ควันหลงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในช่วงวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่มีประเด็นไหนคุกรุ่นและลากยาวให้ผู้คนในประเทศสารขันธ์ได้ถกแถลงกันยาวเทียบเท่าประเด็น “การบุกรุกที่ดินเขากระโดง” ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายและตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 คน
คนแรก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้กำกับนโยบาย และเกี่ยวกันกับคนครอบครัวชิดชอบที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พิพาทกับการรถไฟฯ
คนที่สอง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบกำกับดูแลกรมที่ดิน ที่ทำหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ศาลตัดสินว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
ทั้งสองคนเกี่ยวพันกับเรื่องนี้อย่างไร...และทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ..นะหรือครับ สุจริตชนในประเทศสาระขันธ์ โปรดพิจารณา...
พ.ต.อ.ทวี อภิปรายว่า นายศักดิ์สยาม ได้กระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายร่วมกันถือครองบุกรุก และพักอาศัยในพื้นที่สมบัติของแผ่นดิน หรือที่สงวนหวงห้ามที่มีไว้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยรวม ที่รถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
คำอภิปรายระบุว่า ปัญหาที่ดินเขากระโดงที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท และเกิดข้อพิพาทมายาวนาน ระหว่างเจ้าของพื้นที่คือ การรถไฟฯ กับชาวบ้านที่เข้าไปอยู่อาศัย ส่งผลให้ การรถไฟฯ ฟ้องร้องต่อศาลให้ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่และศาลก็ได้วินิจฉัยตามที่ฟ้องร้อง และเพิกถอนสิทธิ์การถือครองที่ดิน เนื่องจากเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ สงวนไว้เป็นที่รถไฟเท่านั้น
พ.ต.อ.ทวี ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วเหตุใด ตระกูลชิดชอบ ที่เกี่ยวพันกับรัฐมนตรีคมนาคม และญาติพี่น้อง จึงสามารถพักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้ รวมทั้ง สนามช้างอารีน่า ของทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตั้งอยู่ในที่ดินพิพาท ในขณะที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องและต้องอพยพออกจากพื้นที่
สนามช้าง อารีนา มีที่กว่า 150 ไร่ คนในตระกูลชิดชอบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท สนามแข่งรถบุรีรัมย์ อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ก็ตั้งอยู่ข้างกันด้วย โดยสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต มีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ใช้งบก่อสร้างกว่า 2 พันล้านบาท
คำอภิปราย ระบุว่าพฤติการณ์ของนายศักดิ์สยาม และครอบครัว เข้าข่ายกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันถือครองบุกรุกสมบัติของแผ่นดิน หรือที่สงวนหวงห้ามที่มีไว้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยรวม
เนื่องจาก มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยที่ดินทั้งแปลง ระบุว่า หลังปี 2560 สถานะของที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่สงวนหวงห้ามไว้เป็นที่รถไฟ ใครที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่นี้จะต้องมีการขับไล่ และเพิกถอนสิทธิ์ ไม่สามารถมีใครมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินส่วนนี้ได้ แต่บ้านพักของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อยู่ในพื้นที่แห่งนี้
“รัฐมนตรีคมนาคมจึง เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และเป็นเรื่องสำคัญ คือทุกคนต้องถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม แต่หลังจากศาลฎีกาตัดสินแล้ว การรถไฟฯ ได้ไปฟ้องให้เพิกถอนโฉนดชาวบ้าน ซึ่งศาลก็สั่งให้เพิกถอน ดังนั้น รัฐมนตรีคมนาคม และหน่วยงานของรั ฐจึงต้องดูแลให้มีการปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควรฟ้องทุกคน ไม่ใช่ฟ้องเฉพาะคนใดคนหนึ่ง และเมื่อได้ข้อยุติแล้ว จะต้องทำให้ถูกต้องตามคำพิพากษา และทำอย่างไรที่จะเอาที่ดินสงวนหวงห้าม ที่เป็นที่ดินสาธารณะสมบัติกลับคืนมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของการรถไฟฯ และรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ต้องเอาที่ดินคืนให้การรถไฟฯ แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ นี่คือการกระทำที่ผิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมนักการเมืองหรือไม่....”นี่คือคำทิ้งท้าย
ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ภาพรวมที่ดินการรถไฟแห่งประเทศทั่วประเทศกว่า 2.4 แสนไร่ มีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดิน 2 ช่องทาง คือ จากการเวนคืน และได้มาโดยเหตุอื่นๆ ผมไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งกรณีที่ดินเขากระโดง การรถไฟฯได้สำรวจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เมื่อปี 2550 พบว่า มีผู้ถือครองเอกสารสิทธ์ ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (สค.1) มากกว่า 35 ราย เอกสาร นส.3 ประมาณ 500 ราย เอกสารครอบครองที่ดินเป็นโฉนด และหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันที่ดินแยกเขากระโดงมีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์หลายราย ซึ่งการรถไฟดำเนินการอยู่
“ที่ดินดังกล่าวที่อ้างถึงเป็นที่ดินที่มีโฉนดเลขที่ 3466 มีการซื้อขายกันมาจนออกเป็นโฉนด มีการชี้แนวเขตโดยวิศวกรการรถไฟ และมีประชาชนอยู่ในที่ดินบริเวณดังกล่าวมานานขนาดที่ว่า เราเกิดกันไม่ทัน ผมในฐานะรมว.คมนาคม ดำเนินการและสั่งการให้ยึดหลักธรรมภิบาล คุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขอยืนยันว่า ไม่เคยแทรกแซง สั่งการใดๆในที่ดินดังกล่าว ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่า คนใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิด ต้องยึดหลักภายใต้หลักกฎหมาย....”นายศักดิ์สยามชี้แจง
สำหรับคำอภิปราย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะดูแลกรมที่ดินนั้น พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า เมื่อศาลฎีกามีคำตัดสินสิ้นสุดแล้ว ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าวภายใน 60-90 วัน แต่ท่านกลับปล่อยเรื่องนี้มาตลอด หรือท่านนำเรื่องนี้เป็นข้อสมประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำความจริงให้ปรากฎ
พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า คดีพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ของการรถไฟ ในจังหวัดบุรีรัมย์ เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 โดยกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาได้ตรวจสอบ การครอบครองที่ดินของครอบครัวชิดชอบ พบรายละเอียดว่าการรถไฟฯไม่สามารถชี้แจงเขตได้
“...ส่วนกรณีที่มีคดีว่าประชาชนที่ต้องการขอออกเอกสารสิทธิ์ ตามที่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย จะลงพื้นที่สำรวจ ได้ยื่นฟ้องต่อศาล ฟ้องการรถไฟกรณีคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่าที่ดินเป็นของการรถไฟยั้น กรมที่ดินสามารถดำเนินการได้ เฉพาะที่กฎหมายกำหนด แต่ศาลไม่ได้สั่งให้กรมที่ดินไปเพิกถอน หากศาลมีคำพิพากษาแล้วผมละเว้น ไม่ใช่แค่ไม่ไว้วางใจ แต่ต้องไปอยู่ในคุก และหลังจากที่ศาลฏีกาพิพากษาแล้ว ปัจจุบันไม่พบว่าการรถไฟฯ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลใด ดังนั้นที่อ้างว่าศาลพิพากษา และบอกว่าให้กรมที่ดินไปเพิกถอน เป็นคนละเรื่อง เพราะกรมที่ดินไม่รู้ว่าที่ดินหมายเลขใด โฉนดใดที่ต้องเพิกถอน ทั้งนี้ หากศาลสั่งแล้วไม่ทำ จะอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน หากศาลไม่สั่ง แล้วไปเพิกถอน ก็อยู่ไม่ได้” พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจง
ผมยกคำอภิปรายรัฐมนตรีคมนาคม มาขยายให้ทุกท่านได้เห็นภาพของการต้อสู้ในคดีพิพาทในเรื่องที่ดินการรถไฟที่พัวพันแบบยุ่งอีรุงตุงนัง เพราะ อะไร เพราะ พ.ต.อ.ทวี ผู้เป็นนักการเมืองไม่ได้อภิปรายในเวทีรัฐสภาแล้วทิ้งข้อกล่าวหาไว้ให้สังคมได้ขบคิดเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ แต่ พ.ต.อ.ทวี ได้ทำมากกว่านั้นคือ ทำหนังสือร้องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการไต่สวนและดำเนินคดีกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564
และเรื่องนี้ทำไมสำคัญ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรถือเป็นกลไกการบริหารภาครัฐที่สำคัญ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 53 บัญญัติว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” และเมื่อกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐแล้ว หากมีการปล่อยปละละเลย ประชาชนอาจฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 51 ด้วย ดังนั้น การยื่น ป.ป.ช.จึงเป็นหน้าที่ของนักการเมืองด้วย
นอกจากนี้ เรื่องนี้ที่ดินการรถไฟเขากระโดง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ฎีกาที่ 842-876/2560 คดีระหว่างราษฎรจำนวน 35 รายเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำเลยที่ 1 และ กรมที่ดิน เป็นจำเลยที่ 2
ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทในพื้นที่ “เขากระโดง”ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ศาลฎีกามีคำพิพากษา ที่ 8027/2561 คดีซึ่ง นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องการรถไฟเป็นจำเลย เพื่อรังวัดขอออกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาจาก นายชัย ชิดชอบ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ข เลขที่ 200 อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 24 ไร่ 4 ตารางวา ซึ่งการรถไฟ ทำหนังสือคัดค้านและต่อสู้คดีอ้างว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดเป็นที่ดินของการรถไฟทั้งแปลง ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเป็นที่ดินของการรถไฟเช่นเดียวกับ
ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 หลังจากคำตัดสินคดีนี้ในชั้นศาลฎีกา 8 เดือน มีหน้าที่กำกับดูแลการรถไฟฯ แต่กลับไม่ได้มีการปฏิบัติสั่งการให้ผู้ว่าการรถไฟฯ ดำเนินการฟ้อง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง บังคับคดีขับไล่ผู้บุกรุกครอบครองที่ดินอันเป็นที่สงวนหวงห้ามแต่อย่างใด
การร้องต่อป.ป.ช.ให้ไต่สวนคดีนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี เพราะรัฐมนตรี “ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองและผู้อื่น”....คอยติดตามกัน