดีของผู้ฟ้องทั้ง 5 รายที่กระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งที่ 457 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2559 สั่งให้ผู้ฟ้องทั้งหมด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการรับจำนำข้าวรวมกันกว่า 1.61 หมื่นล้านบาท ตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีจงใจกระทำละเมิดให้ราชการเสียหายนั้น มีจุดโหว่ ที่ทางผู้ฟ้องและทนายความเห็นว่า “น่าจะชนะ” และมีข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่อาจทำให้ “ศาลปกครองกลาง” พิจารณาในเรื่อง “การชดใช้ค่าเสียหายของเจ้าหน้าที่” ที่เป็นธรรมตามสาระหลักและเจตนารมณ์ของกฎหมายได้
ทำไมเป็นเช่นนั้น ผมจะพามาดูข้อต่อสู้ทางกฎหมายไทยเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทางผู้ฟ้องที่เป็นผู้เกี่ยวพันกับความเสียหายในการทุจริตในคดีจำนำข้าวยกมาต่อสู้ แต่เดิมนั้นกฎหมายไทยเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้แตกต่างจากการกระทำของประชาชนทั่วไป หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลอื่นหรือแม้แต่แก่หน่วยงานของรัฐเอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดนั้น จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายหรือรัฐ แล้วแต่กรณีจนเต็มจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้น เสมือนหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นได้กระทำในฐานะส่วนตัว หากการละเมิดนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคน ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ้าหน้าที่แต่ละคนร่วมกันกระทำละเมิดขึ้นหรือในกรณีเจ้าหน้าที่แต่ละคนมิได้ร่วมกันกระทำละเมิด
ผู้เกี่ยวข้องทุกคน จะต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายหรือแก่รัฐ แล้วแต่กรณีจนเต็มจำนวนความเสียหาย ถ้าไม่สามารถเรียกให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งหรือหลายคนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ คนที่เหลือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนเต็มจำนวนเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด
แนวทางกฎหมายจะยึดว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ฐานละเมิดนั้น มี 2 ประเภท
ประเภทแรกเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้แก่การกระทำการตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพื่อประโยชน์ของทางราชการ เช่น การอนุมัติ การอนุญาต การเดินทางไปราชการ
ประเภทที่สอง เป็นการกระทำที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่หรือการกระทำที่เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ส่วนตัว
ทว่า ในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้นำข้อความคิดใหม่เกี่ยวกับความรับผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐขึ้นใหม่
มีการแยกการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐออกเป็น 2 ประเภท คือ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก และกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ
กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก ได้แยกความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ออกจากการกระทำละเมิดที่มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยหากเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ย้ำว่า ต้องรับผิดส่วนตัว....
แต่หากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่นั้น กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับภาระชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายไปก่อน....เห็นช่องหรือยังครับ...นี่จึงเป็นข้อต่อสู้ว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย...หน่วยงานรัฐจึงต้องรับภาระชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแทนเจ้าหน้าที่ไปก่อน....
หน่วยงานของรัฐ จะใช้สิทธิไล่เบี้ยให้เจ้าหน้าที่ให้ชดใช้เงินคืนแก่หน่วยงานของรัฐได้เฉพาะกรณีความเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ส่วนว่าหน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิไล่เบี้ยได้มากน้อยเพียงใดนั้น จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี ๆ ไป และไม่จำต้องได้รับชดใช้จนเต็มจำนวนความเสียหาย
ข้อต่อสู้นี่แหละที่ทาง “มนัส สร้อยพลอย-อัครพงศ์ ทีปวัชระ-ทิฆัมพร นาทวรทัต-บุญทรง เตริยาภิรมย์-ภูมิ สาระผล” ยกมาต่อสู้ในคดีทางปกครอง
พวกเขาเห็นช่องโหว่ของข้อกฎหมายว่า หน่วยงานของรัฐต้องกระทำโดยผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ จึงมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว แต่เป็นการกระทำ “แทนหน่วยงานของรัฐ” หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นหน่วยงานของรัฐก็ชอบที่จะต้องรับภาระในความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน
และในทางปฏิบัติแล้ว ในการบริหารงานภาครัฐนั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้และประสบการณ์มาก และต้องใช้การตัดสินใจที่ละเอียดอ่อน ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ รัฐก็ไม่พึงควรเรียกให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่รัฐทั้งหมด
ศาลจะว่าอย่างไร ผมไม่รู้ครับ ผมรู้แต่ว่า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ต่างเฝ้าจับตาด้วยความระทึกในฤทัยอย่างยิ่ง....หึหึ!