ศูนย์ภารตะศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมอินเดีย ม.มหิดล เชิญผมบรรยายงานสัมมนาออนไลน์เรื่อง “ชวนธุรกิจไทยไปตลาดอินเดีย” ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 ร่วมกับท่านฑูตอินเดียประจำประเทศไทย (Mrs. Suchitra Durai) นายธราดล ทองเรือง อดีตฑูตพาณิชย์ไทยในอินเดีย และว่าที่ร้อยตรีเจตน์ มาหามะ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด เพื่อแชร์ประสบการณ์ศักยภาพของตลาดอินเดียสำหรับธุรกิจไทยและคนสนใจ
ในมุมมองของผมตลาดอินเดียมีขนาดใหญ่มาก (วัดจากประชากร) ใกล้เคียงกับตลาดจีน อินเดียมีประชากร 1,380,004,385 คน (2020) ในขณะที่ประเทศจีนมี 1,439,323,776 คน จีนมีประชากรมากกว่าอินเดีย 59 ล้านคน ที่สำคัญอินเดียมีแนวโน้มของกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนเริ่มมีสัดส่วนลดลง (อายุ 14-64 ปี) แต่จีนมีคนสูงวัยมากขึ้น
“รายได้คนจีนสูงกว่าอินเดีย 5 เท่า” (ปี 2019 คนจีนมีรายได้เดือนละ 28,000 บาท แต่คนอินเดียมีรายได้ 4,800 บาทต่อเดือน) ค่าจ้างขั้นต่ำจีน 7 พันบาทต่อเดือน ขณะที่อินเดียค่าจ้างขั้นต่ำ 2 พันบาทต่อเดือน “ต้นทุนค่าจ้างอินเดียต่ำกว่า 4 เท่า” และยังต่ำกว่า สปป.ลาว และเวียดนาม (ILO. 2019) อีกด้วย
ในปี 2021 ทุกสำนักเศรษฐกิจโลกคาดการณ์ว่า GDP อินเดียจะขยายตัวสูงสุดในโลก เช่น IMF ประเมินว่าอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวสูงที่ 11% (ปีที่แล้ว -8.8%) ทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอินเดียฟื้นตัวเป็นรูป “V Shape” ชัดเจน ส่วนจีนจะขยายตัวเพียง 8% เท่านั้น เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอินเดียที่เน้นการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล และปี 2021 ก็ขาดดุลสูงในรอบ ๆ หลายปีคือ 6.8% ต่อ GDP (ตลอด 35 ปี โดยเฉลี่ยขาดดุลการคลัง 7.7% ตามการวิเคราะห์ของ Shankar Acharya, India's fiscal deficits: A short history, March 17, 2017) โดยใส่เงินเข้าไปที่กิจกรรมเศรษฐกิจที่ไม่เข้มแข็งได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาชนบทและภาคเกษตร การใช้นโยบายการคลังขาดดุลของอินเดียที่ผ่านมามีสัดส่วนต่อ GDP สูงกว่าประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market)
หันมาดูตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับอินเดียบ้าง ประเทศไทยได้ดุลการค้าอินเดียมาโดยตลอด แต่ช่วง 3 ปีหลังไทยได้ดุลการค้าลดลงจาก 8 หมื่นล้านบาท (ปี 2561) หายไปครึ่งหนึ่งเหลือ 35,000 ล้านบาท (ปี 2563) สาเหตุมาจากสินค้าประเทศอื่นๆ เข้าไปแข่งขันกับสินค้าไทยมากขึ้น ร่วมทั้งอินเดียมีนโยบายทดแทนการนำเข้า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินเดียหันมาใช้นโยบายทดแทนการนำเข้าตามแบบจีนและไต้หวันมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยระยะแรกมีนโยบายทดแทนการนำเข้าแล้วต่อมาเน้นการส่งออก
“สินค้าส่งออกไทยไปอินเดียร้อยละ 99 เป็นสินค้าอุตสาหกรรม” มีการส่งออกสินค้าเกษตรน้อยมากๆ (อินเดียเป็นประเทศเกษตรกรรม รัฐบาลปกป้องภาคเกษตรหนักมาก เกษตรกรก็รวมตัวเข้มแข็ง เห็นจากการประท้วงกฎหมายปฎิรูปภาคเกษตรอยู่ขณะนี้) สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์พลาสติก ชิ้นส่วนรถยนต์และรถไฟ ยางและผลิตภัณฑ์ (เริ่มลดลง) เหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่จากอินเดียเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยยาและผลิตภัณฑ์ (อินเดียเก่งเรื่องยาและสมุนไพร) กาแฟ ชา และน้ำตาล ไทยมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น
สำหรับโอกาสของธุรกิจไทยมี 3 ส่วนคือ 1.ด้านการค้าที่อินเดียมีความต้องการผลไม้และแปรรูปอย่างมาก แต่ต้องเป็นผลไม้ที่อินเดียไม่มี หรือถ้ามีต้องเป็น “คุณภาพพรีเมี่ยม” 2.ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อินเดียมีวัตถุดิบการเกษตรเยอะมาก แต่ไม่เก่งเรื่องการแปรรูป 3.เติมเต็มสิ่งที่อินเดียขาด ตามที่ Dr. Mahammed Wasim Siddiqui จาก “Bihar Agriculture University” เขียนหนังสือเรื่อง “Posthavest Quality Assurance of Fruits” บอกว่าตลาดสินค้าเกษตรมีจุดอ่อน 6 ประเด็นคือ 1.ไม่มีการคัดเลือกตัดเกรด และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะเห็นว่ามีการบรรจุกล่องถูกบรรจุมาจากในสวนของเกษตรกรมาแล้ว
2.ห้องเย็นมีไม่พอ หากปริมาณของผักและผลไม้ที่เยอะมาก แต่มีห้องเย็นเพียง 6 แห่ง (ส่วนใหญ่อยู่นอกตลาด) ทำให้เปอร์เซ็นต์การสูญเสียผักและผลไม้ต่อวันค่อนข้างสูงมาก (10-20% ของปริมาณซื้อขาย) 3.ขาดแรงจูงใจให้ทำสินค้าคุณภาพ สินค้าส่วนใหญ่จะไม่มีการแบ่งเกรดคุณภาพ 4. ถูกควบคุมและผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐฯ (Agricultural Produce Market Committee : APMC) 5.การประมูลราคาไม่มีความโปร่งใส่ เพราะราคาที่เกษตรได้รับทราบจากผู้ซึ่งไม่ได้เป็นราคาจริงจากการประมูล 6.ไม่มีความสะอาด ทั้งกองขยะเน่าเสีย วัว และการวางขายบนพื้น แม้ว่าตลาดอินเดียจะมีโอกาสมากแต่อุปสรรคก็เยอะเช่นกัน
ผมขอยกตัวอย่างกรณีผลไม้และแปรรูปของไทย คือ 1.ต้นทุนในการขนส่งสูง เส้นทางในการขนส่งผลไม้ไทยเข้าไปในอินเดียหากเป็นมังคุดจะโดยทางเครื่องบิน และหากเป็นมะขามหวานนำเข้าจากท่าเรือมุมไบ (ใช้เวลา 15 วันจากท่าเรือแหลมฉบัง) และใช้เวลาอีก 2 วันในการขนส่งสินค้าไปที่นิวเดลลี 2.อินเดียเปิดตลาดผลไม้น้อย ผลไม้ไทยที่อยู่ภายใต้กรอบ FTA ไทยอินเดียที่ภาษีเป็นศูนย์ คือ เงาะ มังคุด ลำไย ทุเรียน องุ่น แอปเปิล และทับทิม 3.ต่อรองราคาหนัก ผู้นำเข้าอินเดียต้องการราคาต่ำแต่คุณภาพสูง 4.คนอินเดียต้องการสินค้าที่มีส่วนผสมของ “น้ำตาลน้อย” ซึ่งระดับความหวานของไทยกับอินเดียแตกต่างกัน
5.ให้ข้อมูลและรู้จัก “ผลไม้ไทย” กับผู้นำเข้าและห้างสรรพสินค้าของอินเดียให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างกรณี “ทุเรียนไทย” ที่คนอินเดียไม่รู้ กรณี กีวี ต้องใช้เวลา 10 ปี 6. ใช้เที่ยวบิน “Low Cost” ในการขนส่งผลไม้ไทย เพื่อลดต้นทุน รักษาความสดใหม่ของผลไม้ถึงมือผู้บริโภคอินเดียได้อย่างรวดเร็วและประหยัดเวลาในการขนส่ง 7.ช่องทางจำหน่ายน้อย ส่วนใหญ่ขายในห้างสรรพสินค้า ไทยต้องทำความร่วมมือภาคเอกชนในตลาดสดขายส่งอินเดียเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับผลไม้และสินค้าไทย เช่นในตลาดขายส่ง “Azadpur” ในกรุงนิวเดลลี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“จุรินทร์”กาง16มาตรการเร่งด่วน รับมือผลไม้ล้นตลาดปีนี้
เตือนผู้ส่งออกอย่าฉวยโอกาส แอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทย
“พาณิชย์”ห่วงผลไม้ล้นตลาด จับมือพันธมิตรขยายด้วยFTA
“พาณิชย์”เร่งหาตลาดผลไม้ล่วงหน้า ตั้งเป้าขาย 1,840 ล้าน
หอค้าไทยจับมือ3เครือข่าย “ซีพี” ช่วยซื้อ-กระจายผลไม้ 2.4 ล้านตัน