ดันเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 รับเที่ยวหยุดยาว

14 มี.ค. 2564 | 03:42 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2564 | 11:12 น.

ดันเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 รับเที่ยวหยุดยาว : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3661 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-17 มี.ค.2564

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 10-15 เมษายน 2564 เป็นวันหยุดยาว เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ประชาชนได้เดินทางออกต่างจังหวัด กลับภูมิลำเนา ทำบุญตักบารตร รดน้ำดำหัวขอพรบุพการี ในขณะที่การจัดกิจกรรมต่างๆ หรือการสาดน้ำ มาตรการคลายล็อก ทางศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศปก.ศบค.จะนำข้อสรุปในวันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 พิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อเตรียมการเข้าที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันหยุดยาวดังกล่าวนี้ การที่รัฐบาลหวังให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจจะดูเหมือนมีความขัดแย้งในเชิงปฏิบัติ ที่คณะรัฐมนตรีได้ออกมาเบรก โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะ 3(ครม.) ที่จะเพิ่มสิทธิห้องพักให้อีก 2 ล้านสิทธิ และขยายเวลาดำเนินโครงการจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอมา หลังจากห้องพัก 6 ล้านสิทธิเต็มไปแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ครม.อ้างถึงปัญหาการทุจริตในโครงการที่เกิดขึ้น  และได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปจัดทำรายละเอียดให้รอบคอบ และนำกลับมาเสนอใหม่ เพราะที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อโครงการกว่า 2 พันล้านบาท

 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันว่า จะนำรายละเอียดโครงการเสนอ เข้าครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยมอบหมายให้ททท.ไปดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ และคาดว่าโคงการ

เราเที่ยวด้วยกัน ระยะ 3 จะสามารถผลักดันออกมาได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ เพราะยังมีประชาชนอีกราว 7-8 ล้านคนใช้สิทธิไม่ครบ ที่จะมาลงทะเบียนรับวันหยุดยาวดังกล่าวได้ทัน

 แต่ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการซื้อขายสิทธิ และนำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้าและร้านอาหาร โดยไม่มีการแสดงตัวตนของผู้ที่ใช้สิทธิจริงนั้น ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข

“เราเที่ยวด้วยกัน ใหม่ ขณะนี้ททท. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับธนาคารกรุงไทย ในการเพิ่มข้อปฏิบัติให้รัดกุมมากขึ้น ซึ่งการใช้สิทธิ จะต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้แน่ชัดว่าผู้ที่ใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน เป็นเจ้าของสิทธิจริง เพื่อป้องกันทุจริตซ้ำรอยเดิม

 รวมถึงอาจจะต้องกำหนดให้ต้องจองโรงแรมล่วงหน้า 14 วัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการจองห้องพักล่วงหน้าได้จริงในแต่ละโรงแรม หรืออาจต้องมีกลไกควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณ เช่น การเรียกสอบเอกสารการใช้สิทธิเช็กอินก่อนโอนเงินให้กับโรงแรม

 หากผลักดันโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะ 3 ออกมาได้ ก็หวังว่าวันหยุดยาวที่จะมาถึงนี้ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศได้ระดับหนึ่ง และมีส่วนที่จะทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายที่ททท.คาดว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศปีนี้อยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.7 แสนล้านบาท ได้